30 พ.ย. 2551

เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับ “ตับ” ที่คุณอาจยังไม่รู้จัก

“แย่แล้ว! หมอบอกว่าอั๊วะตับแข็ง ทำไงดี? ทำไมเป็นอย่างนั้นไปได้? อายุก็ยังไม่เท่าไหร่ แค่สามสิบฝ่าๆ เท่านั้นเป็นไปได้ยังไงเนี่ย? อะไรเป็นสาเหตุ? และเราสามารถรักษาให้มันหายขาดได้มั้ย? แล้วจะตายมั้ย.....ทำไงดี?” ถ้าคุณหรือคนใกล้ชิดเป็นคนหนึ่งที่มีคำถามแบบนี้ ลองอ่านบทความข้างล่างดู อ่านพอได้ไอเดียครับ ตับเป็นอวัยวะของร่างกายชิ้นหนึ่ง ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ อยู่บริเวณใต้ชายโครงขวา ซึ่งเวลาแพทย์จะตรวจดูตับของเรา จะให้เรานอนหงาย หายใจเข้าออกลึกๆ และใช้มือคลำบริเวณใต้ชายโครงขวา ตับมีหน้าที่หลายอย่าง ทั้งในการสร้างสรรค์สารต่างๆ ที่จำเป็น เช่น โปรตีนอัลบูมิน สารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษที่ยากต่อการเข้าใจว่า coagulation factors น้ำย่อยหลายชนิด ต่างๆ เหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นจากตับ เท่านั้นยังไม่พอ ตับยังทำหน้าที่ในการทำลายสารพิษต่างๆ ที่ร่างกายรับเข้าไปจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นจากการกิน หรือเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการอื่น เช่น การฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือด เวลาเกิดตับแข็ง ตับมักจะเล็กลงกว่าปกติ แต่เวลาเกิดตับอักเสบ ตับมักจะมีขนาดโตขึ้น

โรคที่เกิดกับตับที่คุณรู้จักกันโดยทั่วไป คือ โรคตับแข็ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ กระแช่ หรือแม้แต่ยาดอง หากดื่มในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานๆ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ ภาวะตับแข็ง อาการที่ปรากฏโดยทั่วไป คือ การที่มีการที่มีตัวเหลือง ตาเหลือง ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดีซ่าน” เกิดจากการที่ตับถูกทำร้ายด้วยแอลกอฮอล์แล้วทำให้เกิดการอักเสบซ้ำๆ ส่วนใหญ่หากเกิดภาวะตับแข็งแล้ว ตับเสียแล้วเสียเลย จะให้หายหรือดีขึ้นคงยาก สิ่งที่ทำได้คือ พยายามให้มันทรงสภาพเดิมอยู่ให้ได้ ไม่ให้แย่ลงกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตามภาวะตับแข็งอาจเกิดจากหลายสาเหตุไม่เฉพาะจากการดื่มแอลกอฮอล์เสมอไป เช่น การได้รับสารพิษ (สารเคมีบางชนิด เช่น คาร์บอนเตตราคลอไรด์) การติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ (เช่น ไวรัสตับอักเสบบี หรือซี)

ตับนั้นเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือดหลายอย่าง เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่เคยเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดมาก่อน (สมัยที่อยู่ในท้องแม่) ที่จะสร้างที่ไขกระดูกเมื่อคลอดออกมาแล้ว หรืออย่าง ภาวะดีซ่าน ที่อาจสามารถปรากฏให้เห็นได้กรณีที่มีเม็ดเลือดแดงแตก โดยที่ไม่ได้เป็นโรคตับเลย แต่เกิดจากสารบิลลิลูบินที่เกิดขึ้นมีสีเหลือง แล้วไปจับที่บริเวณตาขาวและผิวหนัง หรือกรณีที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือด หรือมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองก็สามารถทำให้ตับโตขึ้นมาได้เช่นกันโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจาง (ซีด) ทางพันธุกรรมที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย สามารถทำให้ตับโต รวมทั้งทำให้เกิดภาวะดีซ่านได้จากการที่มีเม็ดเลือดแดงแตกมากๆ เป็นเวลานานๆ ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีรูปร่างหน้าตาผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถคงสภาพความเป็นเม็ดเลือดได้เท่ากับเซลล์ที่ปกติ การแตกของเม็ดเลือดนี้เองยังก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่าง เนื่องจากในเม็ดเลือดแดงมีสารหลายอย่างอยู่ภายใน เช่น สารบิลลิลูบิน การสะสมมากๆ อาจทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ มีสารโฟลิกที่จำเป็นในการสร้างสารพันธุกรรม หากมีการแตกมากๆ ร่างกายก็ต้องการโฟลิกในปริมาณที่มากขึ้น การแตกของเม็ดเลือดมีสารอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา คือ ธาตุเหล็ก เหล็กเป็นโลหะหนักที่ร่างกายต้องการ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดง อยู่ในส่วนประกอบที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน ซึ่งจะเป็นตัวที่จับกับออกซิเจน และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเอนไซม์และเซลล์หลายชนิด การแตกของเม็ดเลือดแดงจะทำให้ธาตุเหล็กที่อยู่ภายในออกมาในกระแสเลือด

ปัญหาที่สำคัญก็คือ ร่างกายมีขบวนการในการกำจัดธาตุเหล็กหากมีมากเกินไปได้ในปริมาณที่จำกัด และเมื่อมีการสะสมธาตุเหล็กมากๆ ร่างกายก็จะเกิดปัญหาได้หลายอย่าง อวัยวะหลักที่ธาตุเหล็กจะไปสะสม คือ ม้ามและตับ การที่เหล็กไปสะสมที่ม้ามมากๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหากับร่างกายมากนัก เนื่องจากม้ามไม่ได้มีบทบาทมากมายในร่างกายมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่หากธาตุเหล็กไปสะสมที่ตับมากๆ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ เกิดภาวะตับแข็ง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นก็จะเหมือนกับตับแข็งที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากๆ เช่นกัน จะมีอาการดีซ่าน มีน้ำในช่องท้องและช่องปอด หากเป็นมากๆ ก็จะมีท้องโต บวมน้ำ เป็นต้น (ซึ่งแตกต่างจากโฟลิกนะครับ เนื่องจากพอเม็ดเลือดแตก ก็จะมีการสลายและกำจัดออกไปทางปัสสาวะหมด จึงต้องมีการรับประทานเพิ่มเติม)ธาตุเหล็กที่มีมากเกิดความต้องการของร่างกาย เนื่องจากไม่สามารถกำจัดได้ในปริมาณที่มากพอ การสะสมไม่ใช่ว่าจะสะสมที่ตับและม้ามเพียงเท่านั้น มันยังไปสะสมที่ตับอ่อน ที่หัวใจ และที่บริเวณผิวหนัง ได้ด้วย อยากทราบไหมครับว่ามันทำให้เกิดโรคได้หรือไม่? ไม่ต้องสงสัยเลยครับ เวลาที่เหล็กไปสะสมที่ตับอ่อน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ จะเกิดการทำลายของเซลล์ของตับอ่อนบางชนิด ทำให้เกิดโรคเบาหวาน เนื่องจากเซลล์ไม่สามารถสร้างอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด

โดยทำให้น้ำตาลสามารถถูกเซลล์นำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานภายในได้ธาตุเหล็ก หากสะสมที่หัวใจมากๆ ปัญหาที่เกิดตามมาคือ กล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลาย และไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ความยืดหยุ่นของหัวใจเสียไป ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจได้ หากสะสมที่ผิวหนังก็จะทำให้ผิวหนังมีสีดำเข้ม เป็นมัน และหากสะสมมากๆ ก็จะทำให้เกิดแผลเรื้อรังบริเวณขาและหน้าแข้ง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเลือดไปเลี้ยงน้อย สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ แผลนั้นจะไม่ยอมหายสักที รักษากันเป็นปีๆ บางครั้งยังไม่หายเลย หากเกิดการติดเชื้อที่รุนแรง อาจต้องถึงขั้นตัดขาทิ้ง หรืออาจเสียชีวิตได้หากมีการติดเชื้อในกระแสเลือดแผนการรักษาปัจจุบันคือ พยายามให้ยาเอาธาตุเหล็กออกจากร่างกายให้มากที่สุด และพยายามหลีกเลี่ยงการได้รับเหล็กเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา หรือการให้เลือด ที่จะทำให้มีการสะสมของเหล็กมากเกินไป รายละเอียดในเรื่องนี้มีอยู่มากมาย เอาไว้มีโอกาสจะถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ทราบต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น