29 พ.ย. 2552

'ภูมิแพ้อาหารแฝง 'ภาวะเรื้อรัง

ไม่น่าเชื่อว่าอาหารที่เราทานกันอยู่ทุกวันนี้ จะกลายเป็นสาเหตุของการเป็นโรคภูมิแพ้อาหารแฝงไปได้ !!มองจากภายนอก ทุกคนดูแข็งแรงเป็นปกติ แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วเข้าข่ายเป็น “ภูมิแพ้อาหารแฝง” คำถามนี้ ทำให้หลายคนฉุกคิดและหันกลับมามองสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจัง โดยคนส่วนใหญ่จะละเลยสุขภาพ ถ้าไม่ป่วยจริง ๆ ก็ไม่ยอมไปหาหมอ หรือว่ารอให้ป่วยแล้วรักษา เป็นการแก้อาการที่ปลายเหตุ

เพราะสิ่งแวดล้อมที่ต้องเจออยู่ทุกวันนี้มีผลต่อสุขภาพกันทั้งนั้น ใครจะรู้ว่าร่างกายของเราเป็นที่สะสมของโรคบางชนิด ตัวเลขจากองค์กรภูมิแพ้โลก พบว่า คนไทยเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่า 10 ล้านคน โดยโรคนี้จะเกิดกับทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 5-15 ปี จะพบบ่อยกว่าช่วงอายุอื่น คนเรานั้น มีโอกาสเกิดอาการ แพ้อาหาร และ การรับสารอาหารบางชนิดไม่ได้ หรือที่เรียกว่า ภูมิแพ้อาหารแฝงนพ.ต่อศักดิ์ ทิพย์ไพโรจน์ ตรัยยา ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า แท้จริงแล้วอาการหรือปฏิกิริยาทางร่างกาย ที่เกิดขึ้นเมื่อทานอาหารบางชนิดเข้าไปนั้น มีความแตกต่างกันระหว่างคำว่า “การแพ้อาหาร” กับ “การรับอาหารบางชนิดไม่ได้” เพราะการแพ้อาหาร เกิดจากปฏิกิริยาที่ไวต่ออาหารนั้น ๆ เป็นปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่ออาหาร

เนื่องจากมีการกระตุ้นจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายชนิดต่าง ๆ ส่วนการรับอาหารบางชนิดไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานแต่อย่างใด แต่ทั้งสองกลุ่มนี้อาจมีอาการคล้ายคลึงกันปฏิกิริยาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อย จะเป็นปฏิกิริยาการแพ้ชนิดที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน ซึ่งเป็นผลจาก 2 กลไกทางระบบภูมิต้านทาน คือ มีการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน อิมมูโนโกลบินชนิด อี หรือ ไอจีอี (Immunoglobulin E หรือ IgE) ขึ้น ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเรียกว่าแอนติบอดีชนิด อี ที่อยู่ในกระแสเลือด และอีกกลไกหนึ่ง เกี่ยวข้องกับมาสต์เซลล์ (Mast Cell) ที่อยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกาย

โดยเฉพาะบริเวณเนื้อเยื่อที่เกิดอาการแพ้ เช่น ในจมูก คอ ปอด ผิวหนัง และทางเดินอาหาร แอนติบอดีชนิด อี สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้“ก่อนที่จะเกิดอาการแพ้ คนที่แพ้ต้องเคยได้รับอาหารชนิดนั้นมาก่อน เมื่อมีการย่อยอาหารก็จะกระตุ้นให้มีการสร้างแอนติบอดีชนิด อี จำนวนมากเข้าไปเกาะผิวของมาสต์เซลล์ และเมื่อมีการทานอาหารชนิดนั้นอีกครั้ง อาหารจะไปกระตุ้นแอนติบอดีชนิด อี จำเพาะบนผิวมาสต์เซลล์นั้น ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมี เช่น ฮีสตามีน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้ตามแต่บริเวณของเนื้อเยื่อ ที่มีการหลั่งสารเคมีนั้น เช่น มีการหลั่งสารเคมีที่บริเวณหู คอ จมูก มีอาการคันหรือบวมที่ปาก คอ หายใจลำบาก หรือกลืนอาหารลำบาก

แต่ถ้าเป็นที่ทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดท้อง ท้องร่วงได้”นอกจากปฏิกิริยาการแพ้แบบเฉียบพลันแล้ว ยังมีปฏิกิริยาของภูมิแพ้อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมักจะถูกมองข้ามไป คือปฏิกิริยาของการแพ้ชนิดแฝง ในปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบนี้ เมื่อร่างกายถูกกระตุ้นจากโปรตีนในอาหาร จะเริ่มสร้าง อิมมูโนโกล บินชนิด จี หรือ ไอจีจี (Immunoglobulin G หรือ IgG) ที่เรียกว่า แอนติบอดีชนิด จี ซึ่งไม่ได้ไปกระตุ้น มาสต์เซลล์ เหมือน แอนติบอดี้ชนิด อี ทำให้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพ้ จึงไม่รู้ตัวว่าตนเองมีปฏิกิริยากับอาหารนั้น

แต่ปัญหาจะเกิด เมื่อผู้ป่วยต้องทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดนั้นอยู่เรื่อย ๆ เช่น อาหารกลุ่มนม ไข่ ถั่ว ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกาย มีการสร้างแอนติบอดีชนิด จี อย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่เกินความสามารถของเม็ดเลือดขาว ชนิดแมคโคร ฟาจ (macrophage) ซึ่งมีหน้าที่คอยกำจัดส่วนประกอบของภูมิต้านทานนี้ออกจาก ร่างกาย ทำให้เกิดการหลงเหลือของส่วนประกอบภูมิต้านทานอิสระ ไปทั่วระบบของร่างกาย ซึ่งจะไปกระตุ้นนำระบบกลไกที่ทำให้เกิดการอักเสบให้เกิดขึ้น ที่จุดใดจุดหนึ่ง ในร่างกายอย่างต่อเนื่อง“ภูมิแพ้ชนิดแฝงนี้ จึงเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น หวัดเรื้อรัง หูน้ำหนวกเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือ อาจพบร่วมกับภาวการณ์อักเสบเรื้อรังที่ จุดอื่น เช่น ข้ออักเสบเรื้อรัง กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง หรือบางกรณีพบร่วมกับความผิดปกติทางอารมณ์ หรือพฤติกรรม เช่น ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ภาวะสมาธิสั้น หรือ ภาวะออทิสติก

ดังนั้น การมองหาภาวะภูมิแพ้ชนิดแฝง ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็มักจะเป็นอีกหนึ่งหนทางในการหาคำตอบของภาวะความไม่สมดุล ที่มีอยู่ในร่างกายได้”การรักษาหมอจะเริ่มจาก การซักประวัติอาการที่เป็นพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สภาพของระบบทางเดินอาหาร และการตรวจวัดด้วยเครื่องเพื่อตรวจหาแอนติบอดีชนิด จี ต่อ อาหาร ที่ทำให้คนไข้มีอาการภูมิแพ้แฝงทางที่ดี คือ เมื่อทราบแล้วว่าแพ้อาหารชนิดใด ต้องระมัดระวังการเลือกทานอาหารให้ดีพยายามลดและหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ โดยในรายที่เป็นภูมิแพ้อาหารแบบแฝง ควรงดอาหารชนิดนั้นเป็นเวลา 3-6 เดือน

เพื่อให้ร่างกายได้กำจัดออกไปได้หมดก่อน “หลังจากนั้น เริ่มทำการ เริ่มทดสอบโดยการทานอาหารชนิดนั้นใหม่ เพื่อดูว่าร่างกายมีการตอบสนองอย่างไร หากทุกอย่างเป็นปกติดี ก็สามารถกลับมาทานอาหารชนิดนั้นได้อีกตามปกติ แต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ด้วยการหมุนเวียนหมู่อาหาร ไม่ทานอาหารแบบเดิมซ้ำกันทุกวัน รวมทั้งจะต้องไม่ลืมการฟื้นฟูการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ในแง่ของการย่อย การดูดซึม และ สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ควบคู่กันไปด้วย

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก ตรงนี้คงต้องขึ้นอยู่กับคนไข้ว่ามีความตั้งใจในการเข้ารับการรักษาและเห็นความสำคัญของปัญหามากน้อยอย่างไรด้วย” นพ.ต่อศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายจากโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนี้ ทำให้เห็นว่า บทบาทของอาหารในชีวิตประจำวันมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรใส่ใจกับอาหารทุกจานที่ทาน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น