13 พ.ย. 2550

อยากให้อ่าน : บทความดีๆ 'ช่วยให้ผีเสื้อบิน'

*เรื่อง : เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย*

ผมเพิ่งเปิดตัวหนังสือใหม่ 2 เล่ม พร้อมๆ กัน ชื่อ เล่าเรื่องอย่างผู้นำ Coaching by Story ทั้ง 2 เล่มเป็นการเลือกเรื่องสั้น 61 เรื่องที่เคยลงพิมพ์ในคอลัมน์นี้ตั้งแต่เริ่ม โดยมี 4 หมวด คือ Positive Attitude, Management, Leadership and Coaching หนังสือนี้มีเพื่อช่วยให้ผู้บริหารที่ต้องการโค้ชคนของเขามีคู่มือประจำตัวที่ม­ีเรื่องสั้นๆ ฟังง่ายๆ และกินใจ ผมจะลงตัวอย่าง 4 ตอนในคอลัมน์นี้ โดยวันนี้จะเริ่มตัวอย่างของ Positive Attitude ก่อน

หากท่านสนใจจะอ่านครบทั้งหมดก็เชิญอุดหนุนได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ
ในระหว่างทานข้าวกลางวัน วนิดา ซึ่งเป็นซีอีโอ ถาม กิตติ ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งที่รายงานตรงต่อเธอว่า "กิตติ พี่สังเกตว่าคุณไม่เคยปิดมือถือเลย แม้กระทั่งเวลาประชุม แล้วพี่ก็เห็นคุณขอตัวออกไปจากที่ประชุมกลางคันเพื่อรับโทรศัพท์ พี่อยากรู้ว่าเป็นโทรศัพท์ของใครหรือ ทำไมมันสำคัญขนาดรอจนจบประชุมไม่ได้นะ พี่เห็นเป็นประจำเลยค่ะ"

กิตติมีท่าทีอึดอัด เขาตอบว่า "ไม่มีอะไรหรอกครับ เรื่องส่วนตัวนะครับ ผมขอโทษ"
วนิดายิ้มแบบผู้ใหญ่ใจดี เธอเงียบไปสักครู่จึงพูดต่อ "กิตติ เราสองคนทำงานด้วยกันมาพอสมควร คิดว่าพี่เป็นพี่สาวของคุณก็แล้วกัน เพราะพี่อายุมากกว่าคุณ 2-3 ปี มีอะไรก็เล่าสู่กันฟังซิคะ เผื่อว่าพี่อาจจะแนะนำอะไรให้ได้บ้าง" วนิดาเลือกใช้แนวทางพี่น้อง แทนที่เธอจะตำหนิเขาโดยตรงในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่ประชุม แบบเจ้านายกับลูกน้อง

วิธีนี้ได้ผล กิตติสารภาพออกมาแบบกระอักกระอ่วน "ก็...คือว่า...พี่อย่าโกรธผมนะครับ มันเป็นโทรศัพท์มาจากลูกสาวผมเอง เธอเพิ่งไปเรียนไฮสกูลที่ออสเตรเลียเมื่อไม่กี่เดือน โรงเรียนที่ลูกสาวผมเรียนนี้ค่อนข้างจะเข้มงวด แถมมีการบ้านจมเลย ตอนลูกสาวผมเรียนที่นี่ผมช่วยติวและทำการบ้านร่วมกับเธอบ่อยๆ เพราะเธอเป็นลูกคนเดียว เธอคือดวงใจของผมเลยครับ

ผมบอกเธอว่าไปอยู่นั่นติดขัดเรื่องการบ้านละก็ โทร.มาหาผมได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด ผมจะคอยช่วยเหลือเธอ ผมไม่ต้องการเห็นเธอล้มเหลว ตอนค่ำเมื่อกลับบ้าน ผมก็แทบจะไม่ได้พักผ่อน แต่จะไปช่วยเธอทำการบ้าน แล้วก็แฟกซ์ส่งไป เรื่องคณิตศาสตร์บ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง ผมอยากให้เธอประสบความสำเร็จ
ผมต้องขอโทษที่บริหารเวลาไม่ค่อยได้เรื่อง" กิตติจบเรื่องลงด้วยท่าทีละอายใจ

วนิดาแสดงความเห็นใจ "เรื่องของคุณมันฟังแล้วคุ้นๆ มากเลย พี่พอจะจินตนาการออกถึงความลำบากใจของเธอ พี่เองก็มีลูกสาวเรียนปริญญาโทอยู่ที่อเมริกา พี่เคยทำแบบคุณเหมือนกัน เพราะลูกสาวพี่จบตรีแล้วไปต่อโทเลย จึงไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้น พอทำกรณีศึกษาก็มักจะไม่ทันเพื่อนเขา หรือไม่เข้าใจ แถมยังไม่กล้าถามอาจารย์อีก พี่เลยต้องช่วยทำเคส แล้วก็อีเมลไปให้เธอ
แต่ว่าตอนนี้ พี่หยุดช่วยเธอแบบนั้นแล้วล่ะคะ"

กิตติถามด้วยความประหลาดใจ "ทำไมละครับ พี่ไม่รักเธอแล้วหรือ หรือว่าพี่เห็นว่างานมีความสำคัญกว่าครอบครัวละครับ"
วนิดาตอบ พร้อมกับยิ้มอย่างอารมณ์ดีว่า "พี่ยังรักลูก และเห็นคุณค่าของครอบครัวและงานเหมือนเดิม พี่โชคดีที่มีเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง เขาสังเกตเห็นวิธีที่พี่ช่วยลูกสาว แล้ววันหนึ่งเขาก็ให้หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ The Power of Failure โดย Charles C. Manz และมีการแปลเป็นไทยในชื่อ วิกฤติคือโอกาส โดย พสุมดี กุลมา เรียบเรียงโดย นราทิป นัยนา เพื่อนอเมริกัน เขาคั่นเรื่องๆ หนึ่งให้พี่อ่านโดยเฉพาะเลย พี่จะเล่าให้เธอฟัง
เรื่องมีอยู่ว่า มีชายคนหนึ่งนั่งมองผีเสื้อที่กำลังดิ้นรนจะออกจากรังไหม เจ้าผีเสื้อดิ้นรนไปซักพักจนกระทั่งใยรังไหมเริ่มขาดเป็นรูเล็กๆ ชายคนนั้นมองด้วยความสนใจ เจ้าผีเสื้อดูเหมือนจะหยุดไป ที่จริงผีเสื้อมันพักเพื่อที่จะดิ้นรนต่อไป แต่ว่าชายคนนั้นคิดไปเองว่าผีเสื้อคงติดใยรังไหม ไม่สามารถจะออกมาได้ด้วยตนเอง ด้วยความหวังดี เขาจึงนำกรรไกรขนาดเล็กมาตัดใยรังไหมนั้น ทำให้รูมันขยายใหญ่ขึ้น

เจ้าผีเสื้อเห็นรูขยายใหญ่ขึ้นมันก็คลานต้วมเตี้ยมออกมา แต่เขาสังเกตว่าตัวมันมีขนาดเล็กกว่าปกติ ปีกเหี่ยวย่น แถมลำตัวของเจ้าผีเสื้อก็มีลักษณะบวมผิดปกติ
กลายเป็นว่าในขณะที่ผีเสื้อต้องดิ้นรนออกแรงตะเกียกตะกาย เพื่อพยายามจะดันตัวมันออกมาจากรังไหมนั้น เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ ที่จะกระตุ้นให้ของเหลวชนิดหนึ่งที่อยู่ในลำตัวผีเสื้อเคลื่อนที่มาสู่ปีก เพื่อทำให้ปีกแข็งแรงเพียงพอที่จะบินได้ ด้วยความปรารถนาดีของชายผู้นั้น ผีเสื้อตัวดังกล่าวปีกจึงเหี่ยวย่น ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะบินได้ แถมยังมีรูปร่างพิกลพิการ เพราะของเหลวที่ควรจะอยู่ที่ปีกดันไปติดคั่งค้างอยู่ที่ลำตัว เจ้าผีเสื้อตัวนี้ออกจากใยมาได้ด้วยความสบาย แต่ต้องพิกลพิการ และบินไม่ได้ไปชั่วชีวิตของมัน

*อุปสรรคและความล้มเหลวในชีวิตของคนก็คล้ายๆ กันกับสิ่งที่เจ้าผีเสื้อตัวนี้เผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ ความก้าวหน้าในชีวิต การพัฒนาทักษะ ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น ล้วนแล้วแต่น่าสงสารและน่าเห็นใจ แต่จะได้คุณค่ามาก็ด้วยการล้มเหลวอย่างถูกวิธี เราจะคาดหวังว่าคนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิต โดยไม่มีความล้มเหลวนั้นเป็นไปไม่ได้ เมื่อเราเผชิญอุปสรรค แล้วเราหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไขหรือต่อสู้กับมัน เท่ากับว่าเรากำลังเสียโอกาสสำคัญในการเรียนรู้บทเรียนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อคว­ามสำเร็จในชีวิตของคน *

กิตติฟังด้วยความสนใจ "โอ้โฮ เรื่องนี้จุดประกายน่าดูครับ แต่ผมกลัวว่าลูกผมจะเกลียดผมนะซีครับ"
วนิดาเสริมต่อ "มีคำพูดที่ว่า 'No pain No gain' ไม่เจ็บไม่ได้เรียนรู้ ที่จริงพวกเรานะผิดเองที่ป้อนลูกๆ เรามากไป สำหรับกรณีของพี่ พี่อธิบายให้ลูกเขาเข้าใจด้วยการเล่าเรื่องนี้แหละ หลังจากนั้นพี่ก็ขอโทษสำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกแบบผิดๆ ในอดีต ลูกๆ ของเราเขาฉลาดพอจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้นะ
กิตติ คุณลองมองไปรอบๆ ตัวเราซิ เรามีพนักงานที่มีความรู้ มาจากครอบครัวที่มีฐานะ หลายคนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ พวกเขาไม่อดทนต่อปัญหาและอุปสรรค คนที่ควรถูกตำหนิคือพ่อแม่ของเขา

คุณอยากถูกคนอื่นเขาต่อว่าแบบนี้ในอนาคตไหมละ แถมลูกๆ ของเรายังอ่อนแอ ไม่สามารถจะฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคได้ คุณมีสิทธิ์เลือกนะคะ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น