ไม่ว่าจะเป็นนอนหลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นอาการนอนไม่หลับ คนที่นอนไม่พอ ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลงและขาดสมาธิ เนื่องจากสมองล้า ร่างกายอ่อนเพลีย คนที่นอนไม่หลับเรื้อรังอาจมีความวิตกกังวล ตึงเครียดง่าย เมื่อถึงเวลานอนอาจถึงขั้นไม่อยากขึ้นเตียงเลยทีเดียว เพราะคอยแต่กังวลว่าคืนนี้จะนอนหลับไหม
การศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า คนที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง หรือนอนมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อคืนเป็นกิจวัตร มีอายุสั้นกว่าคนที่นอนหลับเป็นปกติ และคนที่นอนหลับไม่เพียงพอ ในอนาคตมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงมากขึ้น เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
เด็กในวัยเจริญเติบโตที่นอนดึกเป็นประจำ จะตัวเล็ก โตช้ากว่าเด็กที่นอนหลับสนิทเพียงพอ เพราะฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตจะหลั่งได้เต็มที่ขณะหลับลึก ร่างกายใช้ช่วงเวลานอนหลับในการบำรุงและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การนอนหลับให้เพียงพอจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต
สำหรับผู้ใหญ่ แพทย์แนะนำว่า โดยเฉลี่ยควรนอนให้ได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมง แต่ให้ข้อสังเกตว่าหากตื่นนอนแล้วรู้สึกสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย ไม่ง่วงเหงาหาวนอน สมองแจ่มใส ทำงานได้ตามปกติ สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้ดี ก็ถือว่าได้นอนเพียงพอแล้ว แม้จะไม่ถึง 7-8 ชั่วโมงก็ตาม
ลักษณะของการนอนไม่หลับ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1. นอนไม่หลับชั่วคราว ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดหรือความกังวลใจต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง
เช่น ทะเลาะกับแฟน มีปัญหากับเพื่อนที่ทำงาน ใกล้วันสอบหรือวันที่มีธุระสำคัญ การเจ็บป่วยฉับพลัน บางคนจะไวต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ตื่นตัวอยู่จนนอนไม่หลับ เช่น อากาศเปลี่ยน หรือการเดินทางเปลี่ยนสถานที่นอน ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน
2. นอนไม่หลับเป็นระยะๆ มักเป็นกลุ่มที่มีอาการต่อเนื่องจากกลุ่มที่ 1 เนื่องจากปัญหายังไม่คลี่คลาย
เช่น การตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว โดยทั่วไปถ้าปัญหาต่างๆ คลี่คลายลง การนอนหลับก็มักจะกลับมาเป็นปกติได้ แต่ทางที่ดีผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ว่ามีแนวทางแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื้อรัง
3. นอนไม่หลับเรื้อรัง มีอาการนอนไม่หลับเป็นประจำต่อเนื่องเกือบทุกคืน มีสาเหตุได้หลายอย่าง ได้แก่ อาการเจ็บป่วยทางกายต่างๆ เช่น โรคกระดูกเสื่อมทำให้ปวดตามตัว โรคหัวใจ โรคปอดหรือการไอเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนอน เช่น การนอนกรน การหายใจผิดปกติขณะหลับ กล้ามเนื้อขากระตุกเป็นพักๆ ระหว่างนอน หรือเป็นโรคทางจิตเวชต่างๆ เช่น โรคเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคจิต
บางคนอาจมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน กลุ่มนี้มักเกิดจากความเคยชินในการปฏิบัติตัว หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่รบกวนการนอนหลับ การได้รับยาหรือสารกระตุ้น เช่น เหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ ยากระตุ้นประสาท หรือยาลดความอ้วน ก็เป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน
เหล้า เป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยใช้เพื่อช่วยให้หลับ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อย
เช่นจิบก่อนอาหารหรือก่อนเข้านอน จะช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้หลับได้ แต่การดื่มในปริมาณมาก จะไปรบกวนการนอนหลับที่ต่อเนื่อง เนื่องจากแอลกอฮอล์จะกระตุ้นระบบประสาท ทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี ตื่นกลางดึก ฝันตึงเครียด เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ กดการหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
โดยเฉพาะผู้ที่นอนกรนอยู่แล้ว หรือกำลังรับประทานยาบางอย่างซึ่งมีฤทธิ์กดการหายใจร่วมด้วย ในผู้ที่ติดเหล้า เมื่อหยุดดื่มจะเกิดอาการประสาทหลอน นอนไม่หลับติดต่อกันหลายๆ วันได้
ผู้ที่นอนกรน หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ คนวัยกลางคนขึ้นไป และผู้หญิงหมดประจำเดือน
ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงก่อนเข้านอน
ส่วนกาเฟอีนในชา กาแฟ จะกระตุ้นประสาทให้ตื่นตัว ทำให้หลับได้ยากขึ้นและนอนได้น้อยลง โดยเฉลี่ยกาแฟ 1 แก้ว มีกาเฟอีนประมาณ 100 มิลลิกรัม ชา และ โคลา มีกาเฟอีนประมาณ 50-75 มิลลิกรัม ผลของกาเฟอีนอยู่ได้นาน 8-14 ชั่วโมงแตกต่างกันในแต่ละคน คนที่มีปัญหานอนหลับยาก จึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนช่วงเย็นถึงดึก และผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับรุนแรงควรงดคาเฟอีนเด็ดขาด 6-10 สัปดาห์ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น
สำหรับบุหรี่ มีสารนิโคตินซึ่งมีผลคล้ายคาเฟอีน ในช่วงที่มีนิโคตินในเลือดต่ำ (เมื่อสูบเพียงเล็กน้อย) จะมีผลกล่อมประสาท ช่วยให้ผ่อนคลายและง่วงหลับได้ แต่ในช่วงที่ความเข้มข้นของนิโคตินในเลือดสูง
(สูบติดต่อกันหลายมวน) จะกระตุ้นประสาทให้ตื่นตัว ไม่ง่วง การสูบบุหรี่ก่อนเข้านอนหรือเมื่อตื่นกลางดึก จึงทำให้หลับได้ยากขึ้น
คนที่ดื่มทั้งเหล้าและกาแฟ แถมสูบบุหรี่ คงไม่ต้องบอกว่าจะส่งผลต่อการนอนหลับอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะคนที่อายุ 45 ปีขึ้นไป จะมีผลรบกวนการนอนมากกว่าคนอายุน้อย
การรักษาอาการนอนไม่หลับต้องแก้ที่ต้นเหตุ ร่วมกับการฝึกให้มีสุขอนามัยการนอนร่วมกับการมีพฤติกรรมการนอนที่ดี ติดตามได้ในตอนต่อไปค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น