4 ก.ค. 2553

สุขภาพดีขึ้น เมื่อใช้ชีวิตให้ช้าลง


สุขภาพดีขึ้น เมื่อใช้ชีวิตให้ช้าลง (Health plus)


ทุกวันนี้ ชีวิตของผู้คนทั่วโลกเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ตั้งแต่ตื่นนอนก็รีบอาบน้ำแต่งตัว ไปทำงาน รีบขับรถ รับประทานอาหารจานด่วน ทักทายพูดคุยกันสั้น ๆ ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือ "ไม่มีเวลา"

บางเรื่องความเร็วก็มีประโยชน์ แต่ถ้ามากเกินไปจะทำให้ลืมรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ สำคัญที่อยู่รอบตัวได้ เช่น ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การดูแลตัวเอง การพักผ่อน ความปลอดภัย และบ่อยครั้งที่ความรวดเร็วเร่งรีบ ทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจย่ำแย่ และที่คาดไม่ถึงคือส่งผลไปถึงสภาพแวดล้อมด้วย

ในทางการแพทย์มีโรคที่เกิดจากความเร่งรีบชื่อ Hurry Sickness Syndrome ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการหายใจไม่ทันหรือหายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว ส่งผลให้แขนขาหมดแรง ใจสั่นใจหวิว รวมไปถึงส่งผลต่ออารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความใจร้อน ขี้โมโห กราดเกรี้ยว ฉุนเฉียวต่อสิ่งรอบตัวที่ไม่สามารถสนองตอบความต้องการเร่งด่วนของเราได้ง่าย เป็นปัจจัยเสี่ยงอาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเครียด ไมเกรน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงผลเสียจากการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ นักวิจัยจาก University of Hertfordshire ประเทศอังกฤษ ได้วิจัยพบว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คนเมืองใช้ชีวิตเร่งรีบมากขึ้น โดยสามารถวัดได้จากความเร็วในการเดินซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ปัจจุบันคนทั่วโลกเดินเร็วขึ้นประมาณ 10% ของความเร็วที่คนใช้เดินกันใน พ.ศ.2537

1 ใน 3 ของคนอเมริกัน และ 1 ใน 5 ของชาวอังกฤษเป็นโรคอ้วน เนื่องจากกินอาหารฟาสต์ฟูด และไม่มีเวลาออกกำลังกาย และสถิติของรัฐบาลอังกฤษยังระบุอีกด้วยว่า พ่อแม่จำนวนมากใช้เวลากับอีเมลมากกว่าเล่นกับลูกเป็น 2 เท่า

เมื่อความเร่งรีบส่งผลต่อคนทั่วโลกเช่นนี้ จึงได้มีกระแสการดำเนินชีวิตให้ช้าลง หรือ Slow Living ขึ้น ก่อนที่ความเร่งรีบในชีวิตจะทำลายตัวเราไปมากกว่านี้ หลายประเทศได้มีการตั้งกลุ่มหรือสมาคมชะลอเวลาขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนหันไปตระหนักถึงการใช้ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ แบบสงบ และเรียบง่าย อย่างญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ชีวิตของผู้คนมีแต่ความรีบเร่งอย่างเห็นได้ชัด แต่คุณภาพด้านอารมณ์และจิตใจของประชากรกลับแย่ลง

จึงได้มีการตั้ง กลุ่มสล็อท คลับ (Sloth Club) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้คนรีบร้อนน้อยลง และใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น พวกเขาได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Slow is Beautiful ซึ่งเป็นรายงานสำรวจการรณรงค์การใช้ชีวิตแบบเนิบช้าจากทั่วโลก ออกเผยแพร่จนได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากนี้ยังเปิดร้านอาหารในโตเกียว ซึ่งมีพื้นที่มากพอ จะให้ลูกค้าได้ดื่มต่ำกับรสชาติของอาหาร ที่ปรุงแต่งอย่างพิถีพิถันในทุกขั้นตอน รวมถึงจัดกิจกรรมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

การใช้ชีวิตแบบเนิบช้ายังสะท้อนให้เห็นชัดเจนในเรื่องของอาหาร ในยุคที่ผู้คุ้นเคยกับคำว่า Fast food หรืออาหารขยะที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน และโรคหัวใจ ในประเทศอิตาลีก็ได้มีกลุ่มที่ต่อต้านการกินอยู่แบบเร่งรีบนี้ขึ้นมา นำโดย คาร์โล เปตรินี่ นักหนังสือพิมพ์ผู้ให้ความสำคัญกับศิลปะการปรุงอาหารแบบดั้งเดิม และต้องการอนุรักษ์อาหารท้องถิ่นและอาหารประจำชาติไว้ โดยออกมาต่อต้านการบุกรุกของอาหารฟาสต์ฟูดสัญชาติอเมริกัน ที่กำลังขยายพื้นที่เข้าไปในประเทศ

คุณค่าของการใช้ชีวิตให้ช้าลง ไม่เพียงจะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้เท่านั้น แต่ยังทำให้มองเห็นคุณค่าของชีวิตได้ชัดเจนขึ้น ความช้าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำอะไรเชื่องช้า แต่เป็นการใส่ใจในรายละเอียดของชีวิตให้มากขึ้น และยังช่วยให้คลื่นสมองช้าลง ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งรูปแบบชีวิตแบบนี้ความจริงก็อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว และปัจจุบันก็ยังพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนต่างจังหวัด หรือปู่ย่าตายายของเรา

การเข้านอนเร็ว ตื่นเช้าตรู่ ตื่นมาก็มีเวลาดื่มด่ำกับธรรมชาติ รดน้ำต้นไม้ เตรียมอาหารเช้า ใส่บาตร เสร็จแล้วก็ค่อยทำงาน ตกเย็นก็ทำอาหารกินกันเอง เก็บผักข้างรั้ว ค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ เลือกเก็บใบที่ใช้ได้ไม่อ่อนไม่แก่ หลังอาหารเย็นก็ใช้เวลาร่วมกันกับคนในครอบครัว นี่คือวิถีชีวิตแบไทยที่ปัจจุบันหลายคนอาจหลงลืมไป โดยเฉพาะคนในเมืองที่ชีวิตกำลังตกเป็นทาสของเวลา

คนที่กำลังประสบกับความเครียดหรือโรคภัยที่รุมเร้า ลองปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิตให้ช้าลง ชีวิตที่เนิบช้าจะช่วยให้มีเวลากับตัวเองมากขึ้น อยู่อย่างมีสติ ใส่ใจในรายละเอียดรอบตัว นำไปสู่การสร้างความสมดุลให้ร่างกายและจิตใจ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น


Slow Living Tips


หายใจให้ช้าลง กำหนดลมหายใจอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก มีสติอยู่กับปัจจุบัน รู้ว่ากำลังทำอะไรในทุกขณะ

ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ สังเกตสิ่งรอบตัว นั่งนิ่ง ๆ ดื่มด่ำกับความงามของธรรมชาติ

ปล่อยวางและผ่อนคลายกับเรื่องราวรอบตัวบ้าง อย่าไปร้อนตามสภาวะรอบข้างที่จะทำให้จิตใจขุ่นมัว

ปรับเปลี่ยนเวลาในชีวิตประจำวัน นอนให้เร็วขึ้น ตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อจะได้มีเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น โดยไม่ต้องรีร้อน

กินอยู่แบบเรียบง่าย ทำอาหารเอง หากมีเวลาน้อยก็ทำอาหารง่ายๆ ที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก ได้ประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าซื้ออาหารสำเร็จรูป

ใช้ชีวิตอย่างประหยัด ปลูกผักสวนครัวที่พอปลูกได้ไว้กินเอง จะได้ดูแลเอาใจใส่ รดน้ำพรวนดิน ทำให้ใจเย็นลง หรือพยายามหาซื้อเสื้อผ้าที่ไม่ต้องรีดมาสวมใส่ ประหยัดทั้งเวลาและพลังงาน

ออกกำลังกายที่ใช้วิธีค่อย ๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เช่น โยคะ ไทชิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น