14 มี.ค. 2551

7 ขั้นตอนเพื่อลดไขมันส่วนเกิน

1. จดบันทึกอาหารที่รับประทาน และเครื่องดื่มต่างๆ อย่างน้อย 3 วัน นอกจากนี้ควรบันทึกว่าทำไมถึงรับประทาน อาจจะไม่ใช่เพราะความหิว แต่เป็นเพราะ อยาก เบื่อ เหงา เศร้า หรือหงุดหงิด งานวิจัยพบว่าผู้ที่จดบันทึกอาหารสามารถลดน้ำหนักได้ผลดีกว่าผู้ที่ไม่บันทึก การจดบันทึกนี้จะทำให้เห็นแบบอย่างลักษณะการบริโภคที่นำไปสู่ความอ้วนได้ เช่น ใช้ขนมเป็นตัวปลอบใจขณะที่รู้สึกเศร้า หรือรับประทานอาหารในช่วงวันน้อยมาก จึงทำให้หิวมากในช่วงเย็น เป็นต้น เมื่อทราบเช่นนี้จะช่วยให้มีกลยุทธ์ในการแก้ไขพฤติกรรมอย่างถูกต้อง อาจเป็นการหาวิธีอื่นที่ไม่ใช้อาหารเป็นการปลอบใจหรือเป็นรางวัล เช่น การคุยกับเพื่อน ออกไปเดินเล่น ทำสวน ทำเล็บ อาบน้ำสัตว์เลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ควรบันทึกเวลาที่ออกกำลังกายด้วย เพื่อดูนิสัยการออกกำลังกาย

2. เน้นมื้อเช้าและมื้อเที่ยง เพราะจะทำให้มีแรงทำงาน และออกกำลังกายในช่วงเย็น ถ้าต้องการพลังงานวันละ 1300 แคลอรี่ ให้แบ่งแคลอรี่แต่ละมื้อเป็น 500-500-300 (เช้า-กลางวัน-เย็น)

3. รับประทานอาหารช้าๆ งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินมักมีพฤติกรรมรับประทานอาหารเร็วกว่าสมองจะใช้เวลารับรู้ว่าท้องอิ่มประมาณ 20 นาที ดังนั้นการกินอาหารช้าๆ จะทำให้ได้รับรู้รสชาติของอาหารมากขึ้น ทำให้เกิดความพึงพอใจ เพลิดเพลินกับการรับประทาน ถ้าใครรู้ว่าตัวเองมีนิสัยการกินอาหารเร็วควรฝึกตนเองให้กินช้าลง โดยวางช้อนส้อมระหว่างคำ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ใช้เวลาพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนที่รับประทานด้วย

4. เลือกรับประทานที่ชอบ การปฏิเสธอาหารที่ชอบจะทำให้มีความอยากมากขึ้น จนทนไม่ไหว ควบคุมตนเองไม่ได้ และทำให้กินอาหารมากเกินควรภายหลัง แต่ถ้าอนุญาตตนเองให้กินอาหารที่ชอบที่อยากกินในปริมาณที่พอเหมาะจะทำให้ความอยากอาหารลดน้อยลงและสามารถควบคุมตนเองได้ อาจใช้วิธีแลกเปลี่ยนอาหาร เช่น ถ้าอยากรับประทานโดนัท 1 ชิ้น 200 แคลอรี่ ให้ลดปริมาณข้าวลง 2 ทัพพี และเลือกอาหารไขมันต่ำในมื้อถัดไป การวางแผนล่วงหน้าจะป้องกันการรับประทานอาหารมากเกินควร

5. หลีกเลี่ยงการมีขนมไว้ยั่วยวนใจ โดยการไม่ซื้อมาเก็บไว้ที่บ้าน หรือถ้าซื้อมาให้คนอื่นในครอบครัวให้เก็บไว้ในตู้ เพราะถ้าไม่เห็นก็จะไม่นึกถึง และไม่เอาเข้าปาก ถ้าคุณเป็นคนที่ใช้เวลาส่วนมากอยู่ในครัว อาจพิจารณาย้ายไปห้องนั่งเล่นเพื่อทำกิจกรรมอื่นหรือเพื่อผ่อนคลาย ถ้าไปเดินเล่นห้างสรรพสินค้าพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอาหารขายเยอะๆ เวลากลับมาบ้านแทนที่จะเดินเข้าห้องครัวทันทีเพื่อหาอะไรรับประทาน ให้เปลี่ยนเส้นทางเป็นเดินไปเปลี่ยนเสื้อผ้า และพักผ่อนก่อนที่จะเข้าห้องครัว

6. มีแบบแผนการรับประทานที่มีความเป็นไปได้ นั่นคือมีความยืดหยุ่นกับตนเองบ้าง ชีวิตเราในแต่ละวันมีความแตกต่างกันออกไป บางวันเครียด บางวันสบาย บางวันมีงานเลี้ยง ถ้าเผลอรับประทานเยอะหน่อยที่งานเลี้ยงก็ไม่ต้องลงโทษตัวเองจะทำให้ชีวิตไม่มีความสุข ให้เลือกอาหารที่ “เบาๆ” ในวันถัดมา จะไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม

7. จัดตารางเวลาให้กับการออกกำลังกายและจดลงในสมุดนัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำและมีงานยุ่ง ประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้นมีมากมาย นอกจากจะเป็นวิธีเผาผลาญพลังงานแล้วยังช่วยคลายเครียด กระชับกล้ามเนื้อและทำให้มีสุขภาพดี แต่ข้อสำคัญคือ ควรเพลิดเพลินสนุกไปกับการออกกำลังกายด้วย เพราะถ้าใช้การออกกำลังกายเป็นบทลงโทษตนเอง หรือเพื่อเพียงเผาผลาญพลังงานแล้วจะทำให้รู้สึกเบื่อและเลิกไปในที่สุด ควรเลือกกิจกรรมที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำ เดิน วิ่ง โยคะ หรือเต้นลาตินก็ตาม แนะนำให้ออกกำลังกาย 30-60 นาที 4-7 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และป้องกันการเพิ่มน้ำหนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น