สืบเนื่องจากข่าวดังที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ กรณีวัยรุ่นชายไทยแห่ไปตัดไข่ (อัณฑะ) เพื่อหวังให้ร่างกายใกล้เคียงหญิงสาวนั้น สังคมไทยตื่นตัวกันมาก ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงวัยรุ่นชายที่ตัดไข่ไปแล้วและที่กำลังตัดสินใจจะไปตัดไข่
การตัดไข่ (อัณฑะ) มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ที่ไปตัดไข่อย่างไรนั้น ทางนิตยสารหมอชาวบ้าน ได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา อาจารย์ประจำหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่อง "ตัดไข่" ดังนี้
ต่างประเทศ วัยรุ่นนิยมตัดไข่ และ/หรือแพทย์ตัดไข่ให้วัยรุ่นหรือไม่
ในต่างประเทศ การตัดไข่ (อัณฑะ) เป็นเรื่องใหญ่ วัยรุ่นที่ตัดสินใจตัดไข่ที่อายุน้อยที่สุดที่ยอมรับได้คือ อายุ 18 ปี จึงไม่ทำการตัดไข่ในวัยรุ่นตอนต้น เนื่องจากวัยรุ่นอาจมีความคิดและการตัดสินใจไม่รอบคอบและอาจมีความคิดเปลี่ยนไปมาได้ การตัดไข่ออกไปแล้วไม่สามารถนำกลับมาใส่ในถุงอัณฑะดังเดิมได้
ดังนั้น การตัดไข่ในวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 18 ปี จึงไม่ใช่การเตรียมแปลงเพศที่เป็นมาตรฐานการรักษา และไม่เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วโลก
วัยรุ่นไทยแห่ไปตัดไข่มากขึ้นเพราะอะไร
วัยรุ่นไทยมีการตัดไข่มากขึ้นหรือไม่ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยาชัดเจนเป็นเหตุผลที่พอจะบอกได้ เนื่องจากมีแพทย์เพียงไม่กี่คนที่ตัดสินใจทำ การตัดไข่ให้วัยรุ่นทั้งๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เท่าที่ทราบโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย ไม่มีแห่งไหนสอนหรือทำการผ่าตัดไข่ในเด็กวัยรุ่น
ก่อนตัดไข่แต่ละครั้งต้องพิจารณาอะไรบ้าง
การตัดไข่ออกไป เป็นการทำลายแหล่งสร้างฮอร์โมนเพศชายออกไปอย่างถาวร ในต่างประเทศ วัยรุ่นที่ต้องการตัดไข่ ต้องอายุเกิน 18 ปี พ่อแม่ ผู้ปกครองและวัยรุ่นเองต้องเห็นพ้องกัน และปรึกษาหารือกับแพทย์เฉพาะทางด้านฮอร์โมนศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะและจิตแพทย์ เพื่อร่วมกันประเมินว่าวัยรุ่นคนนั้นมีสภาพจิตใจที่ต้องการเป็นหญิงจริงๆ
หลังจากนั้น แพทย์ทางด้านฮอร์โมนจะให้ฮอร์โมนเพศหญิงร่วมกับยาต้านฮอร์โมนเพศชาย เพื่อให้มีลักษณะภายนอกคล้ายหญิง กล่าวคือ มีการขยายตัวของเต้านม หนวดเคราลดลง เป็นต้น และให้วัยรุ่นผู้นั้นดำรงชีวิตในสังคมเป็นหญิงอย่างน้อย 1-2 ปี
เมื่อวัยรุ่นมั่นใจว่าการแปลงเพศเป็นหญิงแล้วมีความสุขและต้องการเป็นหญิงแน่นอนแล้ว แพทย์จึงจะพิจารณาผ่าตัดไข่ออกไป
ผลข้างเคียงทั้งทางตรงทางอ้อม หลังตัดไข่ มีอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงทางตรงคือ อัณฑะหายไปอย่างถาวร ไม่มีโอกาสกลับมาเป็นชายและมีลูกเหมือนคนปกติ
ผลทางอ้อมคือ การขาดฮอร์โมนเพศในวัยรุ่นที่การเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ อาจมีผลต่อความสูง และต่อมวลกระดูก ทำให้อาจสูญเสียความสูงไปบางส่วน และอาจมีภาวะกระดูกพรุนตามมาในอนาคต
การได้รับฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน เพื่อให้เต้านมโต มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต และอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกของต่อมใต้สมองชนิดที่สร้างฮอร์โมนโพรแล็กทิน (prolactinoma)
ไข่ที่ตัดออกไปแล้ว สามารถแช่แข็งและเปลี่ยนใจใส่กลับไปใหม่ได้หรือไม่
ปัจจุบันเท่าที่ทราบ ยังไม่มีสถาบันใดเก็บลูกอัณฑะที่ตัดออกแล้วนำไปแช่แข็งเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ โดยทฤษฎีถ้ามีการเตรียมการให้พร้อม อาจกระทำได้ แต่ความสมบูรณ์ของอัณฑะอาจไม่ปกติ นอกจากนั้นการผ่าตัดต่อทั้งหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงลูกอัณฑะเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากมาก
พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุยกับลูกที่คิดจะไปตัดไข่อย่างไรบ้าง
วัยรุ่นเป็นช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์อย่างมาก พ่อ แม่ และผู้ปกครองควรปรึกษาหารือกับลูก และแพทย์เฉพาะทางรวมทั้งจิตแพทย์ เพื่อให้มั่นใจจริงๆ ว่า วัยรุ่นดังกล่าวไม่เปลี่ยนใจแน่นอน จึงจะตัดสินใจยอมให้ตัดไข่ออก เพราะเมื่อตัดออกแล้วก็จะสูญเสียไข่ไปตลอดชีวิต
ขอฝากถึงวัยรุ่นชายทั้งหลายหากต้องการดำรงชีวิตเป็นหญิง ขอให้ปรึกษาหารือและศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ถ่องแท้ ว่าชีวิตที่เป็นหญิงเหมาะสมกับตนเองจริงๆ การตัดไข่จึงควรเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจริงๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น