14 ม.ค. 2553

ระวังอันตรายจากลูกเหม็น

ระวังอันตรายจากลูกเหม็น (ชีวจิต)

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่ใช้แนฟทาลีนหรือที่เราเรียกกันว่า "ลูกเหม็น" ว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เมื่อร่างกายของเราได้รับจากการหายใจ สัมผัสทางผิวหนังโดยตรงผ่านทางเสื้อผ้า หรือผ้าห่มที่มีการสัมผัสกับลูกเหม็น หรือกินเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก คอ และผิวหนัง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน มีเลือดออกทางปัสสาวะ และผิวหนังซีดเหลือง

ถ้ามีแนฟทาลีนในปริมาณมาก จะทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย โดยเฉพาะในทารก เด็ก สตรีมีครรภ์ และคนที่มีภาวะระดับเม็ดเลือดแดงผิดปกติ หรือมีเอนไซม์บางชนิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโลหิตมาแต่เกิด เมื่อได้รับสารแนฟทาลีนจะเกิดภาวะโลหิตจางได้ง่าย

นอกจากนี้ยังพบว่า แนฟทาลีนที่ตกค้างในร่างกายของสตรีมีครรภ์และแม่ที่ให้นมบุตร ยังสามารถผ่านทางรกและทางน้ำนมได้ด้วย ทำให้ลูกที่เกิดมามีภาวะของโรคโลหิตได้ด้วย

ดังนั้นถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้ลูกเหม็น ในการกำจัดแมลงในตู้เสื้อผ้า หรือช่วยดับกลิ่นในห้องน้ำ เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานและตัวผู้บริโภคเอง ควรเก็บลูกเหม็นหรือก้อนดับกลิ่นให้พ้นมือเด็ก หรือในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อป้องกันการรั่วไหลของไอระเหย ที่จะทำให้สารแนฟทาลีนเข้าสู่อากาศ และก่อนใช้เสื้อผ้าจากตู้ที่มีการใช้ลูกเหม็น ควรนำไปผึ่งแดดหรือผึ่งลมก่อน เพื่อกำจัดกลิ่นและไอระเหยของแนฟทาลีน ที่ตกค้างบนเสื้อผ้าอีกครั้งก่อนสวมใส่ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ลูกเหม็นกับเสื้อผ้าหรือผ้าห่มของเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากโรคร้าย

หากไม่จำเป็นจริง ๆ ขอแนะนำว่าไม่ควรใช้ลูกเหม็นน่าจะดีกว่าค่ะ เพราะอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวโดยที่เราไม่รู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น