ผักและผลไม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และเส้นใยอาหาร แต่ควรระมัดระวังสารพิษตกค้างจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง
สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลง นั้นมีการใช้กันทั่วไปเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรบางคนใช้ในปริมาณมากเกินไป จนอาจทำให้ตกค้างมากับอาหาร
อันตรายของยาฆ่าแมลง ก็คือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากๆ ในครั้งเดียวจะเกิดพิษแบบเฉียบพลัน เช่น ทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระสับกระส่าย ชักกระตุก หายใจขัด หมดสติ และอาจหยุดหายใจได้ แต่พิษที่พบมากที่สุด คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือหากได้รับปริมาณไม่มาก ก็จะสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
การรับประทานผักผลไม้ตามฤดูกาลเป็นสิ่งที่ดี เพราะพืชจะมีความแข็งแรงทนทานต่อโรคและแมลง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณน้อยหรือไม่ใช้เลย
สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ทำรายการให้เราเลือกซื้อผักตามฤดูกาล ดังนี้
มกราคม ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาวปลี ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กวางตุ้ง ถั่วลันเตา ถั่วแขก แครอท ปวยเล้ง ตั้งโอ๋
กุมภาพันธ์ ได้แก่ ผักขม แตงกวา มะเขือเทศ พริกยักษ์ ผักกาดขาว
มีนาคม ได้แก่ กวางตุ้ง เห็ดฟาง คะน้า ฟักเขียว มันฝรั่ง ถั่วฝักยาว มะเขือยาว
เมษายน ได้แก่ ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ หอมหัวใหญ่ มะเขือพวง มันฝรั่ง แตงกวา เห็ดฟาง
พฤษภาคม ได้แก่ มะเขือเปราะ ถั่วพู มะเขือยาว มะเขือพวง ถั่วฝักยาว
มิถุนายน ได้แก่ คะน้า มะเขือยาว ดอกกุยช่าย ผักบุ้ง แตงกวา มะเขือพวง เห็ดเผาะ
กรกฎาคม ได้แก่ ผักบุ้งไทย กระเฉด ตำลึง
สิงหาคม ได้แก่ กระเฉด หัวปลี ข้าวโพด ถั่วฝักยาว
กันยายน ได้แก่ กวางตุ้ง กระเฉด บวบ น้ำเต้า
ตุลาคม ได้แก่ มะระ ถั่วพู พริกหยวก ผักบุ้ง กระเฉด
พฤศจิกายน ได้แก่ ผักกาดขาว มะเขือยาว มะเขือเปราะ ถั่วพู
ธันวาคม ได้แก่ ถั่วลันเตา ผักกาดขาวปลี ถั่วแขก กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก พริกยักษ์ มะเขือเปราะ มะเขือม่วง
นอกจากนี้ การรับประทานผักพื้นบ้านก็มีความปลอดภัยจากสารเคมี เพราะเป็นผักที่ปลูกง่าย ไม่ค่อยมีแมลงรบกวน จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง ผักพื้นบ้านนั้นมีเป็นร้อยชนิดที่สามารถนำมาบริโภคและส่งเสริมเป็นพืชทางการค้าได้ คุณค่าทางอาหารก็ไม่ได้แตกต่าง หรือบางชนิดอาจจะเหนือกว่าผักที่จำหน่ายในท้องตลาดเสียด้วยซ้ำ เช่น กระเจี๊ยบ กระถิน กระสัง ขี้เหล็ก ดอกแค ดอกขจร ดอกโสน ชะอม ชะพลู บอน บัวสาย สะเดา สะตอ ผักกูด ผักปรัง ผักแว่น ผักหวาน เป็นต้น
การหลีกเลี่ยงสารพิษตกค้างในผักผลไม้ด้วยวิธีอื่นๆ สามารถทำได้ดังนี้
- เลือกซื้อผักที่มีรูพรุนจากการเจาะของแมลงบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าผักที่มีรูพรุนเป็นผักที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างเสมอไป ควรให้ความสำคัญกับการล้างผักให้สะอาดมากกว่า
- ควรเลือกซื้อผักใบมากกว่าผักหัว เพราะผักหัวจะสะสมสารพิษไว้มากกว่า
- ควรรับประทานผักให้หลากหลาย ไม่รับประทานชนิดเดียวซ้ำซาก
- ผักและผลไม้ที่ปอกเปลือกได้ ควรล้างน้ำให้สะอาด แล้วปอกเปลือกก่อนรับประทาน
ควรล้างทำความสะอาดผักผลไม้ก่อนนำมารับประทาน โดยเฉพาะผักที่รับประทานสด เพื่อลดปริมาณสารพิษตกค้าง เชื้อโรค และลดการปนเปื้อนของไข่พยาธิ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
1.ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หรือล้างผ่านน้ำไหลนาน 2 นาที หรือแช่น้ำสะอาดนาน 15 นาที จะลดสารพิษได้ประมาณ 50-60%
2.ล้างโดยแช่ในสารละลายต่อไปนี้ ประมาณ 10-15 นาที
- เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ลิตร ลดสารพิษได้ 30-50%
- ด่างทับทิม 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 1 กะละมัง ลดสารพิษได้ 35-45%
- โซเดียมไบคาร์บอเนตหรือผงฟู 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 4 ลิตร ลดสารพิษได้ 50-70%
- น้ำส้มสายชู ½ ถ้วย ต่อน้ำ 4 ลิตร ลดสารพิษได้ 60-70%
3. ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง จะลดยาฆ่าแมลงได้อีกประมาณ 10%
เมื่อปฏิบัติครบทั้ง 3 ขั้นตอน จะสามารถลดยาฆ่าแมลงได้เกือบหมด ในกรณีที่นำผักไปต้ม แกง หรือผัด หากลวกด้วยน้ำร้อนก่อน ก็จะสามารถลดยาฆ่าแมลงลงได้อีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น