เฮลธ์คลับ ช็อกโกแลต -กล้วยเชื่อม เมนูหลับสบาย คลายเครียด
"ภาวะเครียด" เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตายในสังคมปัจจุบัน
โดยกรมสุขภาพจิตชี้ว่า ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนฆ่าตัวตายมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 60% ซึ่งเป็นการสวนทางกันอย่างสุดขั้วระหว่างความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความตกต่ำของภาวะจิตใจ
อย่างไรก็ดี ภาวะความเครียด ยังถือเป็นปัญหาของคนเมืองที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ภาวการณ์ปรับตัวที่ผิดปกติ โดยตั้งแต่ช่วงหลังภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มีผู้โทรมาขอคำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์จากหน่วยงานให้บริการคำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์เป็นจำนวนมาก โดยประเด็นที่ทำให้โทรมามากที่สุดคือ "รู้สึกเครียด" และปัจจุบัน โรคเครียดได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนี้
"ภาวะเครียด" ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย
จากงานสัมมนาพิเศษ "สายสุขภาพไฟเซอร์กับเคล็ดลับฝ่าวิกฤติโรคเครียด" จัดโดย "ไฟเซอร์" ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นคว้าวิจัยเวชภัณฑ์ระดับโลกร่วมกับ "สายสุขภาพไฟเซอร์ 0-2664-5888" ซึ่งเป็นบริการรับปรึกษาปัญหาสุขภาพทางโทรศัพท์ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเครียดที่น่าสนใจจาก น.พ.พนมทวน ชูแสงทอง จิตแพทย์ และอาจารย์แพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล ว่า
"ภาวะเครียด" เป็นเรื่องของจิตใจที่เกิดจากความตื่นตัว เตรียมเผชิญกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่น่าพึงพอใจ หรือคาดไม่ถึง เป็นเรื่องที่เราเองคิดว่าหนักหนาสาหัสเกินกำลังความสามารถที่จะแก้ไขได้ ทำให้เกิดความรู้สึกหนักใจ กังวล ไม่สบายใจ หรือแม้แต่คับข้องใจ และส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น หากว่าความเครียดนั้นมีมากและคงอยู่เป็นระยะเวลานาน แต่ทว่าความเครียดที่ไม่มากนัก จะเป็นแรงกระตุ้นที่ดี ช่วยให้คนเราเกิดแรงฮึดมุมานะที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ หากแต่เรามีความเครียดมากมาย และไม่รู้จักผ่อนคลาย และหากปล่อยไว้นานเข้า อาจมีปัญหาความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจได้ในที่สุด
สาเหตุของความเครียดมีสาเหตุ 3 ด้าน
สำหรับสาเหตุของความเครียดมีสาเหตุ 3 ด้าน ได้แก่ สาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น ความกลัวว่าจะไม่ได้ดังหวัง กลัวจะไม่ประสบความสำเร็จ หนักใจกังวลใจในงานที่ได้รับมอบหมาย หรือแม้แต่กลัวกังวลสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สาเหตุที่จากเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การเปลี่ยนช่วงวัย แต่งงาน การตั้งครรภ์ การเริ่มเข้าทำงานหรือการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่เรียน สุดท้ายคือสาเหตุจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น การเจ็บไข่ต่างๆ โรคที่รุนแรง และเรื้อรัง หรือโรคที่คาดว่าถึงแก่ชีวิตในที่สุด
อาการเครียดสามารถสังเกตได้ดังนี้ วิตกกังวล หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ควบคุมอารมณ์ตนเองยากขึ้น ปวดศีรษะ มึนงง ตื่นเต้น ตกใจง่าย หลับไม่สนิท เบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอะไร แต่บางคนอาจรับประทานมากขึ้น ใจสั่นถอนหายใจบ่อยๆ ท้องผูก หรือท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดต้นคอหรือไหล่ ปวดเมื่อยตามตัว เหนื่อยง่าย รู้สึกอ่อนเพลียบ่อย ไม่มีสมาธิ ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ประจำเดือนไม่ปกติ สมรรถภาพทางเพศลดลง และความเครียดอาจก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หอบหืดและภูมิแพ้ ปวดหลัง เบาหวาน ข้ออักเสบ รวมทั้งภาวะติดสารเสพติดต่างๆ
"อาหารคลายเครียด (Food Therapy)" คือหนึ่งในวิถีแห่งการผ่อนคลายความเครียด โดยสารอาหารที่ช่วยลดระดับความเครียด คือ ทริปโตฟาน (1-2 กรัม ก่อนนอน) พบได้ใน ไข่ ถั่วเหลือง นมวัว เนื้อสัตว์ วิตามินบี 6 (40 มิลลิกรัมต่อวัน) พบในธัญพืชต่างๆ ยีสต์ รำข้าว เครื่องใน เนื้อ ถั่ว ผัก วิตามินบี 3 (1,000 มิลลิกรัมต่อวัน) พบในตับเครื่องใน เนื้อ เป็ด ไก่ ปลา ถั่ว ยีสต์ สารอาหารอื่นๆ เช่น แคลเซียม กระเทียมและดอกไม้จีน เป็นต้น
สำหรับเมนูอาหารคลายเครียดยอดฮิตคือ ซ็อคโกแลตกับน้ำมะตูมจะช่วยลดอาการกระวนกระวายและอาการตึงเครียดได้ ส่วนกล้วยเชื่อมกับนมสด หากดื่มก่อนนอนเป็นประจำทุกวันจะช่วยลดอาการตึงเครียดและทำให้นอนหลับสบาย (แต่หากเกรงว่ากล้วยเชื่อมจะทำให้อ้วน สามารถทานกล้วยสดแทนก็ได้เช่นกัน)
นอกจากอาหารคลายเครียดแล้ว การฝึกฝนให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และการรู้จักปล่อยวาง เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณมองทะลุ เข้าใจถึงเหตุและผลของการเกิดอารมณ์ได้เป็นอย่างดี และช่วยให้สามารถควบคุมความเครียดที่กำลังเกิด ณ ขณะนั้น อันจะส่งผลให้คุณไม่ต้องทุกข์ทรมานกับ "โรคเครียด" อีกต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น