15 พ.ค. 2551

อย่าปล่อยให้ความดันสูง

ความดันโลหิต คือแรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังของหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ค่าของความดันภายในหลอดเลือดแดง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ความดันตัวบนหรือความดัน Systolic เป็นความดันโลหิตในขณะที่หัวใจบีบตัว เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และ ความดันตัวล่างหรือความดัน Diastolic เป็นความดันโลหิตในขณะที่หัวใจคลายตัว รับเลือดที่กลับจากไปเลี้ยงร่างกายมาแล้ว ค่าปกติของความดันขณะหัวใจบีบตัวจะสูงกว่าค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว

การวัดความดันโลหิตควรวัดขณะพัก เพราะระดับความดันโลหิตจะเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับภาวะต่างๆ ที่กระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เช่น หากเกิดอาการตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ หรือมีการออกกำลังกาย ค่าความดันโลหิตจะสูงขึ้น และจะมีค่าต่ำลงในระหว่างการพักผ่อนหรือนอนหลับ

เราจะทราบค่าของความดันโลหิตได้โดยใช้เครื่องวัดความดัน ซึ่งมีทั้งแบบมาตรฐานและแบบอิเล็กทรอนิกส์ ค่าของความดันปกติตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ควรน้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า ถือว่ามีความดันโลหิตสูง

ในปัจจุบันถือว่าค่าความดันตัวบนที่สูงและความดันตัวล่างที่สูง มีความสำคัญเท่าเทียมกัน คือสามารถทำให้เกิดโรคของสมอง ไต และหัวใจ ได้มากกว่าคนปกติ กล่าวคือถ้าความดันโลหิตสูงเกิน 160/95 มิลลิเมตรปรอท เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะหัวใจโต ไตเสื่อม สมองเสื่อม รวมถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่

1.หัวใจโต มีอาการเหนื่อยง่าย อาจมีอาการเหนื่อยหอบอย่างเฉียบพลัน
2.หลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ซึ่งจะพบได้บ่อยมากกว่าคนปกติ นำไปสู่ภาวะหัวใจวาย
3.เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก พบได้บ่อยมากกว่าคนปกติ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
4.การทำงานของไตจะเสื่อมลงเร็วกว่าคนปกติ เป็นสาเหตุของโรคไตวายชนิดเรื้อรัง
มากกว่า 90% ของคนที่เป็นความดันโลหิตสูง เกิดโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด น้อยกว่า 10% เท่านั้นที่ทราบสาเหตุ ได้แก่ เป็นโรคไต เช่น กรวยไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อบางชนิด มีความผิดปกติของหลอดเลือด ความดันสูงในหญิงมีครรภ์ เนื้องอกในสมอง หรือการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูง ได้แก่ กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่เป็น ยิ่งกว่านั้นผู้ที่มีทั้งบิดาและมารดาเป็นความดันโลหิตสูง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ความอ้วน การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินควร รวมทั้งภาวะเครียด

ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ส่วนมากจะไม่แสดงอาการ นั่นหมายถึงว่า ผู้ป่วยมักจะไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้ แต่จะมีการทำลายอวัยวะต่างๆ ไปทีละน้อยอย่างช้าๆ จนผู้ป่วยเกิดอาการแทรกซ้อนในที่สุด ภาวะความดันโลหิตสูงจึงมักได้รับการขนานนามว่า ฆาตกรเงียบ

ในรายที่ความดันโลหิตสูงรุนแรง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจมีอาการ ซึ่งอาจมากหรือน้อย เช่น มึนงง ตาพร่ามัว ปวดศีรษะตรงท้ายทอย มักจะปวดตอนตื่นนอน เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย บางรายเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคอื่นได้อีกหลายโรค ดังนั้นหากสงสัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือมีอายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น เพราะความดันโลหิตจะมีระดับสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นด้วย และอาจมีความดันสูงโดยไม่มีอาการเลยก็ได้

การรักษาโรคความดันโลหิตสูงขึ้นอยู่กับระดับของความดันที่ขึ้นสูงผิดปกติ ว่ามากหรือน้อย

ถ้าขึ้นสูงมาก จำเป็นต้องให้ยาลดความดันทันที ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง แต่ถ้าความดันสูงเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแต่เพียงอย่างเดียวก่อน ถ้าไม่ได้ผล จึงเริ่มใช้ยาลดความดัน

ยาลดความดันมีหลายชนิดและออกฤทธิ์ต่างกัน การเลือกใช้ยาชนิดใดขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความจำเป็นของผู้ป่วย ยาบางอย่างใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยบางราย แต่อาจไม่ดีในผู้ป่วยบางราย บางรายอาจต้องใช้ยาร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป และขนาดของยาที่ใช้ได้ผลอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จะเป็นผู้ปรับชนิดและขนาดของยา ควรรับประทานยาตามกำหนด ไม่ซื้อยารับประทานเอง ไม่หยุดหรือเปลี่ยนยาเอง และปรึกษาแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติ รวมทั้งพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนการรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มที่มีเกลือโซเดียม ซึ่งรวมถึงผงชูรส การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน งดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มเพียงเล็กน้อย ลดความเครียด ทำจิตใจให้สงบ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยเลือกกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย

โรคความดันโลหิตสูงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเสื่อม หรือภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ หมั่นสังเกตอาการตัวเอง วัดความดันโลหิตเป็นประจำ หากท่านมีระดับความดันโลหิตผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะให้การวินิจฉัย เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและให้คำแนะนำในการรักษาต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น