28 ก.ย. 2551

“นอนหลับ”กับ”จำศีล”ต่างกันอย่างไร? ตอนที่ 2

Sleep เมื่อโน้ตบุ๊กนอนหลับ

เมื่อโน้ตบุ๊กของเพื่อนๆ เข้าสู่โหมด Sleep พวกมันจะเก็บสถานะการทำงานเอาไว้ในหน่วยความจำระบบ (RAM) หน้าจอจะถูกปิดลง เพื่อประหยัดพลังงาน ฮาร์ดดิสก์ก็จะหยุดทำงาน รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ก็จะชัตดาวน์ตัวเองไปด้วย โดยอย่างน้อยที่สุดต้องมีพลังงานไฟฟ้าให้เหลือมากพอที่จะจ่ายให้ RAM ซึ่งทำหน้าที่เก็บสถานภาพการทำงานทั้งหมดก่อนเครื่องหลับ (sleep) เอาไว้นั่นเอง

ดังนั้น การเข้าโหมด Sleep จึงไม่ได้เป็นการปิดเครื่องโดยสมบูรณ์ ซึ่งการปลุกให้คอมพิวเตอร์ตื่นขึ้นจาก Sleep จะสามารถทำได้ทันที โดยชิ้นส่วนการทำงานต่างๆ ทีอยู่ในโน้ตบุ๊กจะกลับมาเริ่มทำงาน โดยดึงข้อมูลสถานะการทำงานจากหน่วยความจำ ซึ่งสะดวกมาก เพราะผู้ใชสามารถย้อนเวลาไปก่อนมันหลับได้ทันที

จุดอ่อนของ Sleep ก็คือ มันยังต้องมีการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ถ้าแบตฯ หมด ข้อมูลสถานะของการทำงานที่เก็บไว้ใน RAM ก็จะหายไปด้วย ข้อมูลที่ยังไม่ได้จัดเก็บไว้ก่อน Sleep ก็จะไม่อยูด้วยเช่นกัน

Hibernate จำศีล-ไม่ใช้พลังงาน

สำหรับโหมด Hibernate สถานะของการทำงานของคอมพิวเตอร์จะถูกจัดเก็บลงบนฮาร์ดดิสก์ ซึ่งเมื่อข้อมูลถูกจัดเก็บลงฮาร์ดดิสก์แล้ว มันก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อเก็บรักษาข้อมูลนั้นไว้เหมือนกับ RAM ในโหมด Sleep ดังนั้น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของคุณ เมื่อเข้าสู่ Hibernate มันก็จะปิดการทำงานของทั้งระบบโดยสมบูรณ์

การเริ่มต้นการทำงานของ Hibernate จะเหมือนกับผลลัพธ์ที่ได้จาก Sleep คอมพิวเตอร์จะเรียกคืนสถานะการทำงานที่จัดเก็บไว้ก่อนหน้านั้น กลับคืนมา อย่างไรก็ตาม การตื่นจากจำศีล หรือ hibernate จะใช้เวลานานกว่า Sleep ซึ่งทำให้ผู้ใช้อาจรู้สึกสะดวกน้อยกว่า แต่ขอดีก็คือ ไม่ต้องกังวลว่า แบตฯหมดแล้วข้อมูลจะหายไปด้วย

นายเกาเหลามีของแถมสำหรับผู้ใช้ Windows Vista มีฝากด้วยครับ เนื่องจากมันได้มีการเพิ่มลูกเล่นในโหมดการทำงานนี้เข้าไปด้วย เรียกว่า Hybrid Sleep โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Hibernate และ Sleep นั่นเอง เอ้า...งงล่ะสิ หลักการทำงานในโหมดนี้ก็คือ สถานะของการทำงานของคอมพิวเตอร์จะถูกจัดเก็บไว้ทั้งในหน่วยความจำ และฮาร์ดดิสก์ โดยยังคงมีใช้พลังงานกับ RAM ถ้าตอนปลุกให้มันตื่น ขณะที่แบตฯ ยังไม่หมด มันก็จะตื่นขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นการโหลดสถานะของการทำงานจาก RAM แต่ถ้าแบตหมดไปแล้ว ข้อมูลที่ใช้ในการตื่นคืนมาอีกครั้งก็จะดึงมาจากฮาร์ดดิสก์แบบ Hibernate นั่นเอง

Hibernate บ่อยๆ แล้วโน้ตบุ๊กจะอายุสั้น? นายเกาเหลาว่า คนที่ปล่อยข่าวนี้ คงจะเข้าใจอะไรผิด หรือเปล่า? เพราะการทำงานทั้ง Sleep และ Hibernate แทบไม่ได้ต่างกับการชัตดาวน์คอมพิวเตอร์สักเท่าไร แถมยังช่วยประหยัดพลังงานให้อีกต่างหาก คิดไปคิดมา นายเกาเหลายังไม่เห็นเหตุผลที่จะไม่ใช้โหมดการทำงานพวกนี้เลย โดยเฉพาะผู้ใช้โน้ตบุ๊กครับ สรุปฟันธงอีกครั้งก็แล้วกันนะครับว่า การใช้ Hibernate ไม่ได้ทำให้โน้ตบุ๊กอายุสั้นอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น