15 พ.ค. 2551

ปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อม (2)

“ข้อเข่าเสื่อม” ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงให้ยาบรรเทาปวดหรือลดการอักเสบ และดูแลตัวเองไม่ให้มีอาการเสื่อมมากขึ้นไปอีก ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจใช้วิธีผ่าตัดให้ข้อเข่าเรียบขึ้นหรือผ่าตัดจัดข้อเข่าให้ตรงขึ้นในรายที่ข้อเข่าโก่ง หรือบางรายอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
เพื่อตัดปัญหาการปวดเข่าเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องบริหารเข่า ซึ่งจะช่วยให้เข่าเคลื่อนไหวงอ - เหยียดได้เต็มที่ และช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรง สำหรับผู้ที่ไม่เคยปวดเข่า สามารถบริหารได้ทุกท่า โดยเน้นท่าที่มีแรงต้านทานมากๆ

ข้อแนะนำในการบริหารข้อเข่า

1.ควรเริ่มบริหารหลังจากอาการปวดทุเลาลงแล้ว

2.เลือกท่าบริหารที่เหมาะสม โดยเริ่มจากท่าง่ายๆ ก่อน แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่ท่าที่ยากขึ้น

3.หากมีอาการปวดขณะบริหาร ควรหยุดพักการบริหารท่านั้นไว้ก่อน หรือลดจำนวนครั้งลง จนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น จึงค่อยเริ่มบริหารท่านั้นใหม่

4.ควรบริหารอย่างสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 2 - 3 เวลา หรืออย่างน้อยวันละ 30 - 50 ครั้ง

5.ควรบริหารเข่าทั้งสองข้างสลับกันเสมอ สำหรับผู้ที่ปวดเข่าข้างเดียว ข้อเข่าข้างที่ไม่ปวดต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยข้างที่ปวด ดังนั้นผู้ที่ปวดเข่าข้างเดียวก็ต้องออกกำลังข้างที่ไม่ปวดด้วย

6.ขณะบริหารอย่ากลั้นหายใจ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อขาดออกซิเจน เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้าและปวดได้ การกลั้นหายใจขณะบริหารมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว สามารถป้องกันได้โดยออกเสียงนับดังๆ ขณะบริหาร

7.ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารหรือรู้สึกปวดมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ท่าบริหารข้อเข่า

ท่าที่ 1 นอนหงาย เหยียดเข่าตรง เกร็งเข่ากดกับเตียงพร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น เกร็งค้างไว้ นับ 1-3 ช้าๆ แล้วปล่อย ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่าที่ 2 นอนหงาย เหยียดเข่าตรง กระดกข้อเท้าขึ้น ยกขาขึ้นมาพ้นพื้นตรงๆ เกร็งค้างไว้ นับ 1-3 ช้าๆ แล้วปล่อย

ท่าที่ 3 นอนหงาย ใช้หมอนหนุนใต้เข่าให้เข่างอเล็กน้อย แล้วเหยียดเข่าออกให้ตรงที่สุด เกร็งไว้ 10 วินาที แล้วปล่อย ทำซ้ำ 10 ครั้ง ควรทำทีละข้าง เพราะหากยกขาพร้อมกันทั้งสองข้าง อาจทำให้ปวดหลังได้ อาจใช้หมอนรองให้เข่างอมากขึ้นหรือใช้ถุงทรายหรือน้ำหนักถ่วงเพิ่มบริเวณข้อเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

ท่าที่ 4 นอนคว่ำ งอเข่าเข้ามาให้มากที่สุด เกร็งไว้ 10 วินาที แล้วเหยียดออก อาจใช้ถุงทรายถ่วงเพิ่มน้ำหนักแรงต้านที่ข้อเท้าได้เช่นกัน

ท่าที่ 5 นั่งบนเก้าอี้สูงระดับข้อเข่า ยกขาให้เข่างอ - เหยียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เกร็งค้างไว้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง ถ้าไม่มีอาการปวด ให้ใช้น้ำหนักถ่วงที่บริเวณข้อเท้า โดยเริ่มจากน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นครั้งละ 0.5 กิโลกรัม จนถึง 5 กิโลกรัม แต่ถ้าเพิ่มน้ำหนักแล้วรู้สึกปวด ก็ให้ลดน้ำหนักลงเหลือเท่าที่ไม่ปวด แล้วทำต่อไป

ท่าที่ 6 นั่งบนเก้าอี้สูงระดับข้อเข่า เกร็งกล้ามเนื้อให้อยู่ในท่าเข่าเหยียดตรง ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วงอเข่าลง ใช้ส้นเท้ากดกับขาเก้าอี้หรือขาเตียง ค้างไว้ นับ 1-10 ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่าที่ 7 ยืนหันหลังให้ขาชิดขอบเก้าอี้หรือฝาผนัง ค่อยๆ ย่อเข่าทั้งสองลง แล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืน ทำช้าๆ อาจหยุดเกร็งค้างไว้ที่ช่วงใดช่วงหนึ่ง เมื่อทำได้ดีแล้วให้เปลี่ยนเก้าอี้ให้เตี้ยลงเรื่อยๆ หรือย่อตัวให้ต่ำลง

ท่าที่ 8 ยืนเกร็งเข่า งอเข่าเล็กน้อย คล้ายท่ายืนรำมวยจีน แล้วยืดตัวขึ้นให้เข่าตรง ทำซ้ำ 10 ครั้ง

การออกกำลังกายวิธีอื่น ๆ

การออกกำลังกายที่ถูกต้องและสม่ำเสมอจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ควรออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักที่เข่ามาก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว เป็นต้น
ไม่ควรออกกำลังกายที่ต้องลงน้ำหนักที่เข่าเพิ่มขึ้น เช่น วิ่งเร็วๆ เต้นแอโรบิค ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าฉีกขาดได้

ขณะเดินจะมีน้ำหนักลงที่เข่าประมาณ 5 เท่าของน้ำหนักตัว ถ้าวิ่ง น้ำหนักจะลงที่เข่าเพิ่มเป็น 7 – 10 เท่าของน้ำหนักตัว ส่วนการถีบจักรยาน เข่าจะรับน้ำหนักเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น
การออกกำลังกายในน้ำ เช่น แอโรบิคในน้ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดเข่า แรงพยุงในน้ำจะช่วยให้น้ำหนักตัวไม่ตกลงบนข้อที่ปวด และแรงต้านในน้ำจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ส่วนการแช่น้ำอุ่น น้ำวน จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ช่วยลดการอักเสบได้ น้ำวนจะช่วยบีบนวดกล้ามเนื้อให้คลายตัว และช่วยลดอาการบวม

อย่างไรก็ตาม การปวดเข่าอาจไม่ได้เกิดจากข้อเข่าเสื่อมเสมอไป หากมีอาการต่อไปนี้มากกว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด

- มีอาการบวมแดงและร้อนบริเวณข้อเข่า
- มีอาการข้อติด ข้อขัด เคลื่อนไหวลำบาก อาจมีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
- มีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ปวดตลอดเวลา กดเจ็บ
- มีอาการปวดที่ข้ออื่นๆ ร่วมด้วย
- กล้ามเนื้อต้นขาลีบ มีอาการชาหรือขาอ่อนแรง
- สีของผิวหนังบริเวณขาหรือเท้ามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเดินนานๆ
- มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น