ชีวิตคนเราล้วนเต็มไปด้วยการตัดสินใจ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆไปถึงเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต การเลือกขึ้นอยู่กับตัวตนของเราแต่ละคน แต่บางครั้งเราก็ตัดสินใจผิดพลาด เป็นเหตุให้ตัวเองไม่มีความสุขหรือเฝ้าแต่เสียใจ แล้วหลักการทางวิทยาศาสตร์จะช่วยได้ไหม
แม้พวกเราส่วนใหญ่จะไม่รู้ถึงกระบวนการทางอารมณ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจ แต่โชคดีว่าสิ่งที่นักจิตวิทยาและนักประสาทชีววิทยาค้นคว้าอยู่อาจช่วยให้พวกเราตัดสินใจเลือกได้ดีขึ้น และต่อไปนี้คือการค้นพบที่น่าทึ่งหลายอย่าง ซึ่งเรานำมาบอกเล่าเพื่อช่วยการตัดสินใจของคุณ
1 อย่ากลัวผลที่จะตามมา
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกระหว่างรถใหม่กับบ้านหลังใหญ่ขึ้น หรือจะแต่งงานดีไหม การตัดสินใจแทบทุกครั้งของเราเกี่ยวเนื่องกับการประเมินอนาคต เราจินตนาการว่าการเลือกจะทำให้เรารู้สึกอย่างไร ปกติ เราจะเอนเอียงไปทางตัวเลือกซึ่งคิดว่าจะทำให้เรามีความสุขที่สุด ปัญหาของการประเมินด้วยความรู้สึกคือเรายังคาดการณ์ไม่เก่งพอ
ปกติ คนมักประเมินอิทธิพลของผลลัพธ์จากการตัดสินใจทั้งที่ดีและไม่ดีสูงเกินจริง "ผลลัพธ์ที่เป็นความสุขของเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะจืดจางและสั้นกว่าที่คนส่วนมากนึก" ดาเนียล กิลเบิร์ต นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว นี่เป็นความจริงในทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องเล็กๆอย่างเช่นไปร้านอาหาร หรือเรื่องใหญ่อย่างเช่นตกงาน
ปัจจัยสำคัญที่นำเราไปสู่การประเมินที่ไม่ดีคือ �รังเกียจการสูญเสีย� หรือความเชื่อว่า การสูญเสียนำความเจ็บปวดมาให้มากกว่าความพึงใจที่ได้รับ แต่กิลเบิร์ตชี้ว่าแม้ความรังเกียจการสูญเสียจะส่งผลต่อการเลือก แต่เมื่อเจอความสูญเสียจริงๆ คนกลับพบว่าเจ็บปวดน้อยกว่าที่คาดเอาไว้มากนัก
ดังนั้นแทนที่จะมัวนึกว่าผลลัพธ์จะทำให้เรารู้สึกอย่างไร ลองหาใครสักคนที่ตัดสินใจเหมือนเราแล้วดูว่าเขารู้สึกอย่างไร อย่าลืมว่าไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร มันอาจทำให้เราทุกข์หรือสุขน้อยกว่าที่เรานึกไว้ก็เป็นได้
2เชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง
แม้เรามักจะเชื่อว่าการตัดสินใจที่ดีนั้นต้องใช้เวลา แต่บางครั้ง การตัดสินใจตามสัญชาตญาณก็ดีได้เหมือนกันแม้จะไม่ดีกว่าจานีน วิลลิสและอเล็กซานเดอร์ โทโดรอฟจากมหาวิทยาลัยพรินส์ตันพบว่า เราตัดสินความสามารถ ความน่าเชื่อถือ ความก้าวร้าว ความน่าคบหา และเสน่ห์ดึงดูดใจของคนคนหนึ่งภายในเวลาหนึ่งในพันวินาทีที่เห็นใบหน้าใหม่ เมื่อให้เวลามองนานขึ้นจนถึงหนึ่งวินาที นักวิจัยพบว่าผู้สังเกตการณ์แทบไม่ทบทวนความเห็นของตน แต่เริ่มมั่นใจยิ่งขึ้นกับการตัดสินใจปุบปับนั้น
แน่นอนว่าข้อมูลที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยให้เราตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลได้ แต่ก็ดูขัดแย้งกันพิกลที่บางครั้งยิ่งได้ข้อมูลมาก เรากลับยิ่งเชื่อสัญชาตญาณตัวเอง
อัพ ไดค์สเตอร์ฮุสจากมหาวิทยาลัยรัดบาวด์ในเนเธอร์แลนด์พบว่า เวลาเลือกซื้อของง่ายๆเช่นเสื้อผ้า ผู้ซื้อจะพอใจกับการตัดสินใจมากขึ้นเมื่อผ่านไปสองถึงสามสัปดาห์หลังได้ชั่งน้ำหนักตัวเลือกอื่นๆแล้ว แต่สำหรับการซื้อของที่ซับซ้อนกว่าอย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ คนที่เชื่อสัญชาตญาณของตัวเองลงเอยด้วยความสุขมากกว่า
ไดค์สเตอร์ฮุสสรุปว่าการตัดสินใจโดยสัญชาตญาณยังนำไปปรับใช้ได้ผลดีกับเรื่องอื่นๆนอกจากการซื้อสินค้าในห้างเช่นเรื่อง บริหารจัดการและการเมือง
3 อารมณ์ก็มีส่วน
คุณอาจคิดว่าอารมณ์คือศัตรูของการตัดสินใจ แต่ความจริงอารมณ์นี่แหละคือส่วนสำคัญยิ่ง เมื่อใดก็ตามที่คุณตัดสินใจ ระบบลิมบิกหรือศูนย์ควบคุมอารมณ์ของสมองกำลังจะทำงาน อันโตนิโอ ดามาชิโอ นักประสาทชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ศึกษาคนที่สมองส่วนควบคุมอารมณ์เกิดความเสียหาย และพบว่าคนเหล่านั้นไม่สามารถตัดสินใจเรื่องพื้นๆ เช่นว่าจะสวมชุดอะไรหรือกินอะไรได้ ดามาชิโอสันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะสมองคนเราเก็บความทรงจำที่เป็นความรู้สึกของการเลือกในอดีต ซึ่งเรานำมาแจ้งให้การตัดสินใจในปัจจุบันรับรู้
อย่างไรก็ดี การเลือกภายใต้อิทธิพลของอารมณ์อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลลัพธ์ ดูอารมณ์โกรธเป็นตัวอย่าง การศึกษาโดยนิติกา การ์จแห่งมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี เจฟฟรีย์ อินมาน และไวคาส มิตทัลจากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กพบว่า ผู้บริโภคที่กำลังโกรธมีแนวโน้มว่าจะเลือกสิ่งแรกที่ตนได้รับการเสนอมากกว่าจะพิจารณาตัวเลือกอื่นๆ ดูเหมือนโทสะอาจทำให้เราหุนหัน เห็นแก่ตัว และอยู่ในภาวะเสี่ยง
อารมณ์ทุกอย่างส่งผลต่อการคิดและแรงจูงใจของเรา จึงควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจสำคัญภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ แต่น่าแปลกที่มีอารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งดูจะช่วยให้เราเลือกได้ดี นักวิจัยอเมริกันพบว่าคนซึมเศร้าใช้เวลาพิจารณาตัวเลือกหลากหลายและลงเอยด้วยการเลือกสิ่งดีที่สุด งานวิจัยหลายฉบับชี้ว่าคนซึมเศร้ายอมรับโลกตามความเป็นจริงอย่างที่สุด นักจิตวิทยาถึงกับเรียกพฤติกรรมนี้ว่าสัจนิยมแบบซึมเศร้า
4 หัดสอบสวนตัวเองบ้าง
เคยเถียงกับใครบางคนด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องแล้วหงุดหงิดเพราะพวกเขาเอาแต่ยกหลักฐานที่สนับสนุนความเห็นของตัวเองและไม่สนใจสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามบ้างไหม นี่เป็นความลำเอียงเข้าข้างตัวเองที่มีกันทุกคน ความลำเอียงแบบนี้จะกลายเป็นปัญหาถ้าเราเชื่อว่าตัดสินใจด้วยการชั่งน้ำหนักตัวเลือกต่างๆแล้ว แต่ความจริงเรามีความเห็นที่ชอบมากซึ่งเราอยากหาเหตุผลสนับสนุน
การจะเลือกตัดสินใจให้ดี คุณต้องทำมากกว่ายึดมั่นอยู่กับข้อเท็จจริงและตัวเลขที่ชอบมากที่สุด การค้นหาหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าคุณผิด เป็นสิ่งที่เจ็บปวด "บางทีการรับรู้ว่าเราอาจเป็นคนไม่เที่ยงตรงก็มากพอแล้ว" เรย์มอนด์ นิกเคอร์สัน นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยทัฟต์ กล่าว "แค่รับรู้ว่ามีความลำเอียงแบบนี้ และเราทุกคนอยู่ใต้อิทธิพลของมันก็น่าจะเป็นเรื่องดี" เราอาจมองในแบบเข้าข้างตัวเองน้อยลงและเลือกด้วยความถ่อมตนมากขึ้น
5 อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ
บางครั้ง การตัดสินใจของเราอาจยึดติดกับข้อเท็จจริงและตัวเลขที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ในงานวิจัยดั้งเดิมที่เสนอทฤษฎี "ความโน้มเอียงที่จะใช้ข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจ" คาห์นีมานกับอามอส ทเวอสกีขอให้ผู้ร่วมทำวิจัยประเมินจำนวนร้อยละของประเทศแอฟริกาในสหประชาชาติ ก่อนตอบคำถาม พวกเขาจะต้องหมุนวงล้อซึ่งมีตัวเลขไล่ตั้งแต่ศูนย์ถึง 100 แล้วระบุว่าตัวเลขที่ออกสูงหรือต่ำกว่า ผู้เข้าร่วมไม่ทราบว่าวงล้อถูกตั้งให้หยุดที่เลขสิบหรือไม่ก็ 65 ซึ่งตัวเลขนี้ไม่เกี่ยวกับคำถาม แต่ผลที่มีต่อคำตอบกลับน่าแปลก โดยเฉลี่ยผู้ร่วมตอบคำถามที่หมุนวงล้อได้เลขสิบจะให้คำตอบโดยประมาณที่ร้อยละ 25 ส่วนผู้ที่หมุนวงล้อได้เลข 65 ตอบว่าร้อยละ 45 ดูเหมือนตัวเลขคำตอบจะมากน้อยตามตัวเลขบนวงล้อ
เรื่องแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่เราเห็นคำว่า "ลดราคา" ในร้าน ราคาเดิมทำหน้าที่เหมือนข้อมูลเบื้องต้นซึ่งเมื่อเทียบแล้วราคาถูกลง ทั้งที่จริงก็แพงอยู่ดี เราจะเอาชนะความโน้มเอียงนี้ได้อย่างไร "ยากมาก" ทอม จิโลวิช นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล กล่าว กลยุทธ์คือให้สร้างข้อมูลเบื้องต้นของคุณมาถ่วงดุล แต่กระนั้นก็ยังมีปัญหา "เพราะคุณไม่รู้ว่าตัวเองได้รับอิทธิพลแค่ไหนจากข้อมูลเบื้องต้น การสร้างข้อมูลขึ้นมาชดเชยจึงทำได้ยาก"
6 ระวังแรงกดดันทางสังคม
คุณอาจคิดว่าตัวเองเป็นคนมั่นคงที่ไม่หวั่นไหวกับอะไร แต่ไม่มีใครหรอกที่ปลอดจากแรงกดดันทางสังคม เมื่อปี 2514 การทดลองที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจำต้องหยุดลงเมื่อนักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายให้รับบทเป็นผู้คุมนักโทษเริ่มกระทำทารุณทางจิตใจต่อนักศึกษาอีกกลุ่มที่รับบทนักโทษ งานวิจัยฉบับอื่นๆแสดงให้เห็นว่ากลุ่มบุคคล ที่มีความคิดคล้ายๆกันมีแนวโน้มว่าจะชักชวนกันทำอะไรที่สุดโต่ง
จะเลี่ยงอิทธิพลด้านลบของแรงกดดันทางสังคมได้อย่างไร หากสงสัยว่าเรากำลังจะตัดสินใจเพราะคิดว่านั่นคือสิ่งที่เจ้านายคงจะต้องการ จงคิดใหม่ หากคุณเป็นสมาชิกในกลุ่ม อย่าทึกทักว่ากลุ่มรู้ดีที่สุด และถ้าทุกคนเห็นพ้องตามกัน จงรับบทเป็นฝ่ายตรงข้าม สุดท้าย ระวังสถานการณ์ที่คุณมีส่วนรับผิดชอบน้อย เพราะเป็นไปได้มาก ว่าคุณอาจเลือกอย่างไม่รับผิดชอบ
บางครั้งแรงกดดันทางสังคมอาจเป็นเรื่องดี กลุ่มนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาทดลองหาวิธีสนับสนุนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม โดยวางกระดาษไว้ในห้องพักโรงแรมซึ่งเขียนชวนให้แขกใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำโดยให้เหตุผลตั้งแต่เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมเห็นแก่คนรุ่นหลังหรือแขกส่วนใหญ่ทำ ผลคือการทำตามแขกส่วนใหญ่จูงใจได้มากกว่าข้ออื่นถึงร้อยละ 30
7 มองจากมุมอื่นบ้าง
"ความโน้มเอียงที่จะคิดเป็นส่วนๆ" เมื่อตัวเลือกของเราบิดเบี้ยวไปด้วยวิธีการนำเสนอ อธิบายได้ว่า เหตุใดเราจึงเลือกซื้อขนมขบเคี้ยวที่ "ร้อยละ 90 ปลอดจากไขมัน" มากกว่าจะซื้อชนิดที่ "มีไขมันร้อยละสิบ" เราชอบตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับการได้และรังเกียจตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับการเสีย อีกปัจจัยคือเรามองตัวเลือกในฐานะส่วนหนึ่งของภาพรวมหรือมองแบบแยกส่วน
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2549 เบเนเดตโต ดิมาร์ติโน และเรย์ โดลันจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนใช้เครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอตรวจหาการตอบสนองของสมองต่อความโน้มเอียงที่จะคิดเป็นส่วนๆและพบว่ามีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นในส่วนอะมิกดาลาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในศูนย์ควบคุมอารมณ์ของสมอง เมื่อคนคนหนึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ให้มาเป็นส่วนๆ คนที่โน้มน้าวใจได้ยากที่สุดก็มีกิจกรรมในส่วนนี้ของสมองมากพอๆกัน แต่พวกเขารู้จักกดการตอบสนองเชิงอารมณ์ขั้นแรกได้ดีกว่าด้วยการสร้างความเชื่อมโยงกับเปลือกสมองส่วนหน้าสุดตรงเบ้าตาและส่วนกลางซึ่งเป็นส่วนของสมองที่เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับส่วนอะมิกดาลาและส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความคิดที่เป็นการใช้เหตุผล คนที่สมองส่วนนี้ถูกทำลายมีแนวโน้มจะเป็นคนหุนหัน
ดิมาร์ติโนกล่าวว่าเราไม่อาจเพิกเฉยต่อการนำเสนอข้อมูลเป็นส่วนๆได้ แต่ข้อสำคัญคือให้รู้ว่าเรามีความลำเอียงแบบนี้อยู่ มีหลักฐานยืนยันว่าประสบการณ์และการศึกษาที่ดีขึ้นสามารถต่อกรกับความลำเอียงนี้ได้ แต่มาตรการง่ายๆที่จะหลีกเลี่ยงคือ พิจารณาตัวเลือกของคุณมากกว่าหนึ่งมุม
8 อย่าคร่ำครวญกับสิ่งที่ผ่านไป
เรื่องนี้ฟังคุ้นๆไหม ในตู้เสื้อผ้ามีชุดที่คุณใส่ไม่ได้แต่ไม่ยอมทิ้งเพราะซื้อมาแพง แรงผลักดันเบื้องหลังการตัดสินใจแย่ๆนี้เรียกว่าความผิดพลาดแบบต้นทุนจม
ช่วงทศวรรษ 1980 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอชี้ให้เห็นว่าเราถูกวิธีคิดแบบนี้หลอกได้ง่าย โดยให้นักศึกษานึกว่าซื้อทัวร์ไปเล่นสกีวันหยุดในราคา 100 เหรียญ จากนั้นไปพบอีกทัวร์ราคา 50 เหรียญซึ่งถูกและที่พักดีกว่า แต่กว่าจะรู้ว่าทั้งสองทัวร์เดินทางวันเดียวกันก็เมื่อ จ่ายเงินแล้ว น่าแปลกที่นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกรายการทัวร์ซึ่งดึงดูดใจน้อยกว่าแต่แพงกว่าเพราะลงทุนมากไปแล้ว
เหตุผลในการเลือกก็คือยิ่งเราลงทุนไปมากก็ยิ่งรู้สึก ยึดมั่นกับสิ่งนั้น การลงทุนไม่ต้องเป็นเงินก็ได้ ใครบ้างที่ไม่เคยต้องทนอ่านหนังสือที่น่าเบื่อให้จบ จงเตือนตัวเองเสมอว่าอดีตคืออดีต ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ไม่น่าริเริ่มควรจบ ได้แล้ว เมื่อนั้นอาจไม่เหมาะที่จะทำต่อไป
9 จำกัดตัวเลือก
คุณอาจคิดว่าตัวเลือกยิ่งมากยิ่งดี แต่ลองดูกรณีนี้ คนพอใจกับการเลือกช็อกโกแลตจากที่มีให้เลือกห้าชนิดมากกว่าที่จะต้องเลือกจาก 30 ชนิด นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งทำวิจัยเรื่องความขัดแย้งของการเลือกกล่าวว่าแม้เราจะคิดว่ามีตัวเลือกมากกว่าดีที่สุด แต่บ่อยครั้งที่น้อยดีกว่ามาก
ตัวเลือกมากทำให้คุณต้องใช้ทักษะในการประมวลข้อมูลมากขึ้น กระบวนการก็ชวนให้สับสน แถมกินเวลาและยังเพิ่มโอกาสทำพลาด คุณจึงอาจรู้สึกไม่ค่อยพอใจ เพราะกลัวว่าตัวเองจะพลาดโอกาสที่ดีกว่า
ลักษณะขัดแย้งของการเลือกอาจเป็นผลเสียกับคนหนึ่งรุนแรงกว่าอีกคนโดยเฉพาะ "พวกที่ต้องได้มากที่สุด" หรือคนที่พินิจพิเคราะห์ทุกตัวเลือกก่อนตัดสินใจ ส่วนพวก "แค่นี้ก็ดีแล้ว" หรือมีแนวโน้มจะเลือกตัวเลือกแรกที่ตรงกับความต้องการของตนจะยุ่งยากน้อยที่สุด "ถ้าคุณตั้งใจไปหาสิ่งที่ "ดีพอแล้ว" แรงกดดันหลายอย่างจะหมดไปและภาระในการเลือกสักสิ่งท่ามกลางตัวเลือกที่มีไม่จำกัดก็จะกลายเป็นงานที่จัดการได้ง่ายขึ้น" แบร์รี ชวอร์ตซ์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสวอร์ทมอร์ กล่าว
ดังนั้นแทนที่จะตามหากล้องในฝัน ให้ถามเพื่อนว่าชอบกล้องที่ใช้อยู่ไหม ถ้าใช่ กล้องนั้นอาจทำให้คุณพอใจด้วย ชวอร์ตซ์บอก จงพยายามจำกัดจำนวนตัวเลือกบ้าง
10 ให้คนอื่นเลือกให้
เรามักเชื่อว่าจะมีความสุขมากกว่าถ้าได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร บางครั้ง กระบวนการตัดสินใจก็อาจยังเหลือความรู้สึกไม่พึงพอใจไว้ ถ้าเช่นนั้น อาจดีกว่าถ้าลดการควบคุม
เมื่อปีที่แล้ว ไซโมนา บอตติแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล และแอนน์ แม็กกิลล์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ตีพิมพ์ผลการทดลองชุดหนึ่งซึ่งค้นคว้าแนวคิดนี้ โดยให้ผู้เข้าทดสอบเลือกจากของจำนวนหลายชิ้นและไม่มีข้อมูลใดๆชี้นำ เมื่อถูกขอให้ระบุระดับความพึงพอใจกับผลที่ได้ และถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการตัดสินใจนั้น ทุกคนพอใจน้อยกว่า คนที่ได้รับคำแนะนำในการเลือก
นักวิจัยระบุว่าเหตุผลคือผู้เลือกไม่อาจยกความดีความชอบให้ตัวเองได้แม้จะลงเอยด้วยตัวเลือกที่ดี แต่เขายังคงรู้สึกหนักใจด้วยความคิดที่ว่าตนอาจเลือกได้ไม่ดีที่สุด แม้ผู้เลือกจะมีข้อมูลอยู่เล็กน้อย ถึงจะไม่มากขนาดต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ได้ แต่ก็จะสบายใจกว่าถ้ามีคนอื่นเลือกให้
บอตติและแม็กกิลล์เชื่อว่าการค้นพบเหล่านี้มีนัยบ่งชี้ที่กว้างขวางสำหรับการตัดสินใจใดๆก็ตามที่อาจเล็กน้อยหรือไม่ชอบใจ ยกตัวอย่างเช่น ลองปล่อยให้คนอื่นเลือกไวน์ระหว่างมื้อค่ำบ้าง "คนเรายึดติดกับการเลือก และเชื่อว่าการเลือกจะนำความสุขมาให้ แต่บางครั้งก็ไม่ใช่" แม็กกิลล์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น