28 ม.ค. 2551

ไวรัสตับอักเสบบี Hepatitis B

โรคตับอักเสบเกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิด ที่พบบ่อยคือไวรัสเอ (HAV) และไวรัสบี (HBV) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกัน แต่ระบาดวิทยาของโรคต่างกัน โรคตับอักเสบบีมีความรุนแรงมากกว่าโรคตับอักเสบเอ และมีโอกาสที่จะเป็นเรื้อรังและเชื้อ HBV จะนำไปสู่มะเร็งตับได้ ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันโรคได้

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส Hepatitis B Virus (HBV) ซึ่งเป็น DNA ไวรัส จัดอยู่ในกลุ่ม Hepadnavirus มีส่วนของไวรัสที่สำคัญ ซึ่งเป็น antigen ที่มี markers ที่สำคัญของโรค คือ Hepatitis B surface antigen (HBsAg), Hepatitis B core antigen (HBcAg) และ Hepatitis e antigen (HBeAg) ซึ่งจะมีอยู่ในเลือดและน้ำคัดหลั่ง (secretion) ต่าง ๆ ของร่างกายระ

บาดวิทยา
เชื้อ HBV ติดต่อกันได้ทางเลือดและน้ำคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น น้ำลาย เสมหะ น้ำนม น้ำอสุจิ โดยเลือดจะเป็นแหล่งสำคัญที่มีเชื้ออยู่เป็นจำนวนมากที่สุด และในน้ำลายมีน้อยที่สุด ผู้ที่มีเชื้อ HBV อยู่ในร่างกายเกิน 6 เดือน ถือเป็นพาหะของโรค (carrier) ซึ่งมีความสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไปให้ผู้อื่น ทางติดต่อที่สำคัญคือการได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มี HBV การใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกัน การสัมผัสกับเลือด หรือน้ำคัดหลั่งต่าง ๆ ผ่านทางผิวหนัง หรือเยื่อบุต่าง ๆ และติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ การติดต่อคล้ายกับโรคเอดส์ ผู้ที่มีการติดเชื้อ HBV เรื้อรังจะตายจากโรคตับเรื้อรัง หรือเป็นมะเร็งที่ตับ

การติดเชื้อในวัยทารกและวัยเด็กมีโอกาสที่จะเป็น carrier สูงกว่าวัยผู้ใหญ่ และนำไปสู่การเสียชีวิตด้วยโรคตับได้สูงกว่าแม่ที่เป็น carrier จะถ่ายทอดเชื้อไปยังลูกได้ มีรายงานว่าประมาณร้อยละ 70-90 ของทารกที่แม่มี HBsAg จะมีอาการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ถ้าไม่ติดเชื้อในช่วง perinatal หลังคลอดจนถึงอายุ 5 ปี เด็กที่มีแม่เป็น HBsAg carrier ก็มีโอกาสติดเชื้อ HBV ได้สูงกว่าเด็กที่แม่ไม่มี HBsAg

โดยสรุปผู้ที่เป็นพาหะของโรค (มี HBsAg) สามารถแพร่เชื้อได้ทาง

1) ทางเลือด การได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มี HBsAg อยู่

2) การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้ของมีคมเช่นมีดโกน กรรไกรตัดเล็บร่วมกัน ซึ่งอาจมีเลือดติดผ่านเข้าตามรอยฉีกขาดของผิวหนัง

3) ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีการฉีกขาดของเยื่อบุ เชื้อที่อยู่ในเลือด ในน้ำอสุจิในช่องคลอด ผ่านจากผู้เป็นพาหะไปยังผู้สัมผัสโรค ด้วยวิธีนี้สามีที่ติดเชื้อก็จะถ่ายทอดเชื้อไปยังภรรยาได้

4) แม่ที่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ลูกที่เกิดใหม่โดยเชื้อผ่านไปยังลูกในขณะใกล้จะคลอด ขณะคลอด โดยเชื้อที่อยู่ในเลือด ในน้ำเมือก ในช่องคลอด และในน้ำคร่ำ ผ่านเข้าทางผิวหนัง และเยื่อบุของลูกที่อาจมีการถลอกหรือฉีกขาด

5) ทางน้ำลายถึงแม้จะมีเชื้ออยู่น้อย แต่ถ้าได้รับซ้ำๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจเป็นทาง นำเชื้อไปสู่ผู้สัมผัสโรคได้ เช่น การใช้แปรงสีฟัน ใช้เครื่องใช้ในการรับประทานอาหาร เช่น ช้อน หลอดดูดน้ำ แก้วน้ำร่วมกัน หรือการที่แม่เคี้ยวอาหารก่อนแล้วป้อนลูกก็อาจเป็นทางถ่ายทอดเชื้อได้ทางหนึ่ง

6) ทางน้ำนม ในแม่ที่ติดเชื้อ HBV เชื้อจะผ่านทางน้ำนมไปยังลูกได้ ในประเทศที่มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ HBV ต่ำมาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา (อุบัติการณ์ร้อยละ 0.1) จะไม่แนะนำให้แม่ที่เป็นพาหะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในประเทศด้อยพัฒนา และหรือประเทศที่มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อสูงองค์การอนามัยโลกแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เพราะอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยกว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากโรคอุจจาระร่วง โรคติดเชื้ออื่นๆ และภาวะทุพโภชนาการ ถ้าเด็กไม่ได้กินนมแม่

อาการและอาการแสดง
ระยะฟักตัวของโรค 50-150 วัน เฉลี่ย 120 วัน ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ แต่อาจจะเป็นพาหะได้โดยเฉพาะในเด็กทารก การติดเชื้อในวัยทารกและเด็กเล็กโอกาสเป็นพาหะจะสูงกว่าในผู้ใหญ่อาการของผู้ป่วยตับอักเสบบีจะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เริ่มด้วยเบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง อาจปวดทั่วไปหรือปวดบริเวณชายโครงขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คลำพบว่าตับโต กดเจ็บ จะสังเกตว่าปัสสาวะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีชาแก่ เริ่มมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองในปลายสัปดาห์แรก ซึ่งเมื่อถึงระยะนี้ไข้จะลดลง อาการทั่วไปจะดีขึ้น ในเด็กส่วนใหญ่ อาการของโรคตับอักเสบจะไม่รุนแรงมากเท่าในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่กลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง และบางรายที่รุนแรงมากจะมีภาวะตับวาย ซึ่งทำให้ถึงเสียชีวิต

การวินิจฉัย
จากอาการดังกล่าวร่วมกับการตรวจพบการทำหน้าที่ของตับผิดปกติโดยการตรวจเอนซัยม์ จะบอกได้ว่าเป็นโรคตับอักเสบ แต่จะบอกได้แน่นอนว่าเป็นตับอักเสบจากเชื้อ HBV ได้โดยการตรวจพบ HBsAg และตรวจพบ antibody ต่อ antigen ต่างๆ

การรักษา
ไม่มียาเฉพาะ การรักษาเป็นการให้การรักษาตามอาการและแบบประคับประคองให้อาหารที่มีคุณค่าการแยกผู้ป่วยเนื่องจากติดต่อกันทางเลือดและน้ำคัดหลั่งต่างๆ จึงจะต้องป้องกันแบบ universal precaution (เช่นเดียวกับโรคเอดส์) และในช่วงที่ไม่ทราบว่าเป็นชนิดใดแน่ จะต้องแยกแบบ enteric precaution เพราะเชื้อตับอักเสบชนิดเอ และ อี (hepatitis E virus) ติดต่อกันทาง fecal oral route

การป้องกัน

1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการให้เลือดหรือส่วนประกอบต่างๆ ของเลือดโดยไม่จำเป็น

2) ไม่ใช้ของมีคม เข็มฉีดยาและหลอดฉีดยาร่วมกัน

3) ไม่ใช้ภาชนะในการดื่มน้ำ รับประทานอาหาร ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพาหะ

4) คู่สามีภรรยา ถ้ามีผู้ใดเป็นพาหะ อีกฝ่ายหนึ่งควรได้รับวัคซีนป้องกัน

5) ให้วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี (HB) แก่เด็กแรกเกิดทุกคนโดยให้เข็มที่ 1 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 2 เดือน และเข็มที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่จะผ่านมาจากแม่และการติดเชื้อในระยะต่อไป ในรายที่แม่มี HBeAg อาจพิจารณาให้ Hepatitis B immune globulin (HBIG) ร่วมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น