27 ก.ค. 2553

"โฮโมซีสทีน" อีกตัวการก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและอัมพาต


25 - 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดพบมาจากปัจจัยแฝงที่เรียกว่า "โฮโมซีสทีน" อีกตัวการก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและอัมพาต...

ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของประชากรโลก เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้น แต่น่าแปลกที่พบว่า ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่รับตัวไว้ในโรงพยาบาล มีไขมันในเลือดปกติ ความดันปกติ ไม่สูบบุหรี่ แสดงว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมีปัจจัยเสี่ยงชนิดอื่น ที่ยังไม่ได้รับการตรวจหา

เมื่อเร็วๆ นี้ วงการแพทย์ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับปัจจัยเสี่ยงชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า “สารโฮโมซีสทีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยแฝงที่สำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและอัมพาต

สารโฮโมซิสทีน คืออะไร
 สารโฮโมซิสทีน (Homocysteine) หรือบางท่านอาจเรียกว่า โฮโมซีสเตอีน เป็นสารที่เกิดจากการย่อยสลายของอาหารประเภทโปรตีน ปกติร่างกายจะพยายามขจัด “สารโฮโมซีสทีน” ให้เป็น “สารซีสทีน” แทน ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและร่างกายส่วนอื่นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รับประทานอาหารประเภทโปรตีนมากจนเกินไป ระดับของโฮโมซีสทีนในเลือดก็จะไม่สูง หรือถ้าเราไม่มีปัญหาเนื่องมาจากพันธุกรรมของครอบครัว ไม่มีความผิดปกติในเรื่องของการขาดวิตามินต่างๆ เช่น วิตามิน บี6 บี12 และกรดโฟลิก รวมถึงการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟมากไป ก็จะไม่ทำให้เกิดสารโฮโมซิสทีนในเลือดสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปเราจะไม่สามารถรู้ระดับของโฮโมซีสทีนในเลือดได้ จนกว่าจะเจาะตรวจเลือดออกมาวิเคราะห์ดูว่ามีค่าสูงหรือไม่

อันตรายอย่างไร ถ้ามีสารโฮโมซีสทีนในเลือดสูง

นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าสาเหตุที่ Homocysteine เพิ่มอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคเหล่านี้ อาจเกิดจาก Homocysteine จะทำให้ความหนืดของเกร็ดเลือดเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่า Homocysteine ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นอีกด้วย

ดังนั้น สารโฮโมซีสทีน ถ้ามีสูงขึ้นเกินกว่าระดับที่ควรจะเป็นก็จะทำลายหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดที่อยู่ในสมอง โดยจะมีผลทำให้หลอดเลือดที่กล่าวถึงมีโอกาสตีบและอุดตันได้ง่ายกว่าที่ระดับของโฮโมซีสทีนในเลือดปกติ เช่น กรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โอกาสที่หลอดเลือดที่ผ่านคอไปเลี้ยงสมองจะอุดตันหรือตีบก็เกิดขึ้นได้ เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง อาจสร้างปัญหาให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นส่วนๆ หากหลอดเลือดสมองตีบ เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง ประสาทในสมองก็ลีบฝ่อไปได้เช่นกัน ก่อให้เกิดปัญหาสมองฝ่อหรือโรคอัลไซเมอร์ และปลายประสาทเสื่อม รวมถึงอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอัมพฤกษ์ – อัมพาตได้

ลักษณะอาการผิดปกติเมื่อค่าของสารโฮโมซีสทีนสูงจะมีลักษณะอย่างไร

อาการจะมีลักษณะคล้ายกับอาการของภาวะไขมันในเลือดสูงเหมือนกัน อาจมาพบแพทย์ด้วยเรื่องของอาการเจ็บแน่นหน้าอก ในกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีอาการอัมพฤกษ์ - อัมพาตเกิดขึ้น ในกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาของหลอดเลือดโดยทั่วไปในสมองอุดตัน

วิธีการป้องกันไม่ให้สารโฮโมซีสทีนมีค่าสูงขึ้น

เนื่องจากสารโฮโมซีสทีนในเลือดเกิดจากการรับประทานอาหารโปรตีนมากเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ต้องการให้เลือดมีระดับของสารโฮโมซีสทีนที่สูงกว่าความเป็นจริง เราก็ควรลดอาหารโปรตีนลงมา แล้วเพิ่มกลุ่มอาหารประเภทผักและผลไม้มากขึ้น พฤติกรรมการรับประทานแบบไทยๆ ดีอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ระดับโฮโมซีสทีนในเลือดไม่สูงเกินไป และไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย และถ้าเราไม่แน่ใจว่ารับประทานอาหารกลุ่มต่างๆ ได้เพียงพอ แพทย์สามารถสั่งวิตามินที่มีความสำคัญในการลดระดับของโฮโมซีสทีนในเลือดลงมาได้ ก็จะทำให้ระดับโฮโมซีสทีนในเลือดไม่สูงเกินความเป็นจริงที่ควรจะเป็น อันตรายก็จะไม่เกิดขึ้นกับผนังหลอดเลือด

สารโฮโมซีสทีนจะขับออกมาทางปัสสาวะ คือ ทางไต เพราะฉะนั้น การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยทำให้ระบบเลือดหมุนเวียนดีขึ้น ระบบสูบฉีดโลหิตดี สารโฮโมซีสทีนก็จะถูกขับถ่ายออกทางไตได้ดีมาก และจะเผาผลาญไขมันส่วนอื่นออกไปด้วย นอกจากนี้ การตรวจวัดระดับโฮโมซิสทีนอยู่เสมอ จะทำให้ทราบถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายดังกล่าวได้ดี อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมต่อภาวะสุขภาพร่างกายของตนได้อีกด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากการเผชิญกับโรคภัยต่างๆ





ที่มา : ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเวช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น