ปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้น ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
1.อารมณ์วิตกกังวล
อาจพบในระยะแรกของโรคเกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าตนป่วยเป็นโรคอะไร สาเหตุจากอะไร ต้องรักษาอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายมากน้อยเท่าไร รักษาหายหรือไม่
อาจแสดงออกมาทางร่างกาย คือ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ พฤติกรรมถดถอยเหมือนเด็ก
2.อารมณ์เศร้า
ผู้ป่วยเกิดความเบื่อหน่าย ผิดหวัง แยกตัว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
เบื่อกิจกรรมทุกอย่าง ซึมเศร้า ท้อแท้ อยากตาย
มักคิดว่าตนเองไม่มีโอกาส ไม่มีความหวังอีกต่อไปอยู่ไปก็เป็นภาระของครอบครัว ทำให้ทุกคนลำบาก
รู้สึกตนเองไม่มีค่า และมีความผิดที่เป็นแบบนี้
3.พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
พฤติกรรมต่อต้าน ปฏิเสธการดูแลจากคนอื่น ไม่ยอมให้ช่วยเหลือ ไม่ยอมกินข้าวหรือฉีดยา
พฤติกรรมถดถอย อ้อน เรียกร้องความช่วยเหลือทั้งๆที่ตนเองทำได้
พฤติกรรมก้าวร้าว ควบคุมตนเองไม่ได้ เอาแต่ใจเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองทันทีก็เกิดการโกรธ และแสดงความก้าวร้าวต่อผูรักษาหรือญาติพี่น้อง
พฤติกรรมนอนไม่หลับ
พฤติกรรมหลีกเลี่ยง เพราะเชื่อว่าจะทำให้โรคแย่ลง ไม่กล้าทำงาน ไม่กล้าเดินทาง ไม่กล้าไปไหนคนเดียว บางคนไม่อยากตกอยู่ในสภาพเจ็บป่วย เลยหลีกเลี่ยงไม่มาพบแพทย์ตามนัด ไม่ยอมกินยาตามกำหนด
พฤติกรรมทางเพศ อาจมีการเสื่อมสมรรถนะทางเพศ
การดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และบุคลิกภาพเหล่านี้ รบกวน การรักษาและฟื้นฟูบำบัดทางกายรวมทั้งทำให้ญาติผู้ดูแลเหนื่อยมากขึ้นผู้ป่วยมีอัตราตายสูงขึ้นแต่ท่านอย่าเพิ่งท้อแท้หรือหมดหวัง
1. ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมจะมีมากในระยะแรกของการเจ็บป่วย (1-3 เดือนแรก) และค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไปนานกว่า 1 ปี ในรายที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย อาจปรับตัวได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยารักษา แต่ในรายที่อาการมากจนรบกวนต่อการรักษาของแพทย์ และการฟื้นฟูสมรรถภาพ การใช้ยาที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการลงได้มาก
2. สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมพบว่า เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น พูดหรือสื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้ภาพลักษณ์ของตนเองเปลี่ยนแปลงไป ความมั่นคงทางใจลดลง การเข้าสังคมลดลง
พยาธิสภาพทางสมองที่ทำให้เจ็บป่วยมีการเปลี่ยนแปลงสารสื่อประสาทในสมอง
3. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ช่วยตัวเองมากที่สุด เช่น การตักอาหารเข้าปาก การรินน้ำดื่ม การปิดเปิดวิทยุ โดยการส่งเสริมให้ใช้แขนขาข้างที่ยังดีอยู่ ตั้งแต่เริ่มแรกของการเจ็บป่วย เมื่อผู้ป่วยพร้อมที่จะฝึกกายภาพบำบัด ควรให้ผู้ป่วยได้รับการฝึกให้มากที่สุดเต็มความสามารถเมื่อผู้ป่วยสามารถพึ่งพิงตนเองได้มากขึ้นความมั่นใจจะตามมาความต้องการพึ่งพาผู้อื่นจะลดลงญาติจะเบาแรงและมีภาวะเครียดลดลง
ญาติและผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดังนี้
1. ขณะรักษาตัวในโรงพยาบาล จัดสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยใช้สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ที่คุ้นเคยจากบ้าน
2. ให้สิ่งกระตุ้นที่มีความหมาย เช่น การพูดจาสื่อสารอยู่เสมอ ซักถามอาการความรู้สึกของคนไข้ในแต่ละวัน ให้กำลังใจให้คำปรึกษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ
3. ควรให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมต่างๆและเข้าสังคมกับผู้อื่น
* เริ่มตั้งแต่ตื่นตอนเช้า ควรให้ลุกจากเตียงมาหัดเดินหรือนั่งเก้าอี้ ทำงานอดิเรก ฝึกกายบริหาร รับแสงแดดตอนเช้า พูดคุยกับลูกหลานหรือเพื่อนฝูงที่คุ้นเคย ออกไปเที่ยวนอกบ้านบ้าง
* กลับไปที่เตียงนอนเมื่อถึงเวลานอนเท่านั้น กิจกรรมและสังคมรอบตัวจะช่วยลดอาการสับสน นอนไม่หลับตอนกลางคืนและส่งเสริมการเรียนรู้ที่จำเป็นแก่ผู้ป่วย
**ประการสำคัญที่ต้องเน้น คือ อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่บนเตียงนอนตลอดเวลา**
ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ดูแลมักจะได้รับความกดดันทางจิตใจและเกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา นอกจากนี้ครอบครัวมักจะได้รับผลกระทบการสูญเสียรายได้เนื่องจากผู้ดูแลไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ยังมีแรงกดดันต่อสมาชิกในครอบครัว ในแง่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยบางครอบครัวเกิดความขัดแย้งกัน รู้สึกไม่ยุติธรรม รู้สึกว่าบุคคลอื่นในครอบครัวละเลย หรือโทษกันว่าจะดูแลอย่างไร มากน้อยเพียงใดผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยมักจะประสบปัญหาเหล่านี้ มากบ้าง น้อยบ้าง และมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจต่อปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรังของผู้ป่วย บางรายสามารถผ่านระยะการปรับจิตใจเหล่านี้ไปได้ จนถึงระยะที่ประสบความสำเร็จ แต่บางรายอาจไม่สามารถผ่านไปได้
การปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจของผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัว
ระยะแรก ปฏิเสธ
- ปฏิเสธการวินิจฉัยโรค
- ไม่ยอมรับว่าผู้ป่วยมีปัญหาควรได้รับการรักษา
ระยะที่สอง ซึมเศร้า
- เริ่มยอมรับว่าป่วยแล้วต้องได้รับการดูแล พยายามเรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วย
ระยะที่สาม โกรธ
- ระยะนี้ผู้ดูแลเริ่มพบว่าโรคเรื้อรังนั้นการดูแลผู้ป่วยไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของ ผู้ป่วยให้ดีขึ้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ดูแลและญาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความโกรธ ผู้ป่วยจะค่อยๆมากขึ้น โกรธคนรอบข้าง โชคชะตาของตัวเอง
ระยะที่สี่ ความละอาย
- หลังความรู้สึกโกรธผ่านไปจะรู้สึกละอายตามมา เนื่องจากมโนธรรม หรือคำสอนทางศาสนาตีกรอบไว้ทำให้ละอายต่อความรู้สึกโกรธหรือสิ่งที่ปฏิบัติออกไปด้วยความโกรธ ระยะที่สามและสี่ อาจพบควบคู่กันไป
ระยะสุดท้าย ยอมรับ- เป็นระยะที่ประสบความสำเร็จในการปรับจิตใจผู้ดูแลบางรายอาจผ่านระยะต่างๆได้อย่างรวดเร็ว แต่บางรายก็ไม่เคยสามารถถึงระยะสุดท้ายได้เลย
การปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจของผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัว
* ในช่วงการปรับจิตใจ ต้องใช้เวลาแตกต่างกันไป แต่ละรายระหว่างปรับจิตใจ หากผู้ดูแลมีปัญหาสุขภาพจิตและกายเกิดขึ้นย่อมส่งผลถึงการดูแลผู้ป่วยตามมาด้วย ผู้ดูแลจึงต้องดูแลตนเอง และหากเกิดปัญหาของตนเองขึ้น ต้องหาวิธีการช่วยเหลือตนเองด้วย
* ถึงแม้ว่า ผู้ดูแลจะปรับจิตใจยอมรับผู้ป่วยได้แล้ว การดูแลผู้ป่วย เช่น โรคสมองเสื่อม ต้องใช้ความอดทนอย่างมากเนื่องจากเป็นงานจำเจซ้ำซาก
วิธีการช่วยเหลือ
* หลักการที่สำคัญคือ “เวลาหยุดพัก” ผู้ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคสมองเสื่อม มักไม่สามารถหาเวลาหยุดพักได้เพียงพอและเกิดปัญหาทางจิตใจได้อย่างมากอาจไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีพอ รวมทั้งมีปัญหาด้านสุขภาพกายมากขึ้นด้วย
* ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ต้องมีบุคคลอื่นในครอบครัว ที่สามารถผลัดเปลี่ยน มารับผิดชอบเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้ดูแลได้มีเวลาหยุดพักผ่อนทำสิ่งอื่นๆได้ตามสมควร
* สถานที่ให้การดูแลเวลากลางวันแก่ผู้สูงอายุ แก่ผู้ทุพพลภาพ (Day Care Center) อาจช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวในเวลากลางวันได้แต่ญาติอาจมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น* การช่วยประคับประคองอารมณ์ผู้ดูแล (Emotional support ) ต้องมีผู้เข้าใจ ชี้แจง ปลอบโยน และเป็นช่องทางให้ผู้ดูแลสามารถระบายความรู้สึกที่อัดอั้นตันใจออกมาได้ บุคคลที่จะช่วยเหลือ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา บุคคลากรทางการแพทย์ ที่มีความรู้ที่ออกเยี่ยมตามบ้านเป็นครั้งคราว บางครั้งอาจต้องพึ่งจิตแพทย์เพื่อช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตโดยตรง
* การได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาและความคิดเห็นกับครอบครัว หรือผู้ดูแลอื่นๆที่ประสบปัญหาเดียวกัน อาจช่วยให้สบายใจขึ้นเข้าใจผู้ป่วยได้มากขึ้น เรียกว่า Group support ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานอาสาสมัครทางสังคม โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยเหล่านี้จัดตั้งขึ้นผู้ดูแลสามารถเข้าร่วมกลุ่มเหล่านี้ได้
* โดยสรุป เวลา ความเห็นอกเห็นใจ รักสามัคคีกันในครอบครัวจะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น