6 ธ.ค. 2552

ทางเลือก...แบบธรรมชาติ

เวทีนี้มีทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ ตามแนวทางธรรมชาติบำบัด เพราะมีทั้งหมอพื้นบ้าน หมอแผนปัจจุบัน ที่หันมาใช้วิธี การรักษาแบบผสมผสาน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ คุณต้องเป็นหมอให้ตัวเอง
แนวทางการดูแลสุขภาพแบบทางเลือก เป็นอีกเรื่องที่คนในสังคมให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อใช้รักษาและดูแลสุขภาพให้เหมาะกับตัวเอง เมื่อเร็วๆ นี้งานระพีเสวนา : การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ครั้งที่ 3 นำเสนอเรื่อง "สุขภาพทางเลือก เพื่อดุลยภาพแห่งชีวิต" โดยมีแพทย์ทางเลือกหลากหลายแนวทางมาร่วมพูดคุยให้ความรู้

เริ่มตั้งแต่ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของโครงการ แม้ท่านจะอายุกว่า 88 ปี แต่ยังคงทำงานเพื่อสังคมอย่างมีความสุข เพราะท่านมีความเชื่อว่า ชีวิตคนเราทำได้ทุกอย่าง ถ้ามีความสุข
"เพราะผมมีธรรมะอยู่ในใจ จึงใช้ธรรมะรักษาสุขภาพทั้งกายและใจ นี่เป็นการใช้ธรรมะในทางที่ถูกต้อง เห็นไหมว่า แม้แต่ธรรมะก็รักษาสุขภาพได้" ศาสตราจารย์ระพี กล่าวด้วยรอยยิ้มที่เบิกบาน
ส่วนหมอเขียว -ใจเพชร มีทรัพย์ ก่อนจะมารักษาผู้ป่วยด้วยแนวทางธรรมชาติบำบัดและวิถีพุทธ เขาก็เคยป่วยและฟื้นฟูตัวเองจากวิธีการดังกล่าว

จึงนำแนวทางวิถีพุทธบูรณาการกับการแพทย์ ปัจจุบันเขาเปิดศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสวนป่านาบุญ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เพื่อสอนให้คนในสังคมได้เรียนรู้การดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง และเป็นหมอให้ตัวเอง เขาเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ผลักเขาหลุดจากการแพทย์แผนใหม่ว่า แม้จะจบมาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่ก็มีปัญหาข้องใจ 3 อย่าง ทำให้ต้องคิดใหม่กับวิธีการรักษาตามแบบแผนปัจจุบัน
"3 ปีแรกที่ผมทำงานรักษาคนไข้ ผมใช้ความรู้ทั้งหมดที่มี แต่กลับแก้ปัญหาให้คนไข้ไม่ได้ อย่างแรกที่ผมตั้งคำถามคือ ทำไมคนป่วยมากขึ้นทุกวัน โรคที่เคยรักษาได้ กลับรักษาไม่ได้ แล้วทำไมบุคลากรทางการแพทย์จึงมีอัตราการป่วยมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจและต้องคิด ข้อสองรักษาไป แทนที่ค่าใช้จ่ายจะถูกลง กลับแพงขึ้นเรื่อยๆ จะหายก็ไม่หาย ข้อสาม สังเกตเห็นว่าคนพึ่งตัวเองได้น้อยลง ป่วยนิดหน่อยก็เสียเวลามานั่งรอหมอ ถ้ามาหาหมอแล้วอัตราการเจ็บป่วยน้อยลงก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ตรงข้าม"


ส่วนอดีตผู้ป่วยโรคต่อมน้ำเหลืองบวมที่คอ และอีโคโนมีคลาส ซินโดรม (Economy Class Syndrome) หมอแดง-วีระชัย วาสิกดิลก ผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตัวเองจาก "ธรรมชาติบำบัด" บอกว่า เคยป่วยต้องเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง รักษาตามอาการทั้งกินยา ผ่าตัดสารพัดก็ไม่หาย กระทั่งขาบวมจนเดินไม่ได้ แต่ก็พยายามดั้นด้นพาตัวเองมานวดที่วัดโพธิ์ เพื่อบำบัดร่างกายและอาการค่อยๆ ดีขึ้น

หมอแดงพบว่า เวลาป่วย ยาที่กินช่วยไม่ได้เลย ต่างจากการนวดเท้า 3-4 ครั้ง ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น จึงหันมาศึกษาเรื่องการนวด และการแพทย์แบบองค์รวม ทั้งแผนจีน ไทย อายุรเวท ละรักษาด้วยธรรมชาติ จนสามารถเปิดสถานที่รักษาที่ดิ อโรคยา คลินิกการแพทย์แผนไทย

"การรักษาโรคกับรักษาคนไม่เหมือนกัน ถ้าคุณรักษาโรค คุณเป็นโรคอะไรก็มาตรวจหาโรค หมอจ่ายยาก็จบ แต่การรักษาคน ต้องปรับพฤติกรรมที่ก่อโรค หมอมีหน้าที่แนะนำให้ผู้ป่วยพึ่งตนเอง ร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา เราต้องดูแลตัวเอง"

ส่วน รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ เคยป่วยและฟื้นฟูตัวเองจาก "ดุลยภาพบำบัด" เธออธิบายว่า เมื่อชีวิตขาดสมดุล โรคภัยย่อมมาเยือน ดุลยภาพบำบัดตามวิธีการของเธอ โดยนำการวินิจฉัยแบบแผนปัจจุบันมาผสมผสานกับการนวดไทยและการฝังเข็มแบบจีนที่บ้านสวนคลินิค

"ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตขาดดุลยภาพโดยไม่รู้ตัว เช่น ใช้อวัยวะร่างกายข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป ลงน้ำหนักเอียงข้างขวาหรือซ้ายมากเกินไป การเกิดอุบัติเหตุ หรือกระทั่งตอนคลอด นำมาสู่การเป็นโรคต่างๆ ทั้งหมอนรองกระดูกทับเส้น อัมพฤกษ์ อัมพาต ส่วนใหญ่เวลาไปหาหมอก็จะรักษาตามอาการ"
เธอตั้งข้อสังเกตว่า ปวดหลังไปหาหมอหายแล้วก็เป็นอีก นั่นเพราะโครงสร้างเสียสมดุล อาการเหล่านี้สามารถบำบัดเบื้องต้นด้วยการบริหารร่างกายแบบง่ายๆ ได้ทุกวัน จากนั้นให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

อีกทางเลือกตามแนวทางการแพทย์แผนทิเบต หมอดิน -ตถตา ทองเพียร ผู้เยียวยาร่างกายด้วยวิธีการดังกล่าว คุยถึงวัยเด็กว่า เริ่มจากเรียนมวยจีน แล้วทำความรู้จักกับร่างกายตัวเอง

"สมัยผมเป็นวัยรุ่น ผมไม่สนใจตัวเองเลย จะกินหรือนอนตรงไหนก็ทำตามอารมณ์ ไม่คิดว่าร่างกายจะได้รับผลกระทบ จนได้ศึกษาการแพทย์ทิเบต ซึ่งมีส่วนคล้ายการแพทย์แบบจีน เป็นการเชื่อมโยงระหว่างกายกับจิต ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ด้วยอารมณ์ที่สงบ และมีความกลมกลืนกับจิตวิญญาณ" หมอดิน กล่าวและย้ำว่า เมื่อใดที่คุณเครียด พลังชีวิตก็จะขาดหายไป แต่ถ้าเราสร้างสมดุลให้ร่างกายก็จะมีพลัง อารมณ์สดชื่นแจ่มใส สมองปลอดโปร่ง

อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพด้วยการพึ่งพาตนเอง เป็นอีกทางเลือกที่ต้องปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสมดุลให้ชีวิตแบบองค์รวม และวิธีการนี้ไม่ใช่ทางลัดในการดูแลสุขภาพ

เรื่องนี้หมอทราย -พิชิต กัณฑรัตน์ แพทย์ทางเลือกสู้ชุมชนพึ่งตนเอง อ.ภูซาง จ.พะเยา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวเองว่า ตอนจบปริญญาตรีกลับบ้านมาปลูกพืชสมุนไพร คนก็สงสัยว่า ทำไมไม่ปลูกยางซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจขายได้ราคา

"ผมคิดพืชสมุนไพรสามารถรักษาโรคได้ ทั้งโรคเกาต์ นิ่ว ผื่นแพ้ ดีซ่าน ขับพิษอุจจาระได้หมด ผมคิดว่า เราทุกคนมีทางเลือกมากกว่าหนึ่ง เพื่อทำให้ต้นทุนชีวิตกลับมาดีขึ้น วิธีการรักษาของผมจะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต"

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นคำแนะนำฉบับย่อ เพื่อให้คนหันมาดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น