ในวันที่ฝนไม่ตก แสงแดดจะจัดจ้า และอุณหภูมิอากาศมักจะร้อนจัด ประชาชนที่ต้องการความสะดวกสบาย มักจะเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อผ่อนคลายบรรเทาความร้อน ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจึงสูงขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าตามความต้องการของประชาชน จึงเชิญชวนให้ประชาชนร่วมใจกันประหยัดไฟฟ้า โดยการจัดทำโครงการประชารวมใจ ประหยัดไฟฟ้าในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ โครงการหนึ่งคือ โครงการประชารวมใจใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า เครื่องปรับอากาศเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตสูง และใช้ไฟฟ้ามากที่สุดทั้งในด้านที่อยู่อาศัยและอาคารธุรกิจ และอาคารราชการ
โครงการประชารวมใจใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๘ โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศ ในการกำหนดระดับประสิทธิภาพและพัฒนาเครื่องปรับอากาศ เพื่อติดฉลากแสดงประสิทธิภาพตามมาตรฐานสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สพอ.) เป็นหน่วยงานทดลองค่าประสิทธิภาพ ได้แก่ ระดับต่ำ ๑ พอใช้ ๒ ปานกลาง ๓ ดี ๔ ดีมาก ๕
การใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้าเบอร์ ๕
การใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้าเบอร์ ๕ จะช่วยลดการใช้พลังงานโดยรวมของชาติได้ถึง ๓๔๐ ล้านหน่วย โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะประหยัดค่าไฟฟ้าเป็นเงินรวมถึง ๒,๓๒๕ ล้านบาท (คำนวณค่าไฟฟ้าหน่วยละ ๒.๓๕ บาท/kwh และใช้งานเครื่องปรับอากาศเฉลี่ยวันละ ๖ ชั่วโมง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แนะนำว่า
การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า ควรพิจารณาท่ค่าอัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศหรือที่เรียกว่า EER (Energy Efficiency Ration) เท่ากับ ๑๐.๖ หรือมากกว่า เพราะเครื่องจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
ผู้ซื้อควรตรวจสอบคู่มือหรือรายละเอียดบนฉลาก ซึ่งมีขนาดของเครื่องทำความเย็น ระบุไว้เป็น บีทียู/ชั่วโมง หรือตัน ซึ่งหมายถึงกำลังไฟฟ้าที่บอกจำนวนวัตต์ที่มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ต้องใช้ และถ้าเป็นระบบแยกส่วนต้องคิดรวมกำลังไฟฟ้าของเครื่องในห้อง และคอมเพรสเซอร์นอกห้องเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้จำนวนวัตต์ทั้งหมด ที่จะใช้คำนวณตามสูตรดังนี้
EER เท่ากับ ขนาดทำความเย็น (BTU/ชั่วโมง) หารกำลังไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด (วัตต์)
ในปัจจุบัน เครื่องปรับอากาศบางรุ่นใส่เครื่องควบคุมอุณหภูมิแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตั้งอุณหภูมิและระยะเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนอุณหภูมิได้ตามต้องการ เครื่องควบคุมนี้ จะช่วยให้เครื่องปรับอากาศที่มีปุ่มเตือนให้ทำความสะอาดแผ่นกรองฝุ่นตามระยะเวลา ปุ่มควบคุมการทำงานของพัดลมที่จะถ่วงเวลาการหยุดทำงานออกไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลังจากคอมเพรสเซอร์หยุดทำงานแล้ว ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น จึงแนะนำให้ซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ ๕ และมีเครื่องควบคุมดังกล่าวนี้
การเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศ ควรพิจารณาเลือกขนาดให้สัมพันธ์กับพื้นที่ห้อง ตามตาราง ดังนี้
พื้นที่ห้องความสูงปกติ-ตารางเมตร ขนาดเครื่องปรับอากาศ-บีทียู/ชั่วโมง
๑๓-๑๔ ๘,๐๐๐
๑๖-๑๗ ๑๐,๐๐๐
๒๐ ๑๒,๐๐๐
๒๓-๒๔ ๑๔,๐๐๐
๓๐ ๑๘,๐๐๐
๔๐ ๒๔,๐๐๐
การติดตั้งและการใช้เครื่องปรับอากาศ
๑. ควรให้ช่างผู้ชำนาญงานเป็นผู้ติดตั้ง
๒. วางเครื่องไว้ในจุดที่สามารถจ่ายความเย็นได้ดี เพื่อให้เครื่องปรับอากาศทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และควรติดตั้งชุดระบายความร้อน (Condensing Unit) ไว้ในที่เย็น มีร่มเงา ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง และอยู่ในที่ที่ระบายอากาศได้ดี
๓. หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองฝุ่นทุกเดือนหรือมากกว่า
๔. ตรวจสอบและทำความสะอาดเครื่องปีละครั้ง โดยช่างที่ชำนาญและตรวจสภาพครั้งใหญ่ ๒-๓ ปีต่อครั้ง เพื่อยืดอายุการใช้งาน
๕. ตั้งอุณหภูมิที่ ๒๕-๒๖ องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิที่ลดลง ๑ องศา จะทำให้ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มประมาณร้อยละ ๑๐
๖. ควรตรวจสอบหน้าต่างประตูให้ปิดสนิทขณะที่เครื่องปรับอากาศทำงาน ป้องกันไม่ให้ความร้อนเข้ามาภายในห้อง
๗. ลดความชื้นในห้องให้ต่ำที่สุด ไม่ควรปลูกต้นไม้หรือตากผ้าในห้องขณะเปิดเครื่องปรับอากาศ
๘. เปิดเครื่องปรับอากาศเฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น
๙. ถ้าต้องออกจากห้องนานกว่า ๙ ชั่วโมง ควรปิดเครื่องก่อน
ข้อแนะนำอื่นๆ
๑. ใช้ฉนวนกันความร้อนบนเพดาน ป้องกันความร้อนเข้าอาคาร
๒. ใช้ม่านมู่ลี่หรือกันสาด รวมทั้งปลูกต้นไม้รอบบ้านเพื่อป้องกันแสงอาทิตย์เข้ามาสู่อาคารหรือตัวบ้าน
๓. ในการสร้างบ้านใหม่ ควรศึกษาเรื่องความร้อนเข้าสู่อาคาร และหลังคาบ้านควรใช้สีอ่อน ป้องกันการสะสมความร้อนใต้หลังคา กระจกหน้าต่างควรใช้ชนิดแสงผ่านได้ แต่กันรังสีความร้อนไม่ให้ผ่านเข้าได้
๔. ซ่อมแซมรอยแตกที่ฝาผนังหรือประตู ป้องกันความร้อนเข้า และป้องกันความเย็นไหลออก
๕. ถ่ายเทอากาศโดยใช้พัดลมช่วยให้ห้องเย็นขึ้น
๖. ใช้พัดลมตั้งโต๊ะหรือพัดลมเพดาน ประหยัดกว่าใช้เครื่องปรับอากาศได้ถึง ๑๐-๒๐ เท่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น