14 ม.ค. 2553

เตือนภัยเสียงดัง 10 สถานที่ อาจทำให้หูหนวก

เตือนภัยเสียงดัง 10สถานที่หูหนวก ในกรุงเทพฯ (มติชน)เสียงดัง . . .รำคาญ ปวดหู

อาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ที่เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ ด้วยความห่วงใย ทาง "ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ" ชมรมที่เกิดจากการรวมตัวของคนหลากหลายอาชีพ อาทิ แพทย์ สถาปนิก อาจารย์ พยาบาล ฯลฯ ที่มีความฝันอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสงบ และสุขภาพดี จึงได้สำรวจสถานที่หนวกหูทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีความดังเกิน 50 เดซิเบล พบ 10 สถานที่ ที่เป็น "ภัย" ต่อโสตประสาท ของคนกรุง

รถไฟฟ้าบีทีเอส แม้จะนำความสะดวกสบายมาให้ในการเดินทาง แต่ข้อเสียอยู่ที่เสียงโฆษณาทั้งในและนอกขบวนรถที่ดังเกินไป, โรงภาพยนตร์, ห้างสรรพสินค้า แหล่งเกิดเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงประกาศ เสียงโฆษณาสินค้า แต่ที่หนักสุด คือ การจัดงานอีเว้นต์ ที่เปิดเสียงการจัดงานดัง จนเรียกว่าจัดที่ชั้น 1 ดังถึงชั้น 5 ซึ่งมีความดังถึง 85 เดซิเบล

อีกหนึ่งสถานที่ที่ให้ประโยชน์ทางกายแต่ให้โทษทางหู คือ สถานที่ออกกำลังกายในสวนสาธารณะ อย่างการเต้นแอโรบิค ซึ่งมักเปิดลำโพงยักษ์หันหน้าหาผู้เต้น งานนี้หูของคนรักสุขภาพต้องรับความดังของเสียง 75-82 เดซิเบล ลำโพงกลางแจ้ง ลำพังเสียงดังของการจราจรบนท้องถนนก็ดังอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังมีโทรทัศน์ขนาดยักษ์ เปิดเสียงดังแข่งกับเสียงรถให้คนผ่านไปมาได้ปวดทั้งหัว ปวดทั้งหู ซึ่งเสียงจากลำโพงกลางแจ้งดังกว่า 74 เดซิเบล

แหล่งมลพิษทางหูอีกแห่ง คือ เสียงนกหวีด บรรดา รปภ.มักจะสร้างมลพิษทางหูอยู่บ่อย ๆ เรียกว่า เป่านกหวีดเป็นว่าเล่น รู้ไหมว่าการเป่านกหวีดแต่ละครั้งเป็นการสร้างมลพิษทางเสียงถึง 94 เดซิเบล สถานที่สร้างมลพิษอีกที่คือ วัด ใครจะคิดว่างานวัดที่จัดกันอย่างเกลื่อนในวัดเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงที่ดังกว่า 85 เดซิเบล ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ คงไม่พ้นพระภิกษุ นอกจากนี้ ยังรวมถึง สถานที่ที่มีการก่อสร้าง ทั้งการตอกเสาเข็ม เจาะคอนกรีต, ขนส่งมวลชน ที่มักติดตั้งโทรทัศน์ในรถโดยสาร และนิยมเปิดเสียงดัง ๆ

สุดท้าย เสียงเพื่อนบ้าน ทั้งเสียงตะโกน เสียงทะเลาะ เสียงการจัดงานเลี้ยง ร้องคาราโอเกะกลางแจ้งของเพื่อนบ้านก็นับเป็นมลพิษทางเสียงด้วย

อาจารย์อรญา สูตะบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ประสานงานชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ (www.quietbangkok.org) บอกว่า จากการลงพื้นที่สำรวจทั่วกรุงเทพฯ ปัญหาที่พบคือ มีการใช้โทรทัศน์จอยักษ์ เครื่องขยายเสียง และลำโพงมากขึ้น ๆ ซึ่งอันตรายจากเสียงดัง เบื้องต้นจะทำให้เกิดความหงุดหงิด เครียด และหากยังไม่เร่งแก้ไข ผลในระยะยาวคือ การสูญเสียการได้ยินในที่สุด

"ระดับเสียงปกติที่ไม่เป็นอันตราย ควรต่ำกว่า 50 เดซิเบล แต่ขณะนี้ตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ระดับเสียงอยู่ที่ 70 เดซิเบล ซึ่งจุดยืนของกลุ่ม ไม่ต้องการให้กรุงเทพฯ ไร้เสียง แต่อยากให้ผู้ที่มีหน้าที่ทำให้เกิดเสียงดังตระหนักและควบคุมเสียงไม่ให้เกินกว่า 50 เดซิเบล แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ควรมีมาตรการในการจำกัดเวลาเปิดเสียงดัง เพื่อคนกรุงเทพฯ จะได้มีสุขภาพการได้ยินที่ดี"

เป็นภัย . . .ที่คนกรุงต้องช่วยกันแก้ไข ก่อนที่คนในเมืองศิวิไลซ์จะกลายเป็นคนสูญเสียการได้ยินในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น