31 ส.ค. 2551

กิน “ปลาน้ำจืด” คุณค่าครบครัน ป้องกันสารพัดโรค

“กินข้าว กินปลา” ประโยคนี้เชื่อว่าคนไทยทุกคนคงเคยเอ่ยถึง และเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยในเรื่องของการบริโภคมาอย่างช้านาน แต่ในปัจจุบันประโยคข้างต้นคงใช้ได้ไม่ถนัดนัก เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ภาวะการกินของคนไทยเปลี่ยนไป หลายคนมุ่งสู่อาหารที่มีคุณภาพ แต่ต้องสู้กับราคาที่แพงระยับ บ้างกินตามแฟชั่นจนลืมนึกถึงคุณค่าทางอาหารที่ควรจะได้รับ จนทำให้หลายคนมองข้ามอาหารชั้นเลิศที่อยู่ในบ้านเมืองเราเอง แถมราคายังถูกเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังดำดิ่งอยู่ในเวลานิ้

สิ่งที่กล่าวถึง คือ ปลา กับข้าวชั้นยอดที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แต่จากผลการสำรวจที่ออกมาล่าสุดกลับพบว่าคนไทยกินปลาน้อยลง ตกที่ 32 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งที่ไทยเองเป็นประเทศที่ส่งออกปลาเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และ นอร์เวย์ อะไรทำให้คนไทยกินปลาน้อยลง..? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาน้ำจืดสัญชาติไทย...

** กิน “ปลาน้ำจืด” อย่างมั่นใจ
สำหรับคำถามดังกล่าวนั้น ดร.นฤพล สุขุมาสวิน ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ กรมประมง ในคำอธิบายว่า ปัจจุบันสิ่งที่กรมประมงดำเนินการอยู่ คือ การพยายามทำให้ประชาชนผู้บริโภครู้สึกมั่นใจในการบริโภคปลาน้ำจืดที่ปลอดภัย ซึ่งประชาชนหลายคนจะติดภาพการเลี้ยงปลาน้ำจืดในอดีต ที่จะมีโรงเรือนของสัตว์เช่น ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู ไว้บนบ่อปลา จากนั้นจะปล่อยมูลของสัตว์ ให้เพื่อเป็นอาหารของปลาในบ่อ ผู้คนจึงยึดติดว่าการเลี้ยงปลาน้ำจืดด้วยวิธีเช่นนั้นไม่สะอาด แต่ตอนนี้ได้มีการส่งเสริมรูปแบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน และเกษตรกรต่างก็รับทราบในรูปแบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานนี้

“กรมประมงได้ทำโครงการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยรับรองมาตรฐานขั้นปลอดภัย(Safety Level) และมาตรฐานการปฏิบัติทางประมงที่ดี (GAP) โครงการเหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของประชาชนในการบริโภคปลาน้ำจืด โดยการตรวจสอบคุณภาพฟาร์มเลี้ยงขั้นต่ำนั้นจะเน้นไม่ให้เกษตรกรใช้ปัจจัยต้องห้าม อย่าง ยา สารเคมี ซึ่งกรมประมงจะออกตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพการเพาะเลี้ยง อีกทั้งยังมีการตรวจสอบคุณภาพของเนื้อปลาว่าต้องไม่มีสารปนเปื้อน ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจและเชื่อมั่นในคุณภาพปลาน้ำจืดของไทยว่าปราศจากสารเคมี และเชื้อโรค” ผอ.ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง อธิบาย

** ปลาน้ำจืด “คุณค่า-ราคา” โดนใจ
เมื่อสามารถสร้างความมั่นใจต่อการกินปลาน้ำจืดได้แล้ว สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับนั้น นพ.ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนวิทยาคลินิก ศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม รพ.รามาธิบดี ในฐานะเครือข่ายคนไทยไร้พุง ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การบริโภคปลาทั้งปลาทะเล และปลาน้ำจืด มีข้อดีและข้อด้อยในมุมที่แตกต่างกัน

กล่าวคือ ในส่วนของปลาทะเลนั้นจะมีปัญหาเรื่องของสารตกค้าง เช่นโลหะหนักที่สูงกว่าปลาน้ำจืด ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการจับปลาที่เมื่อจับปลามาได้แล้วนั้น กว่าจะนำเข้ามาสู่ฝั่งปลาเหล่านั้นจะผ่านการแช่แข็ง ในบางรายจะมีการใส่สารฟอร์มาลิน เพื่อรักษาความสด แต่ช่วงหลังที่มีการกวดขันมากขึ้นทำให้การกระทำเหล่านี้ลดลง แต่ข้อดีของปลาทะเลคือ มีปริมาณของโอเมกา 3 สูงในบางชนิด

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับปลาน้ำจืด จะพบว่า ปลาน้ำจืดมีคุณค่าด้านสารอาหารที่ไม่ได้ด้อยกว่าปลาทะเล ทั้งมีโปรตีนที่ย่อยง่าย มีคอเลสเตอรอลที่ต่ำกว่าปลาทะเล มีปริมาณของโอเมกา 3 ในบางชนิดที่สูงกว่า เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ และปลาช่อน

“ปัญหาใหญ่ที่คนไทยไม่กินปลาน้ำจืดส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้คนจะคิดว่าปลาน้ำจืดมีพยาธิ และสารปนเปื้อน แต่ต้องบอกว่าสิ่งเหล่านี้ในปลาน้ำจืดมีปริมาณที่ต่ำมาก เนื่องจากปลานั้นราคาถูก อยู่ที่กิโลกรัมละ 20-60 บาท ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อยา สารเคมีต่างๆ มาใช้เลี้ยงปลา เลยมีการปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่ที่มีปัญหาจริงๆ นั้นน่าจะอยู่ที่พยาธิ ซึ่งทางกรมประมงเองก็มีมาตรฐานการตรวจ ทำให้แนวโน้มของสารปนเปื้อนทั้งหลายมีน้อยลงมาก เพราะเมื่อมีกระบวนการเลี้ยงที่ดีสิ่งเหล่านี้ก็จะหมดไปเช่นกัน”

** กินปลา ป้องกันสารพัดโรค
นพ.ฆนัท ให้ข้อมูลอีกว่า การกินปลาสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ช่วยในการสร้างพัฒนาการในการเสริมสร้างเซลล์สมอง โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ที่จะช่วยเสริมสร้างด้านพัฒนาการของความจำทั้งแม่และลูก ทั้งยังช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ และยังมีการกระตุ้นสารซีโรโทนินในสมอง ในการต้านอาการซึมเศร้า อีกทั้งยังป้องกันโรคความดันโรหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอรอลในร่างกาย

นอกจากนี้ ปลายังมีโปรตีนที่ย่อยง่าย ซึ่งโปรตีนจากปลานั้นมีสูงกว่าเนื้อวัว เนื้อหมู และเมื่อมองที่ราคาจะเห็นว่าปลามีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์หลายเท่าตัว ส่วนปลาที่แพงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่นำเข้า ซึ่งความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องบริโภคปลาราคาแพง เพราะปลาทุกชนิดก็มีคุณค่าทางอาหารเท่ากัน

** นึ่ง-ต้ม-ผัด เมนูเพื่อคุณประโยชน์
ส่วนกรรมวิธีการกินปลานั้น นพ.ฆนัท บอกอีกว่า ปลาที่เลือกนำมาทำอาหารต้องเป็นปลาที่สด ซึ่งปลาน้ำจืดจะมีความสดกว่าปลาทะเลอยู่มาก ในส่วนของการนำมาแปรรูปนั้น แนะนำให้ทำด้วยกรรมวิธีการนึ่ง ต้ม และผัดด้วยน้ำมันน้อยๆ โดยหลีกเลี่ยงการทอดให้มากที่สุดเพราะความร้อนผ่านน้ำมันที่ใช้ทอดจะเป็นตัวการสลายโอเมกา 3 ทำให้คุณค่าทางอาหารสูญเสียไป และน้ำมันที่นำมาทอดนั้นหากใช้ซ้ำๆ ก็จะก่อให้เกิดมะเร็งอีกด้วย ส่วนปลากระป๋องก็เช่นกันที่มีปริมาณของสารอาหาร และโอเมกา 3 น้อยกว่าปลาสด

“อาหารเป็นสิ่งสำคัญ หากกินอาหารที่ดีจะส่งผลให้มีสุขภาพดี และปลาเองเป็น 1 ใน 3 อาหารที่ดีมีประโยชน์ อันได้แก่ ข้าวกล้อง ปลา และผักพื้นเมือง หากเรากินสิ่งเหล่านี้เป็นประจำก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก และการกินปลาจะทำให้อิ่มนาน ช่วยป้องกันโรคอ้วนที่จะเกิดขึ้นได้ จึงควรรณรงค์ให้ผู้คนหันมากินอาหารที่มีเมนูปลาอย่างน้อย 2-3 มื้อต่อสัปดาห์ เพื่อประโยชน์ต่อร่างกาย” เครือข่ายคนไทยไร้พุง เสริม

มาถึงตรงนี้ ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการกองทุน สสส.กล่าวเสริมว่า สำหรับยุคเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงนี้ คนไทยควรหันมาบริโภคปลาน้ำจืด เพราะปลาน้ำจืดนั้นไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นปลาที่เพาะเลี้ยงได้ในประเทศ ทำให้มีราคาถูก อีกทั้งปลาทะเลนั้นต้องออกเรือไปจับนอกชายฝั่ง จึงมีต้นทุนในเรื่องของค่าน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการประมงบางรายไม่สามารถจะทนรับต้นทุนไหว

ดังนั้น การรณรงค์ให้ประชาชนหันมากินปลาน้ำจืด จึงเป็นเหมือนการช่วยชาติทางหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนซื้อปลาในราคาถูก แต่มีคุณค่าทางอาหารสูงไม่แพ้ปลาราคาแพง ทั้งยังช่วยป้องกันโรคอ้วน และโรคเรื้อรังต่างๆ นอกจากนี้แล้ว ยังช่วยส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้ ปลาน้ำจืดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับอาหารการกินที่เข้ากับภาวะบ้านเมืองในปัจจุบันที่เน้นประหยัดแต่ก็เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น