28 ก.ย. 2551

รู้และเข้าใจในการกินเจอย่างถูกต้อง

ตั้งแต่โบราณกาลนับเป็นพันๆ ปีจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันไม่ว่าโลกจะผันแปรไปในทิศทางใดก็ตาม คนจำนวนหลายพันหลายหมื่นครอบครัวที่ดำรงชีวิตอยู่ ด้วยการรับประทานแต่อาหารเจสืบทอดจากบรรพบุรุษก็ยังมีอยู่ให้พบเห็นได้ในทุกวันนี้

"อาหารเจ" เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากพืชผักธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปนและที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5 ได้แก่

กระเทียม
หัวหอม
หลักเกียว
กุ้ยฉ่าย
ใบยาสูบ

บรรพชนในแต่ละครัวเรือนของคนกินเจได้ถ่ายทอดหลักของการกินเจที่ถูกต้อง และศิลปะในการปรุงไว้ให้แก่ลูกหลานของตน สืบต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสาย คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาหารเจเป็นอาหารที่มีรสจืดชืดไม่อร่อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีโอกาสลิ้มรสอาหารเจที่แท้จริงก็เป็นได้ อาหารเจมีรสชาดอร่อยกลมกล่อมต่างไปจากอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเจไม่มีกลิ่นเหม็นคาวๆ ใดเลย อาหารเจบางอย่าง คนทั่วไปที่รับประทานแต่อาหารเนื้อจะไม่มีโอกาสรู้จักหรือได้ลิ้มรสเลยในชีวิต เนื่องด้วยอาหารเหล่านั้นทำขึ้นรับประทานกันเฉพาะในบรรดากลุ่มคนที่กินเจเท่านั้น บางคนมักคิดเอาเองว่า หากรับประทานแต่อาหารเจจะทำให้เป็นโรคขาดอาหาร แต่ทางการแพทย์กลับยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นคนที่กินอาหารเนื้อหรือคนที่กินเจ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคขาดอาหารได้เท่ากัน

สาเหตุสำคัญของโรคขาดอาหารในคนทั้ง 2 กลุ่ม ก็คือการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลัก บริโภคอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต แป้งและน้ำตาล โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ เป็นเหตุให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ไม่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าโรคขาดอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกินเนื้อหรือกินเจ แต่ขึ้นอยู่กับนิสัยกินตามใจ เลือกกินแต่อาหารที่ตนชอบ โดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ที่จะได้จากการรับประทานอาหารนั้นๆ ในความเป็นจริงแล้ว คนที่กินเจอย่างถูกหลักจะรู้สึกว่าตนได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่า มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่าคนที่บริโภคอาหารเนื้อเสียอีก

ผู้ที่ทดลองรับประทานอาหารเจได้ระยะหนึ่งถึงกับกล่าวว่า "การรับประทานอาหารเจ ทำให้มีโอกาสได้กินพืชผักที่มีคุณประโยชน์มากมายหลายชนิด ซึ่งในระหว่างที่รับประทานอาหารเนื้อไม่เคยใส่ใจเลย" คนกินเจ รู้จักวิธีดัดแปลงแปรรูปธัญพืชในธรรมชาติให้ได้มาซึ่งโปรตีน เราจะพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเมล็ดถั่วเหลืองมากมายหลายชนิด เช่น น้ำนมถั่วเหลือง (น้ำเต้าหู้) เต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง เต้าเจี้ยว น้ำมันถั่วเหลือง ซี่อิ๊ว ฟองเต้าหู้ ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งโปรตีนอันอุดมและมีคุณค่าสูงยิ่ง ทุกวันนี้ไม่ว่าเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ นิยมบริโภคแต่เนื้อสัตว์กันมากจนละเลยอาหารผักซึ่งมีคุณประโยชน์สูงไปอย่างน่าเสียดาย หลายคนมีนิสัยเลือกรับประทานเฉพาะเนื้อสัตว์แล้วเขี่ยผักทิ้งไม่ยอมบริโภค นี้แหละเป็นสาเหตุสำคัญของโรคขาดสารอาหาร ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารครบตามที่ต้องการ จะพบว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ทานผักน้อยหรือไม่ทานเลยมักป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคขาดอาหาร ขาดวิตามิน โรคกระเพาะ โรคเกี่ยวกับลำไล้และทางเดินอาหาร สุขภาพไม่แข็งแรง เชื่องซึม ไม่เฉลียวฉลาด ขาดปฏิภาณไหวพริบ สติปัญญาต่ำ พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจไม่สมบูรณ์

ประจักษ์พยานสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความล้ำค่าของอาหารเจก็คือ บรรดาครอบครัวของผู้ที่กินเจตั้งแต่บรรพบุรุษสืบต่อกันลงมาหลายชั่วคน ก็ยังคงมีให้เราพบเห็นอยู่จนทุกวันนี้ จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งต่อเนื่องกัน หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องดีงามและทรงคุณค่า ก็ยังอยู่เป็นอมตะไม่เปลี่ยนแปลง ทุกๆ คน ทุกๆ ครอบครัวที่บริโภคแต่อาหารเจ ล้วนมีพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคร้ายแรงเบียดเบียน และสามารถปฏิบัติภาระกิจการงานได้เป็นอย่างดี แม้แต่ทารกที่เกิดจากมารดาซึ่งกินเจอย่างถูกหลัก ก็ไม่พบว่าขาดสารอาหารแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เด็กๆ ทุกคนล้วนมีร่างกายแข็งแรงสุขภาพอนามัยดีไม่เป็นโรคติดต่อใดๆ ได้ง่าย มีภูมิต้านทานสูง จิตใจเบิกบาน ร่าเริงสดใส เฉลียวฉลาด ปฏิภาณไหวพริบ สติปัญญาดี เพราะฉะนั้นคนเราถึงจะมีฐานะดี ร่ำรวยมหาศาล แต่หากไม่รู้จักรับประทานอาหารให้ถูกต้องครบถ้วน ก็เป็นโรคขาดสารอาหารได้พอๆ กับคนยากจนอดอยากที่ไม่มีจะกิน

ไม่ว่าท่านจะกินเนื้อหรือกินเจ หากกินไม่ถูกต้องก็มีสิทธิ์เป็นโรคขาดอาหารได้เท่ากัน พึงตะหนักไว้อยู่เสมอว่า "ทรัพย์สินเงินทองซื้อสุขภาพไม่ได้ สุขภาพที่ดีขึ้นอยู่กับการรู้จักปฏิบัติตัวของท่านเอง" แม้ในปัจจุบันนี้ จะเป็นโลกของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ล้ำยุค แต่การค้นพบความเร้นลับต่างๆ ในธรรมชาติ ได้กลับกลายมาเป็นข้อพิสูจน์ยืนยันให้แก่หลักเกณฑ์ของการกินเจที่มีมานานนับเป็นพันๆ ปี ได้อย่างเหมาะสมคล้องจองจนแทบไม่น่าเชื่อ ฉะนั้น เราควรหันมาศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า "คนกินเจ" เขามีหลักปฏิบัติอันสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น