ปัญหาของโรคตาที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะตาบอดหรือความบกพร่อง ในการมองเห็นนั้น เป็นความพิการที่น่าสลดใจ ปัญหาตาบอดหรือสายตาเสีย มักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งความพิการทางตานี้สามารถป้องกัน และรักษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความเกี่ยวพันกับภาวะขาดสารอาหาร สารอาหารที่มีข้อมูลสนับสนุนว่ามีความสัมพันธ์กับโรคตา คือ วิตามินเอ ธาตุสังกะสี วิตามินอี และวิตามินซี
วิตามินเอ วิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน แหล่งอาหารที่ให้ วิตามินเอสูง ได้แก่ ตับ ไข่แดง น้ำมันตับปลา นม ผักใบเขียวเข้ม มะละกอ ฟักทอง มะม่วงสุก ฯลฯ วิตามินเอมีความสำคัญต่อ ร่างกายในด้านการมองเห็นในแสงสลัว การบำรุงรักษาเซลล์บุผิว การเจริญเติบโต การทำงานเป็นปกติของระบบสืบพันธุ์ และ ระบบภูมิคุ้มกัน
เกล็ดกระดี่
อาการทางตาของการขาดวิตามินเอ เริ่มจากอาการตาบอดกลางคืนในระยะแรก คืออาการเยื่อบุตาขาวแห้ง เนื่องจาก การสร้างเมือกตามเยื่อบุต่าง ๆ ลดลง การสร้างน้ำตาเพื่อหล่อเลี้ยงตา ลดลง อย่างเห็นได้ชัด เมื่ออาการขาดรุนแรงขึ้น จะพบลักษณะที่เรียกว่า "เกล็ดกระดี่" เป็นคล้ายรอยแผลที่เยื่อตาขาว มีลักษณะย่น เมื่อมีภาระขาดมากขึ้น เยื่อกระจกตาจะแห้งทำให้ตาบอดได้
สังกะสี ธาตุสังกะสีมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ การคงสภาพของผนังเซลล์ การมองเห็นในที่มืด การรับรส และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย อาหารที่ให้ธาตุสังกะสีในปริมาณสูงและมีการดูดซึมได้ดี คือ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลจำพวกหอย ไข่ และผลิตภัณฑ์นม ในคนและสัตว์ถ้าขาดสังกะสีแล้วจะเจริญเติบโตช้า ผมร่วง ผิวหนังอักเสบและมีรอยโรค อุจจาระร่วง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตาบอดกลางคืน การรับรสผิดปกติ แผลหายช้า มีนิสัยและพฤติกรรมผิดแปลก ธาตุสังกะสีเป็นองค์ประกอบของเอ็นไซม์ซึ่งมีบทบาท สำคัญ ในการ เปลี่ยนวิตามินเอให้อยู่ในรูปที่ร่างกายนำไปใช้ได้ และมีบทบาทในการขนถ่ายวิตามินเอจากตับไปสู่กระแสเลือด จึงได้ข้อเสนอแนะว่า การเสริมธาตุสังกะสีโดยเฉพาะ ในกรณีที่ ร่างกายมีธาตุสังกะสี ไม่เพียงพอ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาวะการขาดวิตามินเอและการมองเห็นในที่มืด เป็นอย่างยิ่ง
วิตามินอี วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ทำหน้าที่เป็น สารแอนติออกซิแดนต์ วิตามินอีมีอยู่ในแหล่งอาหารทั่วไปเช่น น้ำมันพืช ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่าง ๆ จมูกข้าวสาลี วิตามินอีมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคตาในทารกคลอดก่อนกำหนด
วิตามินซี วิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ มีคุณสมบัติเป็น แอนติออกซิแดนต์ เช่นเดียวกับวิตามินอี หากขาดวิตามินซี ผิวหนังจะผิดปกติ แผลหายช้า การสร้างฟันผิดปกติ หลอดเลือดฝอยแตกง่าย โรคเลือดออกตามไรฟัน วิตามินซีมีอยู่มากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว มะเขือเทศ ผักต่าง ๆ เช่น กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บรอคโคลี่ และผักใบเขียวหลายชนิด
บทบาทของวิตามินซีและวิตามินอีกับต้อกระจก
ต้อกระจก
"ต้อกระจก" เป็นสาเหตุประการหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็น และปัญหาตาบอดในผู้สูงอายุ เนื่องจาก วิตามินอี และวิตามินซีเป็นสารแอนติ ออกซิแดนต์ จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า วิตามินอีและวิตามินซีมีผลในการป้องกันการเกิดต้อกระจกและผู้วิจัยได้เสนอแนะว่า การได้รับวิตามินอีและวิตามินซีเสริมนี้ สามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกลงได้ครึ่งหนึ่ง
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า วิตามินเอเป็นสารอาหารที่สำคัญ ในการรักษาลักษณะทางกายภาพและการทำงานของตาให้เป็นปกติ ภาวะการขาด วิตามินเอจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ เริ่มจากอาการตาบอด กลางคืน เยื่อบุตาขาวแห้ง ย่น เป็นแผล ตามมาด้วยกระจกตาแห้ง ขรุขระ อ่อนเหลว และท้ายสุด หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีตาอาจบอดได้ ส่วนธาตุสังกะสี จะทำงานร่วมกับวิตามินเอในกระบวนการทางเคมี ให้เกิดการมองเห็นในที่มืด นอกจากนี้ยังช่วยให้มีการสร้างโปรตีนตัวพาของวิตามินเอ ในตับ เพื่อจะได้ลำเลียงวิตามินเอไปยังเนื้อเยื่อที่ต้องการได้อีกด้วย มีการศึกษาที่แสดงว่าการให้สังกะสีเสริมในผู้ป่วยโรคตับ จากพิษสุราเรื้อรัง
และ ในเด็กวัยเรียนช่วยให้การมองเห็นภาพ ในที่มืดดีขึ้น สำหรับวิตามินอี ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสาร แอนติออกซิแดนต์นั้น มีรายงานว่า ช่วยลดอุบัติการณ์ และความรุนแรงของโรคตาในทารกคลอดก่อนกำหนดได้ และท้ายสุดนี้คือการเสนอแนะว่า วิตามินอีและวิตามินซี ซึ่งมีฤทธิ์เป็นแอนติออกซิแดนต์ สามารถลดอัตราเสี่ยง ของการเกิดต้อกระจก ในกลุ่ม ผู้สูงอายุ ซึ่งข้อเสนอแนะนี้ ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น