15 พ.ค. 2551

วิตามินบี 3

วิตามินบี 3 หรือไนอาซิน (Niacin) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ มีสภาพคงทนกว่าวิตามินบี 1 และ บี 2 หลายเท่าตัว มีความทนทานต่อความร้อน แสงสว่าง กรด ด่าง ไนอาซินเป็นวิตามินตัวเดียวที่ร่างกายสังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโน คือ ทริปโตฟาน (Tryptophan) โดยที่ทริปโตฟาน 60 มิลลิกรัม จะให้ไนอาซิน 1 มิลลิกรัม

ประโยชน์ต่อร่างกาย
- มีส่วนร่วมในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
- ช่วยควบคุมการทำงานของสมองและระบบประสาท
- ช่วยรักษาสุขภาพของผิวหนัง ลิ้น และเนื้อเยื่อของระบบย่อยอาหาร
- จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล

แหล่งที่พบ
เนื้อสัตว์ เนื้อปลา เป็ด ไก่ ถั่ว เครื่องในสัตว์ มันฝรั่ง ธัญพืช นม ยีสต์ ไข่ ผักสีเขียว

ปริมาณที่แนะนำ
นิยมใช้คำว่า “niacin equivalent” ซึ่งรวมถึงปริมาณไนอาซินที่บริโภคในอาหาร และที่ร่างกายสังเคราะห์ได้ ปริมาณที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวัน คือ 6-19 มิลลิกรัม แตกต่างกันไปตามอายุ เพศ และปัจจัยอื่นๆ
บางกรณีที่ร่างกายจะต้องการไนอาซินเพิ่มขึ้น เช่น การเจ็บป่วย ความเครียด เด็กในระยะกำลังเจริญเติบโต ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงเรื่องการใช้ไนอาซินระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากยังขาดการวิจัยทางด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่เพียงพอ

ผลของการขาด
การขาดไนอาซินจะทำให้เกิดโรคเพลลากรา (pellagra) จะมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ผิวหนัง และระบบประสาท
- อาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร คือ ปากและลิ้นอักเสบ แสบร้อนในคอ เบื่ออาหาร ท้องอืดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเดิน
- อาการทางผิวหนัง คือผิวหนังอักเสบแบบเดียวกันทั้งสองข้างของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด ความร้อน เช่น ที่มือ แขน หน้า ลำคอ และเท้า ตอนแรกจะเป็นผื่นแดงคล้ายถูกแดดเผา ถ้าไม่รีบรักษาจะทำให้ผิวหนังอักเสบมากขึ้น มักจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ในรายที่เป็นเรื้อรังผิวจะหนา เป็นร่อง มีสีเข้มขึ้น แห้งแตกเป็นเกล็ด ลอก และมีสะเก็ดเป็นบริเวณกว้าง
- อาการทางระบบประสาท จะมีอาการปวด มึนศีรษะ หงุดหงิด นอนไม่หลับ กังวล ซึมเศร้า ความจำเสื่อมและสับสน มีอาการแบบประสาทหลอน หากเป็นมากอาจวิกลจริต หรือมีความพิการทางสมอง

ผลของการได้รับมากเกินไป
หากได้รับในปริมาณมาก คือ 100 มิลลิกรัม หรือมากกว่า จะมีผลข้างเคียง คือ ผิวหนังจะคันและแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง และหากได้รับในปริมาณสูงมากๆ จะทำให้เป็นพิษกับตับ ผู้ที่เป็นโรคตับไม่ควรรับประทานวิตามินบี 3 เสริม สำหรับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ก็จะทำให้อาการแย่ลง นอกจากนี้ ยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและกรดยูริกสูงขึ้น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคเกาต์เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยต้อหินควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

อาหารหรือสารต้านฤทธิ์
- ผู้ที่บริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลัก มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเพลลากรา เพราะข้าวโพดมีทริปโตฟานต่ำ และไนอาซินในข้าวโพดอยู่ในสภาพที่ไปรวมตัวกับสารอื่น ซึ่งร่างกายของคนไม่มีน้ำย่อยที่จะย่อยไนอาซินให้อยู่ในรูปอิสระเพื่อจะดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ได้
- ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ หรือเป็นโรคตับแข็ง จะทำให้ร่างกายดูดซึมไนอาซินได้น้อยลง
- ผู้ที่เป็นวัณโรคของลำไส้ โรคลำไส้อักเสบ และท้องร่วงเรื้อรัง จะทำให้มีการย่อยและดูดซึมไนอาซินน้อยลง
- ผู้ที่เป็นโรคขาดโปรตีนและพลังงาน นอกจากอาหารที่ได้รับจะมีไนอาซินและทริปโตฟานต่ำแล้ว การดูดซึมไนอาซินของร่างกายจะลดลงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น