5 มี.ค. 2552

หินปูนเกาะกระดูก

ภาวะหินปูนเกาะกระดูก จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อกระดูกมีความเสื่อม แตก หัก เสียหาย โดยร่างกายจะดึงแคลเซียมไปซ่อมแซมในส่วนนั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วการซ่อมแซมโดยธรรมชาตินี้มักจะทำให้รูปร่างกระดูกบริเวณนั้นเสียรูปทรง กลายเป็นแคลเซียมที่พอกพูนนูนผิดธรรมชาติ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า Bony Spur หรือ Osteophyte แปลตรงตัวได้ว่า กระดูกงอก ซึ่งเป็นคนละอย่างกับหินปูนที่เกาะตามซอกฟันนะคะ

อันตรายจากภาวะกระดูกงอกที่อาจเกิดขึ้นได้ มีอาทิ กระดูกงอกทิ่มกล้ามเนื้อ กระดูกงอกทับหรือทิ่มเส้นประสาท ความรุนแรงขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิด ซึ่งอาจเกิดได้กับกระดูกทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่กะโหลกศีรษะ ลงมาถึงกระดูกแขน ขา ข้อต่อต่างๆ และซี่โครง เป็นต้น แต่ที่พบมากคือกระดูกไหล่และกระดูกสันหลัง เมื่อเกิดภาวะนี้คุณอาจต้องเจ็บปวดทรมาน เดินเหินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ไม่สะดวก หากไม่รักษาปล่อยทิ้งเรื้อรังอาจทำให้อวัยวะนั้นๆ ใช้การไม่ได้เหมือนปกติ วิธีสังเกตความเสี่ยง นอกจากความเจ็บปวดที่อาจเป็นสัญญาณเตือนแล้ว ให้ลองสัมผัสกระดูกส่วนต่างๆ ดูว่ามีการงอก ปูด โปนผิดปกติหรือไม่ หากสัมผัสพบความผิดปกติพร้อมความเจ็บปวด ควรพบแพทย์เพื่อเอ็กซเรย์ดูให้แน่ชัดค่ะ
ใครคือกลุ่มเสี่ยง

ร่างกายคนเราเริ่มมีการสะสมแคลเซียมตั้งแต่ครั้งเป็นตัวอ่อนในครรภ์ ถ้าไม่ได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอตั้งแต่เด็กโดยเฉพาะในเพศหญิงเมื่อถึงวัยหลังหมดประจำเดือน จะส่งผลกระทบโดยตรง เสี่ยงทั้งภาวะหินปูนเกาะกระดูก กระดูกพรุน และกระดูกเสื่อม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงภาวะผิดปกติของกระดูกเมื่อถึงวัยสูงอายุ คือ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ตรวจค่าความหนาแน่นมวลกระดูกเสมอ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้กระดูกเก็บแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนวัยอื่นๆ จะไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงโรคกระดูก ยังมีอาการที่คล้ายกับหินปูนเกาะกระดูกเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น

วัยเด็กและวัยรุ่น : ในช่วงที่กระดูกเติบโตยังไม่เต็มที่หรือช่วงที่เด็กยังไม่หยุดสูง กระดูกจะยังมีความยืดหยุ่น หากได้รับแรงกระแทกหรือแรงดึงบ่อยๆ จากการออกกำลังกายอย่างหักโหม จะทำให้กระดูกข้อต่องอกและยืดผิดรูปจนเกิดความเจ็บปวดหรือเคลื่อนไหวลำบาก หากไม่รีบทำการรักษาจะทำให้โครงสร้างร่างกายส่วนนั้นๆ ผิดปกติได้

วัยทำงาน : วัยที่ร่างกายแข็งแรง กระดูกเติบโตเต็มที่ มักเกิดความเสี่ยงจากการทำงานมากกว่าสาเหตุอื่น คือเป็นกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ที่คนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มักเป็นกัน ทั้งอาการเจ็บตามไหล่ แขน ข้อมือ ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นความผิดปกติของกระดูก แต่ความจริงแล้วเป็นอาการของกล้ามเนื้ออักเสบมากกว่า แต่คนวัยนี้ก็มีเปอร์เซ็นต์การเกิดหินปูนเกาะกระดูกได้ (แม้จะน้อยมาก) โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือขยับร่างกายน้อย
จะทำอย่างไรเมื่อหินปูนเกาะกระดูก

มีวิธีรักษาภาวะหินปูนเกาะกระดูกอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1. ผ่าตัด 2. ให้ยาต้านการอักเสบ และ 3. การทำกายภาพบำบัด โดยหลักการรักษาจะเป็นแบบรักษาตามอาการ เมื่อเจ็บปวดจึงรักษา หมายความว่า แม้จะเอ็กซเรย์พบว่ามีหินปูนงอกจากกระดูกจริง แต่หากผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บปวดทรมาน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดหรือรักษา เพราะนั่นอาจจะให้เกิดความเสี่ยงอื่นตามมาได้ และนอกจากจะรักษาตามอาการแล้ว ต้องพิจารณาว่าอาการนั้นเกิดขึ้นกับกระดูกส่วนไหน ส่งผลต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินความเหมาะสมในการรักษาต่อไป

ส่วนเรื่องระยะเวลานั้น บางรายอาจรักษาด้วยการกินยาเพียงสัปดาห์เดียวก็หาย ในขณะที่บางคนต้องผ่าตัด บางรายอาจแค่ทำกายภาพบำบัด หรือบางคนอาจเจอแจ๊คพอตรักษาทั้ง 3 วิธี ขึ้นอยู่กับอาการและวิจารณญาณของแพทย์ แต่ที่มีการโฆษณาออนไลน์ว่ามีตัวยาช่วยละลายหินปูนเกาะกระดูกได้นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขออย่าหลงเชื่อและหามาใช้ผิดๆ เพราะอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
แหล่ง “แคลเซียม” จากอาหาร

แคลเซียมมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต พบในร่างกายมนุษย์ผู้ใหญ่มากถึง 1.5-2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว และ 99 เปอร์เซ็นต์ปรากฎอยู่ในรูปของกระดูกและฟัน หลังจากร่างกายดูดซึมแคลเซียมแล้วจะลำเลียงไปเก็บที่กระดูก และเมื่อใดที่แคลเซียมในเลือดต่ำ ทั้งไม่ได้รับเพิ่มเติมอย่างเพียงพอจากอาหาร แคลเซียมในกระดูกจะถูกดึงออกมาใช้ทดแทน เป็นจุดเริ่มต้นของโรคกระดูกมากมายตามมา

อาหารไทยโดยส่วนใหญ่แม้จะมีปริมาณแคลเซียมที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่ถึงขั้นเพียงพอต่อความต้องการ (อ่านปริมาณแคลเซียมที่ต้องการในแต่ละวัยได้ในเล่ม) ผู้บริโภคต้องได้รับแคลเซียมจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม การดื่มนมวันละ 2 แก้ว แก้วละ 200 มิลลิลิตร จะให้ปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอต่อความต้องการในหนึ่งวันค่ะ

นอกจากนมแล้ว ยังมีแหล่งแคลเซียมที่ดีอีกมากมาย เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้หรือดื่มนมวัวไม่ได้ เพราะขาดเอนไซม์ย่อยน้ำนม อาหารจึงเป็นหนทางสำคัญในการนำแคลเซียมสู่ร่างกาย (ดูตารางอาหารที่ให้แคลเซียมได้ในเล่ม)

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมคือ การบริโภคแคลเซียมจะได้ผลดีที่สุดก่อนอายุ 30 ปี หลังจากนั้นแคลเซียมที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายจะมีผลเพียงแค่ซ่อมแซม ไม่ใช่สร้างเสริมอีกต่อไป อย่ารอให้กระดูกเสื่อมเสียก่อนแล้วค่อยมารักษา เรื่องแบบนี้กันไว้ย่อมดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น