17 มี.ค. 2551

พิชิตภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย “ท่านอนเอนหลัง 30 องศา”

นักกายภาพบำบัด ม.หัวเฉียวฯ แนะท่านอนหงายเอนหลัง 30 องศา ช่วยลดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สาเหตุไม่สดชื่นหลังตื่น เหตุพบชายไทย 65% มีอาการดังกล่าวแล้ว

ไม่ว่าใครก็คงเคยนึกขำเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะที่เป็นเพศชายและ “นอนกรน” มาบ้างแล้ว ซึ่งการนอนกรนเป็นผลมาจากทางเดินหายใจตีบลงจนบีบให้มีเสียงหายใจดังๆ เล็ดลอดออกมา ทว่าสิ่งที่ติดตามมาด้วยคือ “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ที่ดูน่ากลัวกว่าแค่เสียงกรนธรรมดาๆ มาก

งานวิจัย “ท่านอนที่มีผลต่อการไหลเวียนอากาศขณะตื่นในชายไทยสุขภาพดี” จึงช่วยตีแผ่ปัญหาและหาท่านอนที่เหมาะสม ลดภาวะหยุดหายใจขณะหลับให้แก่ผู้มีความเสี่ยงได้

อาจารย์สุนทรี ชยาวัชรกุล คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า ชายไทยกว่า 65% มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โดยสาเหตุหลักมาจากทางเดินหายใจถูกอุดตันให้ตีบลงขณะนอนหลับแบบไม่รู้ตัว หรือที่เรียกว่า “ภาวะต้านการหายใจ” ทำให้ผู้ป่วยต้องสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อหายใจเป็นระยะๆ

ผลร้ายของมันคือ ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มอิ่ม ไม่สดชื่น ง่วงกลางวัน เวียนศีรษะ หงุดหงิดง่าย และอาจเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตแทรกซ้อนตามมา ซึ่งมองผิวเผินอันตรายของมันอาจไม่ถึงแก่ชีวิตโดยตรง แต่ก็มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน อันเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่สำคัญตามมาได้

อาจารย์สุนทรี เล่าว่า ทีมวิจัยจึงได้ทดสอบภาวะต้านการหายใจขึ้นในกลุ่มตัวอย่างเพศชาย 30 คน อายุ 18 -24 ปี โดยไม่เป็นผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจ ไม่ได้เป็นนักกีฬาซึ่งมีปอดแข็งแรงกว่าคนปกติ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ได้รับประทานยาในช่วงทดสอบ และไม่มีประวัติการนอนกรน มาทดสอบขณะตื่นอยู่

ทั้งนี้มีสมมติฐานที่เชื่อถือได้ว่า ระบบการทำงานของทางเดินหายใจขณะตื่นจะมีประสิทธิภาพดีกว่าตอนนอนหลับอย่างแน่นอน เพราะผู้ทดสอบยังมีสติคอยกำกับและระบบกล้ามเนื้อยังทำงานอยู่เต็มประสิทธิภาพ แต่การทดสอบขณะตื่นก็เพียงพอที่จะส่อให้เห็นแนวโน้มความผิดปกติที่จะเพิ่มมากขึ้นขณะนอนหลับได้

“เราจะเก็บข้อมูลความดันอากาศและอัตราการไหลเวียนของลมหายใจ เพื่อคำนวณภาวะต้านการหายใจ โดยต่อท่อให้กลุ่มตัวอย่างหายใจเฉพาะทางปากเท่านั้น จากนั้นจึงตรวจวัดค่าและแสดงผลผ่านชุดคอมพิวเตอร์ในที่สุด โดยเปรียบเทียบกันในท่านอน 4 ท่าคือ ท่านอนหงายเอน 30 องศา ท่านอนหงายราบกับพื้น ท่านอนตะแคงซ้าย และท่านอนตะแคงขวา ท่าละ 5 -10 นาที” นักวิจัยกล่าว

สำหรับผลวิจัย อาจารย์สุนทรี กล่าวว่า ท่านอนหงายเอนหลัง 30 องศาจะเป็นท่านอนที่มีภาวะต้านการหายใจน้อยที่สุด รองลงมาคือการนอนตะแคงซ้ายและนอนตะแคงขวาที่ได้ผลไม่ต่างกันมากนัก ส่วนการนอนหงายราบกับพื้นที่จะเป็นท่านอนที่ภาวะต้านการหายใจมากที่สุด

“ผลวิจัยนี้เชื่อว่าจะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับในกลุ่มเสี่ยงได้ และช่วยลดการเกิดอาการดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากนัก ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้วจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยตรง” อาจารย์สุนทรี เผย

ส่วนอีก 3 นักวิจัยร่วมโครงการ คือ ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว ดร.รุ่งชัย ชวนไชยะกุล วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และ อาจารย์สุเมธี รนังกุล โครงการจัดตั้งอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล

“การนอนหงายเอนหลัง 30 องศานี้ควรนอนหนุนด้วยหมอนที่ไล่ระดับลงมาจากส่วนที่หนุนศีรษะที่สูงที่สุด ไปยังต้นคอและไหล่ โดยควรมีหมอนใบเล็กรองรับข้อพับเข่าอีกใบหนึ่งเพื่อรักษาไม่ให้กระดูกสันหลังคดงอ” นักวิจัย คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ แนะทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น