9 ธ.ค. 2551

ฉี่บ่อย ระวัง โรคร้าย ถามหา

นพ.วสันต์ เศรษฐวงศ์ หน่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลเลิดสิน อธิบายว่า อาการปัสสาวะบ่อย ในทางการแพทย์ หมายถึง ปัสสาวะมากกว่า 6 ครั้งในตอนกลางวัน หรือ มากกว่า 2 ครั้งในตอนกลางคืนหลังเข้านอน

คนที่อายุมากขึ้น โอกาสพบปัสสาวะบ่อยก็มากขึ้นด้วย โดยคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี มีโอกาสพบ 4% ในขณะที่คนอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสพบถึง 15% ซึ่งอาการปัสสาวะบ่อยในคนหนุ่มสาวมักจะหาสาเหตุได้ง่ายกว่าในผู้สูงอายุที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ

ปัจจัยหรือสาเหตุของอาการปัสสาวะ

บ่อยมีดังนี้กลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรค เกิดจาก การดื่มน้ำมาก ทำงานในสภาวะอากาศที่เย็น ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีภาวะเครียด หรือการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่มที่เป็นโรค

แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1. ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน โรคเบาจืด

2. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะโดยตรง เช่น

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักเกิดขึ้นหลังจากกลั้นปัสสาวะนาน ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย แสบขัด ไม่สุด ปวดท้องน้อย และอาจมีเลือดปนออกมา ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการอักเสบอาจลุกลามไปที่กรวยไต ผู้ป่วยอาจมีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ พบในผู้ชายมากกว่า ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะขัด ๆ ไม่พุ่ง หยุดสะดุดเป็นช่วง ๆ ระหว่างปัสสาวะ เมื่อตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดแดง เอกซเรย์จะพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ พบบ่อยในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะเป็นเลือดเพียงอย่างเดียว โดย ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย แต่บางครั้งอาจมีปัสสาวะบ่อย แสบขัด ต้องอาศัยการตรวจรังสีวินิจฉัย หรือส่องกล้อง

กระเพาะปัสสาวะทำงานไม่เสถียร หรือ โอเอบี เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 10 เท่า ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยมาก อาจถึง 30 ครั้งต่อวัน กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะแต่ละครั้งออกไม่มาก บางรายอาจปัสสาวะไม่สุด ปวดท้องน้อยร่วมด้วย อาการดังกล่าวมักเป็นมานานแล้ว เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการทำงานที่ไวผิดปกติของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ

นอกจากนี้อาการปัสสาวะบ่อย อาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะข้างเคียง ที่มีผลต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เช่น นิ่ว ในท่อไตส่วนล่าง ท่อปัสสาวะอักเสบจากโรคหนองในแท้ และหนองในเทียมท่อปัสสาวะ ฝ่อหลังวัยทองในผู้หญิง ต่อมลูกหมากโตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง และท้องผูกเรื้อรัง

การวินิจฉัยโรค แพทย์จะอาศัยการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจรังสีวินิจฉัย หรือการตรวจด้วยวิธีพิเศษ

การรักษาอาการปัสสาวะบ่อยนั้น ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุ โรคบาง ชนิดทานยาก็หาย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานไม่เสถียร แต่บางชนิดอาจจะต้องผ่าตัด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นโรคก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากที่เคยดื่มน้ำมาก ก่อนนอนก็ต้องงดหรือดื่มน้อยลง ท้ายนี้ขอแนะนำ ว่า คนที่มีอาการปัสสาวะบ่อยควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะรักษาแต่เนิ่น ๆ นอกจากจะทำให้ชีวิตมีความสุขแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคร้ายให้หายขาดอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น