20 ก.พ. 2553

ปากแหว่ง-เพดานโหว เด็กอีสานน่าห่วงสุด



ภาวะ "ปากแหว่ง-เพดานโหว่" เป็นความพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นกับเด็กแต่แรกเกิด ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก บิดามารดา-ผู้ปกครอง รวมถึงเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งความพิการทางร่างกายที่เห็นเด่นชัดคือ รูปร่างและเค้าโครงของใบหน้า การพูดไม่ชัด ภาวะแทรกซ้อนหูชั้นกลางอักเสบ การได้ยิน ระบบการกลืนอาหาร ปัญหาเกี่ยวกับฟัน การสบฟัน การเจริญเติบโตช้า



เด็กพิการปากแหว่ง-เพดานโหว่ในไทยมีจำนวนมาก และจากการสำรวจ "ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน"


"ภาวะปากแหว่ง-เพดานโหว่ เป็นความพิการแต่กำเนิด จากการสร้างอวัยวะใบหน้า ปาก จมูก ผิดปกติในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์ สาเหตุที่ทำให้ร่างกายสร้างอวัยวะไม่สมบูรณ์ อาจมาจากพันธุกรรม การดูแลระหว่างตั้งครรภ์ เกิดการติดเชื้อ และได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในระหว่างตั้งครรภ์"


...นี่เป็นการระบุของ ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ในฐานะประธาน "มูลนิธิตะวันฉาย" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกอีกว่า... จากการรวบรวมสถิติผู้พิการปากแหว่ง-เพดานโหว่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เมื่อปี 2536 พบผู้ป่วยมากถึง 2.5 รายต่อเด็กแรกเกิด 1,000 ราย

ถือเป็นสถิติสูงสุดในประเทศไทยและสูงที่สุดในโลก !!


เฉลี่ยแต่ละปี จะพบเด็กแรกเกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภาวะปากแหว่ง-เพดานโหว่อัตราสูงถึง 800 รายต่อปี ซึ่งจุดที่น่าเป็นห่วงคือเด็กที่มีภาวะปากแหว่ง-เพดานโหว่ส่วนใหญ่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจน


ศ.นพ.บวรศิลป์ บอกต่อไปว่า... แม้ว่าพัฒนาการด้านโภชนาการและการแพทย์จะเจริญรุดหน้าไปมาก แต่สถิติเด็กแรกเกิดที่มีภาวะปากแหว่ง-เพดานโหว่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ปัจจุบันกลับไม่ลดลง ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย เฉพาะที่มาขึ้นทะเบียนรักษากับมูลนิธิตะวันฉาย มีผู้ป่วยมากถึง 200-250 คนต่อปี ถึงขณะนี้มียอดผู้พิการปากแหว่ง-เพดานโหว่สะสมที่ต้องดูแลรักษามากกว่า 1,000 คนแล้ว ซึ่งนัยของจำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจมาจากความสำเร็จของการเข้าถึงเด็กพิการ หรือสภาพปัญหาความพิการของเด็กไม่ได้ลดลง


ทั้งนี้ ความทุกข์ของเด็กพิการกลุ่มนี้ นอกจากสภาพใบหน้าที่ไม่เหมือนคนปกติแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านการสื่อสาร พูดไม่ชัด เสียงแหบ บกพร่องด้านการได้ยินหรือสูญเสียการได้ยินสิ้นเชิง ส่วนในช่องปากสภาพฟันมักขึ้นผิดปกติ หากไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาที่ถูกต้องใบหน้าอาจยุบเมื่อโตขึ้น ปัจจัยเหล่านี้กระทบต่อจิตใจ เด็กมักถูกเพื่อนล้อ ขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต หรือการแสดงออกในสังคม


"การรักษาเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงอายุ 18 ปี ตามพัฒนาการของร่างกาย จากทีมสหวิทยาการ ทั้งศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ นักแก้ไขการพูด นักแก้ไขการได้ยิน ฯลฯ เพื่อให้พัฒนาการร่างกายเด็กปกติเมื่อเติบโตขึ้น ส่วนใหญ่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดศัลยกรรม อาทิ การผ่ากราม จัดฟัน ศัลยกรรมใบหน้า ผ่าตัดเพดานปาก" ...ประธานมูลนิธิตะวันฉายกล่าว


ด้าน รศ.ดร.เบญจมาศ พระธานี นักแก้ไขการพูด มูลนิธิตะวันฉาย เสริมข้อมูลว่า... การรักษาผู้ป่วยปากแหว่ง-เพดานโหว่แต่ละรายนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่ง "มูลนิธิตะวันฉาย" ได้ดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องนี้ โดยเกิดขึ้นภายใต้โครงการพระราชทานตะวันฉาย ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 จัดตั้งเป็น "กองทุนตะวันฉาย" กองทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า


มีการระดมทุนจากการบริจาคของทีมสหสาขาวิชาชีพ ผู้มีจิตศรัทธา จนจดทะเบียนตั้งมูลนิธิเป็นผลสำเร็จ ภายใต้ชื่อ "มูลนิธิ ตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า" เมื่อ 12 ก.พ. ปี พ.ศ. 2552 วัตถุประสงค์คือเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพผู้ป่วยปากแหว่ง-เพดานโหว่ รวมทั้งสนับสนุนด้านการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย อันเป็นประโยชน์ต่อการดูแลกลุ่มผู้ป่วยปากแหว่ง-เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า อย่างครบวงจร


"ทุนของมูลนิธินั้นมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ รวม ทั้งการบริจาคจากประชาชน แต่จำนวนที่ได้รับเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลผู้พิการรายใหม่ปีละ 200-250 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนล่าสุดมียอดผู้ป่วยสะสมกว่า 1,000 ราย ยังไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ สามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี มูลนิธิตะวันฉายฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยขอนแก่น เลขที่บัญชี 551-412873-0 หรือสอบถามที่ โทร. 0-4336-3123 0-4336-3123, 08-1185-1511" ...รศ.ดร. เบญจมาศ ระบุและทิ้งท้ายว่า...

"การทำให้เด็กกลุ่มนี้เติบโต อย่างมีคุณภาพและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ"


จากตัวเลข-สถิติที่ว่ามา...ต้องถือว่าน่าตกใจ-น่าเป็นห่วง และกับผลกระทบที่เกิดกับเด็ก...ก็ถือว่าน่าสงสารมาก...ก็ฝากไว้ให้ผู้ใหญ่ใจบุญช่วยพิจารณาช่วยเหลือด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น