17 มี.ค. 2551

10 สุดยอดแห่งโลกเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ที่น่าจับตามองในปี 2551 (4)

หมอไฮเทค ประจำตัวคุณ

ความก้าวหน้าของการใช้คอมพิวเตอร์และไมโครชิพในการแพทย์และการดูแลสุขภาพอาจไม่จำกัดวงอยู่แต่ภายในโรงพยาบาลอีกต่อไป เมื่อนักวิทยาศาสตร์แห่ง MIT กำลังหาทางทำให้มันเข้าไปอยู่ในบ้าน และติดตามตัวของคุณไป เพื่อให้แพทย์ได้รับข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างละเอียดและทันท่วงที
จอนห์ กัทเทก (John Guttag) อธิบดีคณะวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัย MIT มีลูกชายซึ่งป่วยเป็นโรคปอดที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเกือบทุกวัน เขาเล่าว่า "ทุกครั้งที่แพทย์มาตรวจ เขาจะนำเครื่องฟังหัวใจมาแนบที่ปอด จากนั้นจะประกาศว่า "เขามีอาการดีขึ้นกว่าเมื่อวานสิบเปอร์เซ็นต์" ซึ่งผมอยากสวนไปว่า "ผมไม่เชื่อหรอก"

กัทเทก เล่าต่อไปว่า "มันยากที่จะนั่งตรงนั้น ฟังหมอพูดว่าเขาสามารถบอกความแตกต่างสิบเปอร์เซ็นต์ได้โดยเพียงแค่ฟังจากสะเต็ดโตสโคปเท่านั้น แน่นอนเหลือเกินว่าต้องมีวิธีอื่นที่แม่นยำมากกว่านั้น"

สิ่งยากลำบากมากที่สุดสำหรับแพทย์ในปัจจุบันคือการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ เพราะแพทย์ในปัจจุบันนี้ถูกถล่มด้วยข้อมูลอันท่วมท้นที่หลั่งไหลออกมาจากเครื่องมือทดสอบทางการแพทย์ อุณหภูมิ ความดันโลหิต ภาพสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ (MRI) แผนภูมิคลื่นสมอง (EKG) ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ และอื่นๆ อีกมาก การพิจารณาข้อมูลเหล่านี้เพื่อดูว่าคนไข้มีแนวโน้มจะ (ยกตัวอย่างเช่น) หัวใจล้มเหลวหรือไม่ ทำได้ยากและกินเวลามาก กัทเทก เชื่อว่าคอมพิวเตอร์สามารถช่วยแพทย์วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น

"คนมักมองไม่เห็นแนวโน้มจนกว่ามันจะมากขึ้นจนเห็นได้ชัดเจน ผมเชื่อว่าหมอกำลังเสียเวลาทำสิ่งที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำได้ดีกว่า" เขากล่าว ยกตัวอย่างเช่น การแปลสัญญาณไฟฟ้าในร่างกายเพื่อระบุอาการ ดูจะเหมาะใช้คอมพิวเตอร์ทำมากกว่าใช้คนทำ ในปี 2004 งานวิจัยของกัทเทกได้รับความสนใจจากโรงพยาบาลเด็กเมืองบอสตัน แพทย์และวิศวกรร่วมกันปรับปรุงระบบตรวจจับอาการลมชักในเด็กให้เป็นอุปกรณ์พกพา ใช้บันทึกคลื่นสมองของเด็กจำนวนสามสิบคน ทั้งก่อนและหลังมีอาการลมชัก จากนั้นนำรูปแบบของคลื่นสมองมาวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมแยกประเภท เพื่อแยกรูปแบบของคลื่นสมองที่เกี่ยวข้องกับอาการลมชัก ออกจากคลื่นสมองรูปแบบปรกติ ช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุรูปแบบของคลื่นสมองที่ส่อไปในทางลมชักได้สำเร็จ

ปัจจุบัน กัทเทก ทุ่มเทความสนใจให้กับการสร้างเครื่องวิเคราะห์สภาพของเส้นเลือดหัวใจแบบพกพา แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องมือบันทึกข้อมูลลักษณะนี้ขายแล้ว แต่มันทำได้เพียงบันทึกข้อมูลเท่านั้น แพทย์จะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ด้วยตนเองภายหลัง ซึ่งอาจพลาดประเด็นสำคัญที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลจำนวนมากได้โดยง่าย ส่วนเครื่องมือของ กัทเทก จะบันทึกและวิเคราะห์ไปด้วยพร้อมๆ กัน ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถตัดสินใจไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที

"ผู้คนมักแสดงออกแต่ตางกันไปเมื่อได้ยินว่าจะมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้วินิจฉัยโรค แต่เราก็อยู่ในยุคที่ผู้คนกล้านั่งเครื่องบินที่บินด้วยคอมพิวเตอร์กันแล้ว จึงถือว่ามีเหตุผลที่จะคิดว่าคนคงทำใจรับสิ่งนี้ได้เช่นกัน" กัทเทก กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น