30 พ.ย. 2551

BMI สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพของคนไทย?

มาริสาและซาห์ร่า 2 สาวเพื่อนซี้ต่างเชื้อชาติ เพ่งมองตัวเลขที่ปรากฏตรงหน้าตัวเองอย่างสนใจ หลังจากชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง แล้วนำไปคำนวณตามเกณฑ์ดัชนีมวลกาย เพื่อดูว่าทั้งสองคนมีสัดส่วน อ้วน ผอม เพียงใด

18 คือตัวเลขของมาริสา ส่วน 20.5 เป็นของซาห์ร่า

จากตัวเลข 18 มาริสาได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ว่า เธอควรดูแลตัวเองให้มากขึ้นทั้งเรื่องของการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย เพราะอยู่ในเกณฑ์ผอม ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ส่วนซาห์ร่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็ต้องระมัดระวังมิให้ตัวเลขสูงไปกว่านี้เช่นกัน

ทั้งสองคนจากเจ้าหน้าที่คนนั้นมาโดยตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า ตัวเลขนี้เชื่อถือได้เพียงใด และใช้ได้กับคนทุกเชื้อชาติหรือไม่

การใช้ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) หรือ BMI

เป็นวิธีหนึ่งของการประเมินปริมาณไขมันในร่างกายที่นิยมใช้กันทั่วไป เพื่อประเมินภาวะอ้วนผอมในบุคคลอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยใช้สมการ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)ส่วนสูง (เมตร) แล้วเปรียบเทียบกับค่าที่กำหนดไว้

น้อยกว่า 18.5 = ผอม
ระหว่าง 18.5 –24.9 = สมส่วน
ระหว่าง 25 -29.9 = น้ำหนักเกิน
มากกว่า 30 = อ้วน
มากกว่า 40 = อ้วนอันตราย

จากการวิจัยทางการแพทย์พบว่า คนอ้วนจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด ในขณะที่คนผอมนั้นประสิทธิภาพในการทำงานลดลง การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยมีดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5-24.9 จึงเป็นสิ่งที่การแพทย์แนะนำให้ทุกคนควรปฏิบัติ

ค่าไหนเหมาะสมสำหรับคนไทย?

เหตุที่ดัชนีมวลกายได้รับความนิยมมาก แม้เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นและบอกได้โดยประมาณก็ตาม ผศ.ดร.วงสวาท โกศัลวัฒน์ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เป็นเพราะดัชนีมวลกายเป็นดัชนีที่มีความสัมพันธ์กับระดับไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังในร่างกายของเราค่อนข้างดีที่สุด สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

ต่อมาได้มีการศึกษาพบถึงความสัมพันธ์ระหว่างค่า BMI กับอัตราเสี่ยงของการตายด้วยโรคต่าง ๆ เป็นรูปตัว J นั่นคือคนที่มี BMI ต่ำ จะเสี่ยงจากการตายด้วยโรคติดเชื้อ เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ ขณะที่คนที่มี BMI สูง ก็เสี่ยงจากการตายด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น และผลสรุปจากการศึกษาพบว่า คนที่มีความเสี่ยงจากการเป็นโรคต่าง ๆ น้อยที่สุดมีค่า BMI อยู่ที่ 20-24.9

อย่างไรก็ตาม ค่า BMI 20-24.9 พัฒนาขึ้นมาจากการวิจัยทางด้านองค์ประกอบร่างกายของชาวตะวันตก ซึ่งมีลักษณะและโครงสร้างร่างกายแตกต่างชาวเอเชีย จึงมีการศึกษาในคนเอเชีย ก็ค้นพบว่า BMI ที่ 20 บางครั้งยังสูงไปสำหรับคนเอเชีย จึงมีการศึกษาทางด้านภาวะการขาดพลังงาน ซึ่งมีผลต่อสมรรถภาพการทำงาน ได้ค้นพบว่า ค่า BMI น่าจะลงต่ำได้ถึง 18.5 ถ้าค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ถือว่าอยู่ในภาวะขาดพลังงานเรื้อรัง “คนที่มีค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ถือว่ากำลังกินทุนของตัวเอง ถ้าคนนี้ป่วยแล้วจะป่วยหนัก เนื่องจากใช้ต้นทุนของตัวเองอยู่” ดร.วงสวาทกล่าว

จากผลการศึกษาดังกล่าว องค์การอนามัยโลกจึงประกาศค่า BMI ที่เหมาะสมสำหรับคนทั่วไปเป็น 18.5-24.9

นอกจากอ้วน BMI บอกอะไรได้อีก?

มีรายงานว่า ปริมาณไขมันที่มากเกินไปมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตและไขมันในเลือด นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงความสัมพันธ์กันระหว่างเด็กอ้วนกับผู้ใหญ่อ้วน โดยเฉพาะเด็กที่ย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น บ่งชี้ว่า ปริมาณไขมันในเด็กและวัยหนุ่มสาวเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ อาทิ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

จากการศึกษาปัญหาโรคอ้วนในคนเอเชีย พบว่าในคนเอเชียที่มีโครงสร้างที่เล็กกว่า มีรูปแบบของการสะสมไขมันในร่างกายแตกต่างจากคนผิวขาว นั่นคือคนเอเชียแม้มี BMI ต่ำ ๆ ก็ดูว่าอ้วนแล้ว

ประกอบกับมีการศึกษาโดยองค์การอนามัยโลก ที่รวบรวมข้อมูลของคนเอเชียทั้งหมด รวมทั้งของไทยด้วย เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างค่า BMI กับปริมาณของไขมันในร่างกาย พบว่า คนผิวขาวและคนเอเชียที่มีค่า BMI เท่ากัน ปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายต่างกัน จึงมีการถอยค่า BMI มาอยู่ที่ 18-23, 23-24.9, 25-29.9, มากกว่า 30 และ มากกว่า 40

“พอดีมีประเด็นของคนไทยเราที่เป็นผลพลอยได้จากการศึกษาที่ขอนแก่นโดยทีมของคุณหมอรัชตะ ดูภาวะโภชนาการกับความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งเครื่องมือที่วัดสามารถวัดปริมาณไขมันได้ด้วย คือบอกสัดส่วนของร่างกายและปริมาณไขมัน เรามีข้อมูลของคนขอนแก่นและข้อมูลของคนกรุงเทพ แล้วเอาไปเข้าสมการดูว่า ก็พบว่าคนกรุงเทพที่มีค่า BMI เท่ากับคนผิวขาว จะมีไขมันมากกว่า ซึ่งเท่ากับว่า ค่า BMI ของคนไทยถึงจะไม่สูง ก็ถือว่าอ้วนแล้ว ทีนี้พอมาดูคนขอนแก่นเราพบว่า BMI ที่เท่ากับคนผิวขาว ปริมาณไขมันก็เท่ากันด้วย เราจึงหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็พบว่า น่าจะมาจากการออกกำลังกาย เนื่องจากบุคคลที่เราวัดเป็นเกษตรกร เพราะหากออกกำลังกายมาก การสะสมไขมันในร่างกายของก็จะน้อย จึงเป็นจุดที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ว่า หากใช้ค่า BMI ที่เป็นตัวเลขเดียว จะไม่ได้ค่าที่แม่นยำ ควรพิจารณาค่าอย่างอื่นประกอบด้วย”

ดร.วงสวาท กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ค่า BMI จึงเป็นค่าที่บอกเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ รวมถึงใช้ในเรื่องของการกำหนดแผนการทำงาน เช่น ถ้า BMI ของกลุ่มประชากรมาถึงระดับนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีกิจกรรมอะไรบ้างในการเฝ้าระวังหรือรักษา

ดร.วงสวาทกล่าวถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของไทย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน นำโดยนายแพทย์ไพบูลย์ สุริยวงศ์ไพศาล โดยนำข้อมูลของอินเตอร์เอเชียจากการสำรวจหลาย ๆ ภาค หลายจังหวัด มาพิจารณา

“เราเอาค่า BMI ของคนสุพรรณบุรีมาดู แล้วทำนายอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคโดยลองใช้ค่า BMI ใหม่ที่บอกว่าควรอยู่ระหว่าง 18.5-23 และ 23-24.9 และ 25 ขึ้นไป และก็ 30 เราพบว่าพอค่า BMI ที่ 23 ก็เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานแล้ว ขณะที่โรคไขมันในเลือดสูง ค่า BMI อยู่ที่ 25 นั่นแสดงว่า คนที่มีค่า BMI 25 มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายชนิด”

เมื่อพบว่าเบาหวานเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคความดันโลหิตและไขมันในเส้นเลือดสูง ดังนั้นเบาหวานก็คือตัวที่ต้องเฝ้าระวัง นั่นคือความสำคัญของค่า BMI ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงของการเกิดโรคด้วย

BMI กับการลงพุง

เพื่อเพิ่มค่าความแม่นยำและเที่ยงตรงในการพยากรณ์โรคที่เกี่ยวเนื่องกับความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้มีการนำ การวัดเส้นรอบเอว มาใช้เป็นตัวชี้วัดประกอบอีกอันหนึ่ง ด้วยมีการค้นพบว่า คนอ้วนโดยเฉพาะบริเวณท้องหรืออ้วนลงพุง เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูงมากกว่าคนที่อ้วนปกติ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาหาเหตุผลกันอยู่ว่า เหตุใดไขมันที่ไปอยู่บริเวณหน้าท้อง จึงส่งผลต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานเพิ่ม

BMI กับเด็กวัยรุ่น

ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นหญิงที่กำลังนิยมความผอม ดร.วงสวาทเสนอความคิดเห็นว่า สามารถใช้ค่า BMI มาพิจารณาได้ว่า ถ้าหากต่ำกว่า 18.5 ถือว่าอยู่ในอันตราย เนื่องจากเด็กเหล่านั้นอยู่ในภาวะขาดพลังงานรุนแรงและเรื้อรัง เสี่ยงต่อการตายด้วยโรคติดเชื้อทั้งหลาย เพราะกำลังขาดภูมิต้านทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรวางแผนงานและจัดกิจกรรมที่เหมาะสมเข้าไปแก้ไขปัญหา

เมื่อใดที่ BMI จะเป็นคำตอบหลัก

แม้จะพบความสัมพันธ์ของค่า BMI กับภาวะเสี่ยงของการเกิดโรคอันเนื่องมาจากพฤติกรรมแต่ในงานวิจัยโดยทั่วไป มักใช้ค่า BMI เป็นตัวตั้งคำถามของการวิจัยรอง เมื่อต้องการหาคำตอบว่า BMI สามารถเป็นตัวชี้วัดภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ได้หรือไม่ อย่างไร ดร.วงสวาทจึงเสนอว่า ต้องเอา BMI เป็นคำถามหลัก รวมทั้งต้องมีการศึกษาหาค่า BMI ที่เหมาะสมสำหรับคนไทยอย่างเป็นระบบและจริงจัง เพราะการศึกษาที่มีอยู่ ไม่ได้เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของค่า BMI ที่มีต่อคนไทยที่เห็นชัดเจนที่สุดขณะนี้ก็คือ เป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่า ตัวเองนั้นอ้วนแล้วหรือยัง ตัวเองเสี่ยงต่อการเป็นโรคหรือเปล่า และดูแลตัวเองดีหรือยัง

1 ความคิดเห็น: