28 ส.ค. 2552

22 เคล็ด(ไม่)ลับ เก็บเงินได้มากขึ้น

เห็นจั่วเรื่องแล้ว คุณผู้อ่านคงแอบงงปนสงสัยกันอยู่ใช่มั้ยล่ะค่ะว่า ในยุคน้ำมันแพง ค่าแรงไม่พอใช้แบบนี้ เรื่องเงินออมนั้น คงทำได้ยากกกก ถึงยากที่สุด เพราะไหนจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แล้วยังมีหนี้บัตรเครดิต ค่างวดโทรศัพท์มือถือ และข้าวของอีกมากมายก่ายกองที่เป็นภาระทุกเดือนๆ ชวนให้ปวดหัว แต่วันนี้ค่ะเรามีกลเม็ดการออมที่ คุณมัทยา ดีจริงจริง เจ้าของหนังสือขายดี "ออมน้อยก็รวยได้" แนะนำไว้เกี่ยวกับแนวคิดและวิถีการออมของโลกตะวันตก ซึ่งหากลองอ่านดูจะเห็นว่าหลายๆ วิธีก็ใช้ได้กับโลกตะวันออกได้เหมือนกัน …ไม่เชื่อลองอ่านดูค่ะ

1. ส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่ได้รับ จะมากจะน้อยให้นำไปฝากเข้าบัญชีธนาคารทุกๆ เดือน แล้วอย่าไปยุ่งกับบัญชีนั้นเด็ดขาด ถ้าจำเป็นต้องถอนเงินส่วนนี้ ให้ถือว่ากำลังกู้เงิน เวลาคืนต้องคืนทั้งต้นทั้งดอก

2. เก็บเหรียญทั้งหลายลงกระปุก เปิดอีกบัญชีสำหรับเงินหยอดกระปุก อย่าดูถูกการสะสมเงินเล็กเงินน้อย จากก้อนเล็กๆ เติบโตกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ในอนาคตได้เชียวนะ

3. เก็บเงินคืนที่ได้รับจากเรื่องต่างๆ เข้าบัญชีธนาคาร เช่น เงินคืนตามโปรโมชั่นการซื้อสินค้า เงินคืนเบี้ยประกัน รายได้เบี้ยใบ้รายทางต่างๆ ให้รวมเป็นบัญชีเดียว แล้วทำบัญชีไว้ คุณจะได้รู้ว่า ณ สิ้นปีรายรับที่ได้จากเงินคืนพวกนี้มันมากขนาดไหน รายรับพวกนี้เป็นรายรับไม่ต้องเสียภาษี น่าเสียดายที่จะใช้ทิ้งๆ ขว้างๆ

4. จ่ายเงินค่างวดผ่อนสิ่งของต่างๆ ที่ผ่อนหมดแล้ว เข้าบัญชีตัวเองด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม วิธีนี้คุณไม่ต้องเดือดร้อน เพราะคุณเคยชินกับภาระการผ่อนนั้นๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่าคุณไม่มีภาระผ่อนอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีกนะ

5. หยุดนิสัยฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ตัดทิ้งให้หมด ทำรายการขึ้นมาว่าต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง หลายคนแปลกใจว่ายิ่งคิดยิ่งตัดได้เรื่อยๆ

6. เพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ไม่ควรยอมรับผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำ เงินออมที่มีอยู่ควรไปสร้างเงินต่อด้วยการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสมดุลในการรับความเสี่ยงด้วย

7. เป็นสมาชิกสหกรณ์ เป็นวิธีง่ายสุดของการออมเงิน พร้อมทั้งเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีกต่างหาก

8. ซื้อพันธบัตรรัฐบาล สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการออกพันธบัตรประเภทต่างๆ การจำหน่ายพันธบัตรให้กับประชาชน สิ่งที่ต้องดูคือประเภทพันธบัตร อัตราดอกเบี้ย และวันจ่ายดอกเบี้ย

9. ใช้ประโยชน์จากการโอนเงินบัญชีธนาคาร เมื่อเงินเดือนถูกนำฝากเข้าในบัญชีของคุณแล้ว คุณควรให้มันอยู่ในบัญชีธนาคารให้นานที่สุด (ฮา)

10. เข้าร่วมแผนออมเงินของบริษัท แผนการออมของบริษัทเป็นแผนออมเงินแบบปลอดภาษี และนายจ้างช่วยจ่ายสมทบ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับลูกจ้าง
11. ใช้การเสียภาษีให้เป็นประโยชน์ เรียนรู้เรื่องภาษี ประโยชน์ที่คุณไม่ควรเสียและประโยชน์ที่คุณควรได้ (เรื่องลดหย่อนนั่นเอง)

12. เข้าโครงการออมเงินที่น่าสนใจ เปิดหูเปิดตาให้กว้าง อาจมีโปรแกรมออมที่นึกไม่ถึง

13. ส้มหล่น อย่าเพิ่งกินหมดในคราวเดียว เงินก้อนใหญ่ไม่มาบ่อยครั้ง เช่น มรดก รางวัลเกมโชว์ ลอตเตอรี่ เงินปันผลกองทุน ฯลฯ เงินก้อนนี้ควรนำไปใช้ในการออมหรือลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ทั้งนี้ อย่าลืมปรึกษามืออาชีพด้านภาษีด้วย

14. รัดเข็ดขัดชั่วคราว อยากได้อะไรมากๆ ลองรัดเข็มขัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ เพื่อออมเงินให้มากกว่าปกติ เก็บเงินได้เท่าราคาของ แล้วจึงค่อยกลับสู่การดำเนินชีวิตปกติ

15. ฝากเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคล เพื่อการเกษียณอายุสัปดาห์ละครั้ง ในต่างประเทศนิยมมาก มีการทำบัญชีฝากสะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว สำหรับเมืองไทยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งนายจ้างจ่ายสมทบให้

16. ให้นำเงินเดือนส่วนที่เพิ่มไปฝาก ถ้ารับเงินเป็นรายสัปดาห์หรือราย 2 สัปดาห์ อาจเป็นได้ว่าบางเดือนคุณจะได้รับเงินมากครั้งกว่าปกติ เช่น ถ้าได้รับเงินเป็นรายสัปดาห์ จะมี 4 เดือนที่ได้รับเงินมากครั้งกว่าปกติ หรือถ้าได้รับเงินเป็นราย 2 สัปดาห์ จะมี 3 เดือนที่คุณได้เงินเดือน 3 ครั้ง ครั้งที่เกินมาให้นำไปเข้าบัญชีเงินออม (ทันที)

17. เก็บเงินเบิกรายการต่างๆ ส่วนที่เกินจากรายจ่ายจริงเข้าบัญชีเงินออม ค่าเดินทางหรือรายจ่ายอื่นที่เบิกบริษัทได้ ควรเก็บส่วนเกินจากรายจ่ายจริงไว้ หรือคุณอาจได้ค่าล่วงเวลา ควรเก็บเงินส่วนนี้มาออมเช่นกัน เช่น ได้ค่าล่วงเวลาเดือนละ 2,000 บาท ถึงสิ้นปีจะมีเงินก้อน 2.4 หมื่นบาท สามารถนำมาใช้จ่ายในกรณีพิเศษโดยไม่ต้องไปถอนเงินออมหลัก

18. ยืมมาออม บางคนประสบความสำเร็จในการกู้เงินธนาคาร แล้วนำกลับไปฝากในบัญชีเงินออมของตนเองอีกทีหนึ่ง วิธีนี้ใช้ได้ผลกับคนที่กำลังมีค่าหักลดหย่อน (เช่น กู้ซื้อบ้าน) และใช้ได้กับช่วงเวลาที่ดอกฝากมากกว่าดอกกู้ (หลังภาษี) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องพูดถึง

19. นำเงินปันผลและดอกเบี้ยไปต่อเงินโดยอัตโนมัติ เมื่อลงทุนหรือฝากเงินในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด จัดการให้เงินปันผลหรือดอกเบี้ยสามารถนำฝากหรือลงทุนต่อได้อัตโนมัติ ในระยะยาวจะเห็นผลน่าพอใจ

20. ทิ้งเงินไว้ในบัญชีกระแสรายวันให้น้อยที่สุด มีคนจำนวนมากทิ้งเงินไว้ในกระแสรายวัน (เพราะปลอดดอกเบี้ย) แต่หารู้ไม่ว่ากำลังพลาดโอกาสในการทำเงิน ที่ควรก็คือมีเงินในกระแสรายวันให้พอกับรายจ่ายรายเดือน หากเงินเหลือให้โอนไปยังบัญชีเงินฝากที่มีดอกเบี้ยหรือโอนไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่มีดอกเบี้ยดีสุดในเวลานั้น

21. ใช้ประโยชน์จาก Float ความหมายของ Float คือระยะช่วงที่ผู้ถือเช็คได้รับเช็คไปจนกระทั่งถึงตอนที่ได้รับเงินสั่งจ่ายตามเช็ค กล่าวคือช่วงที่ยังไม่ได้ถูกตัดบัญชีก็ควรแช่เงินไว้ในบัญชีเงินฝากให้นานเท่าที่จะนานได้ ก่อนจะโอนไปเข้าบัญชีกระแสรายวันเพื่อตัดจ่ายเช็ค

22. จ่ายหนี้ให้หมด คุณอยากได้ผลตอบแทน 17-21% หรือเปล่า? อย่ามีหนี้บัตรเครดิตสิ เคลียร์หนี้บัตรให้หมด รู้มั้ยว่าถ้ายอดหนี้อยู่ที่ 2.4 หมื่นบาท ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 4,000-5,200 บาท รีบเคลียร์หนี้ให้หมด ผลตอบแทนที่คุณจะได้คือไม่ต้องเสียดอกเบี้ยก้อนนี้ การปลอดหนี้บัตรจึงเป็นวิธีออมเงินก้อนใหญ่ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีหนี้ (จริงๆ) หาบัตรที่ดอกถูกสุดมาใช้

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว นักออมทั้งหลาย คงไม่ต้องรออะไรทั้งนั้น มาเริ่มต้นด้วยการวางแผนคร่าวๆ ถึงวิธีและขั้นตอนปฏิบัติ บันทึกรายการสิ่งที่ต้องทำ จากนั้นให้ลงมือทันที เน้นนะคะว่าคิดแล้วจงลงมือทำทันที ไม่งั้นเดี๋ยวไม่บรรลุจุดหมาย ไม่รู้ด้วยล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: