กฎ 4 ข้อ สู่การเป็นพ่อแม่อย่างสร้างสรรค์
ลอร่าชวนคุณพ่อคุณแม่เปิดใจให้กว้าง ฟังความความต้องการของลูกน้อย แทนการฟังใช้ด้วยหูว่าพวกหนูหนูต้องการอะไร เพราะลูกก็มีความปรารถนาเช่นกัน
พ่อแม่ได้สร้างชีวิตของลูก ลูกก็ดูเหมือนจะอยู่ในกำมือของพ่อแม่ แต่ลูกไม่ใช่ลูกไก่ลูกกาที่เราจะ “บีบก็ตายคลายก็รอด” เพราะลูกก็คือคน คนหนึ่งคนที่มีสิทธิ์มีเสียงในการใช้ชีวิตอย่างที่ปรารถนาเช่นกัน เพียงแต่เขายังเสียงไม่ดัง พ่อแม่จึงต้องพยายามใช้หัวใจฟังแทนหูว่าพวกหนูหนูต้องการอะไร
รองศาสตราจารย์ ดร.โจน อี เดอร์แรนท์ นักจิตวิทยาคลินิกเด็กและนักวิชาการสังคมศาสตร์ครอบครัว ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Positive Discipline : การสร้างวินัยเชิงบวก” จัดทำโดยองค์การช่วยเหลือเด็ก (สวีเดน) : Save the Children (Sweden) ได้อธิบายเอาไว้ว่า
กฎ 4 ข้อซึ่งเป็นรากฐานวิธีคิดให้เป็นขั้นตอนนั้นเมื่อพ่อแม่ค่อยๆ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องแล้วในที่สุดวิธีคิดของท่านก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละน้อยและความชำนาญของท่านก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ และในที่สุดก็จะกลายเป็นพ่อแม่ที่มีความสร้างสรรค์ดั่งพ่อแม่ในฝันของลูกเลยทีเดียวค่ะ
ตอนที่แล้วได้บอกกฎ 4 ข้อนี้ไปให้ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วและจะขอขยายความอีกสักหน่อยเพื่อความกระจ่างชัดนะคะ ข้อแรก “การวางเป้าหมายระยะยาว” หมายถึงการพิจารณาว่าเราอยากให้เด็กโตขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง หมายถึงสิ่งที่พ่อแม่ต้องการทำให้สำเร็จเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นหมอเป็นทนาย จบดอกเตอร์ ฯลฯ ลองฟังตัวอย่างเหล่านี้ดูนะคะ
เป้าหมายระยะยาวของเราเพื่อลูก เช่น อยากเห็นลูกเป็นคนที่สามารถจัดการกับความเครียดได้ สามารถสื่อสารอย่างเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันได้ จัดการกับความขัดแย้งโดยไม่ใช้การตี ใส่ใจกับความรู้สึกของผู้อื่น ทำงานให้สำเร็จโดยไม่ทำร้ายผู้อื่นทางร่างกายและจิตใจ มีความสามารถที่จะคิดอะไรได้เอง แยกแยะความผิดถูกได้
เป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง อ่อนโยน มุ่งมั่น มีความรับผิดชอบ มีความพากเพียรที่จะเอาชนะความยากลำบากต่างๆ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความเมตตาและชอบช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคนที่ซื่อตรงและไว้ใจได้ เป็นผู้ที่ทุ่มเทความรักความเอาใจใส่ให้คู่ครอง เป็นพ่อแม่ที่รักลูก เป็นลูกที่ห่วงใยพ่อแม่ยามแก่เฒ่า เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าในแต่ละวันของพ่อแม่มัวแต่วุ่นวายอยู่กับการจัดการ “เป้าหมายระยะสั้นเฉพาะหน้า” เช่น ให้เด็กๆ ผูกเชือกรองเท้าให้ได้ คิดเลขในใจให้เป็น ทานข้าวให้หมดจานเดี๋ยวนี้ เลิกแกล้งน้องซะที
เหตุการณ์เฉพาะหน้าเหล่านี้ มักทำให้ผู้ใหญ่หมดความอดทนและเครียด และจะนำไปสู่การดุหรือการตีเพื่อให้เด็กๆ ทำตามที่ต้องการ และนี่คือสิ่งที่ยากที่สุดประการหนึ่งในการเลี้ยงดูลูก นั่นก็คือการไปให้ถึงเป้าหมายระยะยาวให้ได้และในขณะเดียวกันก็ทำเป้าหมายระยะสั้นให้สำเร็จด้วย เพราะทั้งสองอย่างนี้มักขัดแย้งกันเสมอ
ลองคิดดูสิว่า เมื่อท่านตะโกนใส่ลูกให้รีบทานข้าวให้หมดจาน ท่านกำลังสอนให้เขาเป็นคนสุภาพอ่อนน้อมหรือไม่? เมื่อท่านตีลูก ท่านกำลังสอนวิธีแก้ปัญหาให้ลูกหรือไม่?
เด็กๆ กำลังเฝ้าดูพ่อแม่และเรียนรู้วิธีการจัดการกับความเครียดจากการกระทำของเรานั่นเอง ถ้าเราตะโกนดุด่าและตีผู้อื่น เขาก็จะเรียนรู้ว่าต้องทำอย่างนี้เหมือนกัน ดังนั้น กุญแจของการอบรมสั่งสอนลูกให้ได้ผล คือการมองว่าเหตุการณ์ท้าทายที่เกิดขึ้นนั้นจะนำไปถึงเป้าหมายระยะยาวของเราได้ เอาหละค่ะ วันนี้คุณพ่อคุณแม่นั่งลง จิบชากาแฟสักแก้วแล้วเปิดใจคุยกันถึงเป้าหมายระยะยาวที่อยากให้ลูกของเราเป็น ดีไหมคะ เล่มต่อไป
โปรดติดตามกฎข้อสอง “การให้ความรักความอบอุ่น และ ให้แนวทางที่ชัดเจน” ข้อสาม “เข้าใจวิธีคิดและความรู้สึกของเด็ก” และข้อสี่ “การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น