26 ม.ค. 2552
ช่องเขาขาด อนุสรณ์แห่งความทรงจำ
นับจากสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2482 เป็นเวลาเกือบ 70 ปีแล้ว ที่ความสูญเสียยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในสถานที่ต่างๆ ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงวีรกรรมของบรรพชน รวมไปถึงช่องเขาขาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะอันโด่งดังแห่งจังหวัดกาญจนบุรี
ทางรถไฟสายมรณะ เริ่มสร้างขึ้นในราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 โดยกองทัพญี่ปุ่นต้องการใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธและกำลังพลจากเมืองไทยไปยังพม่าและอินเดีย จึงได้เกณฑ์เชลยศึกทั้งชาวเอเชียและชาวตะวันตกกว่า 300,000 คน
เนื่องจากกองกำลังญี่ปุ่นต้องรีบเร่งสร้างทางรถไฟ ทำให้เชลยศึกต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนในบริเวณที่ทำการตัดช่องเขาขาดนั้น มีแสงแวบๆ จากกองไฟส่องกระทบร่างที่ผอมโซของคนงาน จึงเป็นที่มาของชื่อ "ช่องไฟนรก" หรือ "ช่องเขาขาด" นอกจากนี้ระหว่างสร้างทางรถไฟยังมีเชลยศึกบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ทั้งจากการทำงานอย่างหนัก ทั้งจากการถูกทารุณ ทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บ การขาดแคลนอาหาร
แต่ท้ายที่สุดทางรถไฟก็สร้างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 มีระยะทาง 451 กิโลเมตร จากสถานีหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง ประเทศไทย ไปยังเมืองตันบูซายัต ประเทศพม่า
ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง กองกำลังญี่ปุ่น(ฝ่ายอักษะ)พ่ายแพ้ เชลยศึกที่ยังมีชีวิตรอด ได้ถูกส่งกลับไปยังประเทศของตน โรคภัยและบาดแผลที่ได้รับแม้จะยังหลงเหลืออยู่ แต่ก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และมีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์เลวร้ายที่ได้พบ เชลยศึกแทบทุกคนก็ยังคงมีบาดแผลในใจไปตลอดชีวิต
สำหรับบริเวณช่องเขาขาด ที่เป็นเส้นทางแคบๆ ตัดผ่านเนินเขา ปัจจุบันได้ถูกบูรณะ ปรับปรุงให้เป็น"พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด" เพื่อเป็นดังอนุสรณ์แห่งความทรงจำ และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โดยความคิดริเริ่มของ เจ จี ทอม มอร์ริส อดีตเชลยศึกชาวออสเตรเลีย ซึ่งเคยทำหน้าที่ในการสร้างทางรถไฟสายมรณะแห่งนี้
ภายในพิพิธภัณฑสถาน มีการจัดแสดงมินิเธียเตอร์และรวบรวมข้อมูลภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ระหว่างการสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
จากตัวพิพิธภัณฑ์มีบันไดเพื่อลงไปสู่เส้นทางเดินชมสถานที่จริงของช่องเขาขาด ซึ่งมีทั้งหมด 15 จุด แต่ละจุดจะมีเสียงประกอบการบรรยาย และแผ่นป้ายต่างๆ ให้ความรู้ โดยสามารถติดต่อขอรับเครื่องโสตได้ที่เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์
สำหรับเส้นทางเดินชมช่องเขาขาดนั้นเป็นเส้นทางโรยกรวดหิน มีแท่นเหล็กรางรถไฟบนแก่นหมอนไม้ที่หลงเหลืออยู่เป็นบางส่วน หมุดตอก ก้อนหิน รถเข็นเศษหิน ทำให้ผู้ที่เข้าชมร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ในสมัยนั้น รวมไปถึงเลือดเนื้อของเชลยศึกที่สูญเสียไป ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งช่องเขาขาด นับเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามได้เป็นอย่างดีอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ
แสดงความคิดเห็น