20 ก.ย. 2552

ดื่มน้ำมากกินผักผลไม้ห่างไกลริดสีดวงทวาร

น.พ.ทรงศักดิ์ กรสุทธิโสภณ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มมีพฤติ กรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไปเพิ่มมากขึ้น หลายคนไม่รับประ ทานผักผลไม้ หรือบางคนดื่มน้ำน้อยมากในแต่ละวัน ประกอบกับเกิดความเครียดจากการทำงาน ภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัวและสังคม ส่งผลให้คนไทยมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการท้องผูกและถ่ายผิดปกติหรือมีเลือดปนออกมาจนถึงขั้นเป็นโรคโลหิตจางจนต้องให้เลือดทดแทน

อาการถ่ายเป็นเลือด เป็นอาการหนึ่งจากสภาวะท้องผูกหรือการถ่ายอุจจาระ ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง มาจากพฤติกรรมในผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานผัก และผลไม้ หรือดื่มน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน รวมถึงภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและตำแหน่งที่เลือดออกว่ามาจากส่วนใด อาจจะเป็นเนื้องอก มะเร็ง หรือริดสีดวงทวารหนัก คือถ้ามีเลือดออกจากลำไส้ใหญ่ส่วนล่างหรือบริเวณทวารหนัก ผู้ที่มีอาการจะเห็นเป็นเลือดสีแดงสดไหลหรือหยดหรือผสมกับอุจจาระ อาการเหล่านี้หากทิ้งไว้ในระยะยาวโดยไม่รักษา อาจนำไปสู่การเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะที่ 3 และ 4 ได้

น.พ.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า โรคริดสีดวงทวารหนักภายในระยะที่ 1 และ 2 ไม่ถือว่าเป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่จะเป็นความลำบากสำหรับผู้ป่วยเองในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการที่ผู้ป่วยปล่อยให้โรคริดสีดวงทวารหนักเรื้อรังจนลุกลามไปถึงระยะที่ 3 และ 4 เป็นเพราะผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนักบางรายส่วนใหญ่ไม่กล้าพบและปรึกษาแพทย์ มักเก็บความทุกข์ทรมานจากโรคนี้ไว้ตามลำพัง เนื่องจากอายและกลัวการผ่าตัด แต่ปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักก้าวหน้ามากขึ้น ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะที่ 3 และ 4 เลือกที่จะเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด น้อยลง

น.พ.ทรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยทฤษฎีแล้วโรคริดสีดวงทวารหนักเกิดจากการเลื่อนตัวของเบาะรอง (cushion) ที่อยู่ภายในทวารหนักออกมาภายนอก วิธีการผ่าตัดนี้จะดันเบาะรองกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม และตัดเฉพาะส่วนเกินที่ยื่นออกมาเท่านั้น ไม่ตัดเบาะรองออกทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้วเบาะรองมีประโยชน์ในการทำให้ทวารหนักของคนเราปิดสนิท ไม่มีน้ำอุจจาระเล็ดออกมาระหว่างที่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระ

"เพื่อป้องกันการเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก หากผู้ป่วยพบว่ามีอาการถ่ายเป็นเลือด ถ่ายลำบาก อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรัง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เน้นผักและผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงอุปนิสัยเบ่งอุจจาระเวลาขับถ่าย ไม่ใช้ยาสวนอุจจาระพร่ำเพรื่อ หากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ป่วยจะมีโอกาสห่างไกลจากโรคริดสีดวงทวารหนัก และใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยไม่ต้องพบแพทย์" น.พ.ทรงศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น