6 ธ.ค. 2552

รู้ทันอาการผิดปกติหญิง-ชาย หนึ่งปัจจัยไขปัญหามีบุตรยาก

"ลูก" เป็นสิ่งที่หลายครอบครัวกำลังเฝ้ารอ และพยายาม ทำทุกวิถีทางที่จะได้ใช้คำคำนี้เรียกขานเด็กน้อยสักคนหนึ่งที่จะเกิดมาช่วย สร้างรอยยิ้ม และเติมเต็มความสุขให้กับ "ครอบครัว"ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การตั้งครรภ์ของสตรี คือ ช่วงอายุตั้งแต่ 20-29 ปี โดย สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ผู้หญิงจะมีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 85 ภายใน 1 ปี ที่เหลือจากนั้นจะมีโอกาสเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังไม่ตั้งครรภ์

ซึ่งจะเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มผู้มีบุตรยาก!!!นพ.บัญชา กรรณล้วน สูติ-นรีเวช สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา อธิบายเกี่ยวกับภาวะของผู้มีบุตรยากให้ฟังว่า หมายถึง การที่คู่สมรสพยายามที่จะมีบุตรโดยไม่ได้คุมกำเนิด และมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 1 ปี แต่ยังไม่มีการตั้งครรภ์สาเหตุโดยรวมเกิดจากฝ่ายชาย 40 เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายหญิง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง 10 เปอร์เซ็นต์ และไม่ทราบสาเหตุอีก 10 เปอร์เซ็นต์ โดยด้านฝ่ายหญิง สาเหตุที่พบมาจาก ความผิดปกติของรังไข่ ได้แก่ ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ท่อนำไข่ผิดปกติ เช่น ตีบ คดงอหรืออุดตัน ที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์

รวมทั้ง ความผิดปกติของอุ้งเชิงกราน เช่น มีพังผืดจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การติดเชื้ออักเสบ เนื่องจากการผ่าตัด รวมถึง มดลูกผิดปกติ เช่น ปากมดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก ความผิดปกติโดยกำเนิด และปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคประจำตัว โรคภูมิแพ้ ความเครียดส่วนฝ่ายชายมาจากหลายสาเหตุเช่นกัน ตั้งแต่โครงสร้างการสร้างตัวอสุจิที่ผิดปกติ เช่น จำนวน รูปร่าง การเคลื่อนไหว ท่อนำน้ำเชื้ออสุจิอุดตัน เช่น เป็นโดยกำเนิด การติดเชื้อ การบาดเจ็บบริเวณอัณฑะ เช่น ได้รับการผ่าตัดมีบาดแผล การหลั่งน้ำเชื้อที่ผิดปกติ เช่น น้ำเชื้อไหลย้อนกลับ รวมทั้ง ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ และปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคเครียดโดยฝ่ายชายจะตรวจพบง่ายกว่าฝ่ายหญิง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยการตรวจน้ำเชื้อ ถ้าปกติดีจะไม่ยุ่งยากอะไร

แต่ถ้าเป็นฝ่ายหญิงจะยุ่งยาก เพราะอวัยวะต่างๆ ที่จะต้องตรวจอยู่ในช่องท้อง ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอก นอกจากนี้ กระบวนการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในฝ่ายหญิง จึงทำให้มีความซับซ้อนมากกว่า"เมื่อตรวจพบว่าเกิดจากสาเหตุใดแล้ว จะต้องสืบค้นว่า ทำไมจึงเกิดสาเหตุตรงนั้น โดยฝ่ายหญิงจะต้องมีการตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจระดับฮอร์โมน มีการตรวจดูในเรื่องของท่อนำไข่ว่ามีการอุดตันหรือไม่ ด้วยการเอกซเรย์แล้วฉีดสี เพื่อดูว่าสีสามารถออกได้หรือไม่ วิธีที่ 2 คือ การผ่าตัดส่องกล้อง ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง คือ จะเห็นพยาธิสภาพจริงว่าเป็นอย่างไรด้วยตาเปล่า ซึ่งนำมาขยายได้ หากมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ก็จะเห็นด้วย แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง รวมทั้งเป็นการผ่าตัด

ขณะที่เอกซเรย์ฉีดสีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ไม่ต้องผ่าตัด แต่ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องไม่แพ้สารไอโอดีน รวมทั้งการตรวจลักษณะนี้จะไม่เห็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ ไม่เห็นพังผืดในช่องท้อง จะบอกได้แค่ว่าท่อนำไข่ตันหรือไม่ตันเท่านั้นอีกวิธีหนึ่งที่มีการพัฒนาขึ้นมา คือ การอัลตราซาวด์ ร่วมกับการฉีดน้ำเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วดูว่าน้ำออกมาได้หรือไม่ โดยจะอัลตราซาวด์ดูที่หน้าท้อง แต่มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องใช้แพทย์ผู้ชำนาญการ"ในขณะที่ ฝ่ายชาย จะตรวจความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ มักแนะนำให้ตรวจหลังจากว่างเว้นการหลับนอนกับภรรยา 3-7 วัน ถ้าปกติก็ไม่จำเป็นต้องตรวจอะไรอีก ถ้าผิดปกติจะมีการตรวจซ้ำเพื่อความแน่ใจ โดยถ้าพบว่าผิดปกติเหมือนกันทั้ง 2 ครั้ง จะทำการตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติต่อไปเพื่อจะได้รักษาได้อย่างถูกต้องเมื่อทั้ง 2 ฝ่าย สมบูรณ์พร้อมที่จะมีบุตรแล้ว การมีบุตรเกิดขึ้นได้ โดยเริ่มจากการรักษาแบบพื้นฐานก่อน อันดับแรกจะต้องให้คู่สมรสมานั่งคุยกับหมอ

โดยหมอจะซักถามประวัติเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งซักประวัติฝ่ายชายว่า ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์หรือไม่ และฝ่ายหญิงว่ามีรอบเดือนเป็นอย่างไรบ้าง สม่ำเสมอหรือไม่ หากปกติทั้งคู่ จากนั้น จะคำนวณว่า ฝ่ายหญิงน่าจะมีการตกไข่เมื่อไร โดยแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้นวิธีต่อมา ยังมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ คือ มีการทานยาร่วมด้วยในฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นยากระตุ้นการตกไข่ โดยปกติรอบเดือนของฝ่ายหญิงจะมีการตกไข่เพียง 1 ใบ เมื่อทานยากระตุ้นการตกไข่ ซึ่งจะเป็นการไปหลอกสมองทำให้มีการตกไข่หลายใบมากขึ้น

ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์มีสูงขึ้นตามมาด้วย และมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้อีกด้วย วิธีนี้จึงต้องชี้แจงให้ทั้งคู่เข้าใจก่อนว่า การใช้วิธีนี้มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด หากต้องการเพียง 1 คน จะไม่ใช้วิธีนี้ หรือจะต้องมีการอัลตราซาวด์ดูว่ามีไข่ตกกี่ใบ โดยการปฏิบัติ คือ เมื่อให้กินยากระตุ้นการตกไข่ก็นับวันมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีการตกไข่ ซึ่งจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้นพ.บัญชา กล่าวว่า "หากยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ยังมีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระตุ้นไข่เช่นเดียวกัน อาจจะกินยาหรือฉีดยาก็ได้ แต่มีการทำอัลตราซาวด์ด้วย เพื่อดูว่าไข่โตพร้อมที่จะตกแล้วหรือยัง รอจนกระทั่งไข่โตประมาณ 18-20 มิลลิเมตร จึงย้ายไข่สุก ขณะเดียวกัน นัดฝ่ายชายเพื่อนำน้ำเชื้อมาคัดเชื้อเลือกเฉพาะตัวเพื่อฉีดกลับเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง ที่เรียกกันว่า การผสมเทียม

ก็จะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากขึ้น"รวมทั้งการทำ เด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertili zation : IVF) โดยการกระตุ้นไข่ผ่านทางช่องคลอดแล้วนำไข่ออกมาทำการปฏิสนธิกับอสุจินอกร่างกาย หลังจากนั้น เลี้ยง ในตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนจนเป็นระยะบลาสโตซีสท์ แล้วจึงถ่ายไข่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อทำให้การตั้งครรภ์นั้นสมบูรณ์อีกวิธีหนึ่ง คือ การช่วยปฏิสนธิโดยการฉีดตัวอสุจิเข้าไปในไข่ ที่เรียกว่า อิ๊กซี่ (Intra Cytoplasmic Sperm Injection : ICSI)

โดยใช้เข็มแก้วเล็กๆ ฉีดเอาอสุจิ มาเพียง 1 ตัว เพื่อนำเข้าไปในไข่ 1 ใบ เลี้ยงต่อให้กลายเป็นตัวอ่อนจากนั้นจึงจะย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกนพ.บัญชา กล่าวทิ้ง ท้าย "ก่อนสมรสควรมีการตรวจร่างกาย เพื่อดูสภาพทั่วไป โดยฝ่ายชายมีการตรวจน้ำอสุจิ ฝ่ายหญิงจะเจาะเลือด และเมื่อแต่งงานมีเพศสัมพันธ์ตามปกติแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ควรกลับไปหาหมออีกครั้งเพื่อตรวจอย่างละเอียด จะได้ทราบสาเหตุ เพราะการพบสาเหตุตั้งแต่ระยะเริ่มแรกบางอย่างรักษาได้"การมีบุตรยากไม่ใช่เรื่องน่าอาย การมาพบหมอตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อเริ่มไม่มีบุตรตั้งแต่ปีแรกที่แต่งงานเพราะหากมีสภาวะอื่นที่เป็นสาเหตุจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที ถ้ารอเวลานานอาจต้องใช้เวลาในการรักษาให้หายก่อนจึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้

ไม่มีความคิดเห็น: