30 ส.ค. 2552

โรคหลงผิด

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ "โรคหลงผิด" ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตเวชกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่ามีอาการอย่างไร เป็นอันตรายหรือไม่ แล้วจะรักษาอย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ไพฑูรย์ สมุทรสินธุ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า โรคหลงผิด เป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง ที่คนไข้มีการหลงผิดคิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคทางกายบางอย่าง บางทีก็หลงผิดคิดว่ามีคนปองร้าย หรือหลงผิดคิดว่าภรรยา หรือคู่สมรสมีชู้ ส่วนใหญ่อาการหลงผิดจะเป็นลักษณะนี้ สาเหตุของโรคเกิดจากสารสื่อประสาทในสมอง หรือ สารโดปามีน เสียสมดุลไป

การจะบอกว่าเป็นโรคหลงผิดหรือไม่ คงต้องให้จิตแพทย์วินิจฉัย เพราะบางคนอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นโรคหลงผิดก็ได้ อาจแค่วิตกกังวล แต่ถ้าเป็นโรคหลงผิด หมอตรวจวินิจฉัยร่างกายยืนยันอย่างไรก็ไม่เชื่อ คนไข้ก็จะตระเวณเปลี่ยนหมอรักษาไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นแค่วิตกกังวลหมอตรวจแล้วเขาจะเชื่อ โรคหลงผิดจึงเป็นความเชื่อที่ติดแน่น คำอธิบายคงช่วยอะไรไม่ได้

โรคนี้ต้องใช้ยารักษา ส่วนใหญ่รักษาแล้วอาการจะดีขึ้น คนไข้ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาเป็น ปีๆ เช่นกัน เมื่ออาการหลงผิดดีขึ้นใน 6 เดือน หรือ 1 ปี แพทย์จะค่อยๆ ลดยาลงไปเรื่อยๆ บางคนอาจหยุดยาได้ แต่บางคนอาจต้องกินยาคุมอาการเอาไว้

คนไข้ที่มารักษาส่วนใหญ่ญาติ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่ทราบเรื่องจะพามา แต่เมื่อคนไข้รักษาแล้วอาการดีขึ้น ภายหลังมีอาการกำเริบอีก คนไข้อาจสมัครใจมาพบแพทย์ด้วยตัวเอง

ถามว่าโรคหลงผิดอันตรายหรือไม่ ก็อาจจะอันตรายต่อตัวเองและคนรอบข้าง เช่น ระแวงภรรยา หรือคู่สมรสมีชู้ อาจมีการลงมือทำร้ายกัน ถ้าหลงผิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคทางกาย อาจจะทำให้คนไข้เจ็บเนื้อเจ็บตัว ไปตรวจร่างกายด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือด หรือส่องกล้อง เป็นต้น
ข้อแนะนำสำหรับคนรอบข้าง คือ อย่าเพิ่งรีบสรุปว่าเขามีอาการหลงผิด แม้บางคนอาจจะแปลกไปจากเดิมบ้าง ต้องค่อยๆ ชวนเขาไปพบจิตแพทย์ ไม่ใช่พาเขาไปพบแล้วบอกเขาว่ามีอาการหลงผิด ต้องพูดทำนองว่า เมื่อเธอไม่สบายใจเรื่องนี้ กลุ้มใจเรื่องนี้ไปคุย ไปปรึกษาจิต แพทย์ดีมั้ย จะได้สบายใจขึ้น คือ คนรอบข้างต้องไม่คล้อยตาม หรือขัดแย้ง ถ้าไปบอกว่าเธอเป็นโรคจิต เป็นบ้านะ แบบนี้คนไข้จะเกิดการต่อต้านแน่นอน บางคนอาจจะเป็นแค่วิตกกังวลเฉยๆ ก็ได้ พอพาไปตรวจกับแพทย์แล้วได้รับคำอธิบายหายกังวล
ท้ายนี้ขอเรียนว่า โรคหลงผิด มิใช่ความผิดหรือความเลวร้าย คนรอบข้าง โดยเฉพาะญาติควรเข้าใจ เพราะถ้ารู้สึกรำคาญหรือเพิกเฉย จะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ช้า ส่วนผลการรักษาจะได้แค่ไหนก็ต้องมาดูกันอีกที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น