4 ก.ค. 2553

"เนื้อวัวออร์แกนิค" เทรนด์ใหม่ ของผู้นิยมเนื้อ

วัวออร์แกนิคเลี้ยงในแปลงหญ้าอินทรีย์ ไร้สารเคมี


ปัจจุบันนี้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบริโภคอาหารที่คำนึงถึงเรื่องของสารพิษและสิ่งที่จะตกค้างจากอาหารที่เกิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย เริ่มหันมาให้ความสนใจกับ "ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค" เพิ่มมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค (Organic Products) เป็นผลิตภัณฑ์ปลอดจากสารเคมีและการปรุงแต่งโดยสารสังเคราะห์ ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในทุกๆขั้นตอนการผลิต การแปรรูป และการเก็บรักษา กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรดาพืชผัก ผลไม้ต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิ่งที่หลายคนคิดไม่ถึงอย่างเนื้อสัตว์อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันแนวทางการกินเนื้อ(วัว)ของนักนิยมเนื้อในบ้านเรา มีอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนรักการกินเนื้อที่รักในสุขภาพ นั่นก็คือ “เนื้อวัวออร์แกนิค” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งความล้ำหน้าของวงการเนื้อบ้านเรา

กว่าจะเป็นเนื้อวัวออร์แกนิค

ผศ.ดร.สุริยะ สะวานนท์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ผู้ดูแลเรื่องการผลิตเนื้อวัวออร์แกนิคเล่าถึงความเป็นมาของเนื้อชนิดนี้ว่า เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2550 ทางมหาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ได้ร่วมกับสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด คิดผลิตเนื้อวัวออร์แกนิคขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใสใจในเรื่องสุขภาพ



ผศ.ดร.สุริยะ สะวานนท์


"การผลิตเนื้อวัวออร์แกนิคที่นี่ถือได้ว่าเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ทำ ซึ่งผมดูแลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ในช่วงเริ่มต้นมีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ เนื้อวัวออร์แกนิคไม่ใช่ว่าเริ่มปุ๊บจะขายเนื้อวัวออร์แกนิคได้เลย ต้องผ่านระบบการปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะขายเป็นเนื้อวัวออร์แกนิคได้ และการทำเกษตรอินทรีย์ที่เราถือปฏิบัติในตอนนี้ เราใช้มาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)" อ.สุริยะ บอก

ทั้งนี้ อ.สุริยะ ยังได้อธิบายถึง "เนื้อวัวออร์แกนิค" ว่าเป็นเนื้อวัวที่เลี้ยงโดยระบบเกษตรอินทรีย์ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนกว่าการเลี้ยงเนื้อวัวปกติก็คือ อาหารที่ใช้เลี้ยง ต้องมีการจัดการดูแลโดยใช้วัตถุดิบที่ผลิตโดยกระบวนการที่ผ่านออร์แกนิค หรือผ่านเกษตรอินทรีย์มาก่อน อย่างเช่นหญ้า ต้องจัดการโดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี แม้กระทั่งปุ๋ยก็ไม่ใช้ปุ๋ยที่เป็นปุ๋ยเคมี จะใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ก็คือปุ๋ยคอกเป็นหลัก หรือแม้กระทั้งการใช้ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืชในแปลงหญ้าก็จะไม่ใช้

เรียกว่ากว่าจะได้เนื้อวัวออร์แกนิคมาทำเป็นอาหารบริโภคได้ไม่ใช่เรื่องงานเลย เพราะการเลี้ยงวัวออร์แกนิคมีขั้นตอนการเลี้ยงที่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษกว่าการเลี้ยงวัวขุนธรรมดาเป็นอย่างมาก ซึ่งอ.สุริยะ ได้เล่าถึงการเลี้ยงวัวออร์แกนิคของที่นี่ให้ฟังว่า หลักการเลี้ยงวัวออร์แกนิคต้องเริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์วัวที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในที่นั้นๆได้ เพราะว่าหลักของออร์แกนิคจะไม่ใช้สารเคมีในการจัดการกับตัววัว อย่างเช่น เวลาวัวป่วยจะไม่ฉีดยาปฏิชีวนะ จึงจะต้องหาวัวที่ทนต่อโรค ทนต่อสภาวะแวดล้อมในบ้านเราได้ ต้องเป็นวัวที่สามารถปรับตัวได้ดีในภูมิภาคนั้น และสำหรับที่นี่ใช้วัวพันธุ์กำแพงแสนที่ปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว ตัวใหญ่และมั่นใจได้ว่าวัวพันธุ์นี้เลี้ยงได้และทนต่อสภาวะแวดล้อมที่นี่ได้ดี


วัวที่นำมาเลี้ยงขุนอยู่ในคอก


"การเลี้ยงวัวออร์แกนิคของที่นี่ เราจะมีฟาร์มแม่พันธุ์ส่วนหนึ่งอยู่ประมาณ 300 ตัว เพื่อผลิตลูกวัวเข้าสู่กระบวนการผลิตเนื้อวัวออร์แกนิค แล้วก็ใช้วิธีการผสมเทียมเป็นหลัก เมื่อแม่พันธุ์ตั้งท้องเสร็จประมาณ 9 เดือน คลอดลูกออกมา ตามเงื่อนไขของออร์แกนิคแล้ววัวที่จะเอามาใช้ผลิตเนื้อนั้นจะต้องให้มันอยู่กับแม่อย่างน้อย 2 เดือน ให้ดูดนมแม่อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้มันเลียนแบบธรรมชาติให้เยอะที่สุด และหลังจากที่หย่านมแล้วประมาณ 6-8 เดือน ก็แยกลูกออกมาจากแม่ หลังจากหย่านมเรียบร้อย ลูกมันไม่โหยหาแม่แล้วกินหญ้าได้ปกติ เราก็จะเอาวัวส่วนหนึ่งที่มีลักษณะดี โดยเฉพาะตัวผู้จะคัดไว้ทำพันธุ์ วัวอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถทำพันธุ์ได้ แต่ว่าไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ว่าขนาดไม่เหมาะที่จะเป็นพ่อพันธุ์ เราก็จะคัดมาผลิตเนื้อวัวออร์แกนิค" อ.สุริยะบอก พร้อมกับอธิบายต่อว่า

สำหรับวัวออร์แกนิค จะแบ่งการเลี้ยงออกเป็น 2 ส่วน คือหลังจากหย่านมเสร็จจะเรียกว่าการเลี้ยงช่วงแรก คือเลี้ยงโดยปล่อยที่แปลงหญ้าโล่งๆ ตลอด 24 ชม. ซึ่งเป็นหญ้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์ซึ่งใช้หญ้าขน วัวที่หย่านมนี้จะมีน้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม เลี้ยง 1 ปีในแปลงหญ้าให้แต่น้ำและหญ้าอย่างเดียว


ผลิตภัณฑ์เนื้อวัวออร์แกนิค


การเลี้ยงแบบออร์แกนิคต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งที่นี่ใช้พื้นที่ 2ไร่ต่อ 1 ตัว พื้นที่ประมาณ 55 ไร่ จะปล่อยวัวไม่เกิน 25 ตัว เพื่อให้มันกินหญ้าและโตได้ดี และหลังจาก 1 ปีแล้ววัวจะมีน้ำหนักเกือบ 350 กิโลกรัมก็จะเอาไปเลี้ยงขุนต่อในคอกประมาณ 4 เดือน โดยการให้อาหารข้นไม่เกิน 40% ของที่วัวกินได้ต่อวัน อาหารข้นก็เป็นอาหารอินทรีย์ แหล่งพลังงานที่เป็นอาหารข้นของวัวมี 2 แหล่งหลักๆ คือ แหล่งพลังงานและแหล่งโปรตีน แหล่งพลังงานที่นี่ใช้มันสำปะหลังที่ใช้การปลูกแบบระบบอินทรีย์ และแหล่งโปรตีนใช้ถั่วเหลืองทั้งเมล็ด ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่ใช่อินทรีย์แต่ว่าใช้ไม่เกิน 10% ตามที่มกท.กำหนด

"การเลี้ยงวัวออร์แกนิคต้องดูแลเป็นพิเศษเรื่องพื้นที่ เพราะว่ามกท.ได้กำหนดเรื่องพื้นที่ว่าการเลี้ยงดูวัวออร์แกนิคจะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 12 ตร.ม.ต่อตัว เพื่อต้องการให้มันอยู่อย่างสบาย มีพื้นที่ให้มันเดินได้สะดวกสบาย ต้องเลี้ยงดูอย่างดี และหลังจากวัวที่เราขุน 4 เดือนเสร็จแล้ว อายุวัวประมาณ 2 ปีก็ส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตเนื้อวัวออร์แกนิคได้ โดยส่งเข้าโรงเชือด การเชือดก็เหมือนวัวขุนปกติ แต่ว่าจะแยกระบบการผลิต อย่างเช่น วันนี้จะเชือดวัวออร์แกนิค โรงเชือดก็ต้องทำความสะอาดทุกอย่าง แล้วก็เชือดแต่วัวออร์แกนิคอย่างเดียววันนี้ เรียกว่าการเลี้ยงวัวออร์แกนิคตั้งแต่ระบบการผลิตจนถึงการจัดจำหน่ายต้องแยกอย่างชัดเจน" อ.สุริยะ กล่าว



วัวถูกปล่อยให้กินหญ้าเลี้ยงแบบธรรมชาติ


ความพิเศษของเนื้อออร์แกนิค

เมื่อได้รู้ถึงขั้นตอนการผลิตเนื้อวัวออร์แกนิคกันแล้ว หลายคนคงอยากจะรู้ว่าแล้วเนื้อวัวออร์แกนิคนั้นมีความแตกต่างจากเนื้อวัวปกติอย่างไร เรื่องนี้อ.สุริยะได้ให้คำตอบว่า ลักษณะของเนื้อวัวออร์แกนิคจะแตกต่างจากเนื้อวัวขุนปกติ ก็คือ เนื้อวัวออร์แกนิคพวกนี้จะไม่ได้เน้นที่ไขมันเป็นหลัก ถึงจะมีไขมันแต่ไขมันก็ไม่เยอะ แล้วไขมันที่มีก็เป็นไขมันที่เป็นประโยชน์ อย่างเช่น กรดไขมันCLA เป็นไขมันที่ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตตัว เป็นไขมันที่พบได้ในเนื้อวัวออร์แกนิคค่อนข้างจะเยอะถ้าเทียบกับเนื้อวัวปกติ และยังมีโปรตีนสูงถึง 20% มีวิตามินสำคัญ ได้แก่ B1, B6, B12, A, D, E, K และ C มีแร่ธาตุเหล็ก สังกะสี และซีลิเนียม สีของเนื้อวัวออร์แกนิคค่อนข้างจะเข้มกว่าเนื้อวัวขุนปกติ และตัวไขมันแทรกมีน้อยกว่า เป็นเนื้อแดงเสียส่วนใหญ่ และที่สำคัญเนื้อวัวออร์แกนิคไม่มีสารพิษตกค้าง ได้รับมาตรฐานของมกท. และ IFOAM accredited

เมื่อถามถึงว่าตลาดเนื้อวัวออร์แกนิคเป็นอย่างไรบ้าง อ.สุริยะ บอกว่า ตอนนี้ได้ทำการเลี้ยงวัวออร์แกนิคให้กับทางสหกรณ์ของ ม.เกษตร เชือดแค่ปีละ 20 ตัว เพื่อทำเป็นเนื้อวัวออร์แกนิค ซึ่งการเลี้ยงวัวออร์แกนิคต้องรวมกลุ่มกันทำ ทำเป็นฟาร์มเดียวอย่างที่ ม.เกษตร ยากทั้งๆที่มหาวิทยาลัยมีพื้นที่มากยังทำได้ไม่ค่อยเยอะ ตอนนี้ในส่วนองสหกรณ์ก็มีนโยบายว่าจะเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น


อาหารข้นที่เลี้ยงวัวออร์แกนิค


และในส่วนของการผลิตเนื้อวัวออร์แกนิคจะต้องดูตลาด และต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าเนื้อวัวออร์แกนิคมีราคาแพงกว่าเนื้อวัวทั่วๆ ไป ซึ่งราคาเนื้อวัวออร์แกนิคของที่สหกรณ์กำแพงแสนขายสูงกว่าเนื้อวัวปกติอยู่ 25% แต่ถือว่าราคายังไม่สูงมาก เพราะว่าทดลองตลาดอยู่ และกลุ่มผู้บริโภคเนื้อวัวออร์แกนิคในบ้านเราตอนนี้ไม่ค่อยรู้จักเนื้อวัวออร์แกนิคมากนัก ไม่ถึง 0.01% ของกลุ่มการบริโภคเนื้อวัวทั้งหมด แต่อนาคตอีก 4-5 ปีน่าจะเพิ่มขึ้น จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น

"ถ้ามองว่าการกินเนื้อโดยทั่วๆ ไปอาจจะมีผลต่อสุขภาพ ผมมองว่าเนื้อวัวออร์แกนิค เป็นเนื้อวัวที่มีความปลอดภัยต่อร่างกาย เรื่องของสารตกค้างนั้นแทบจะไม่มีเลย เพราะว่าเราไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ ในระบบการผลิต ซึ่งถ้าคนที่ห่วงใยในสุขภาพ โดยเฉพาะกลัวเรื่องไขมัน เนื้อออร์แกนิคเป็นเนื้อวัวสุขภาพตัวหนึ่งที่น่าจะบริโภคได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่เกิดปัญหาของเรื่องการสะสมของไขมันเยอะจนเกินไป เรื่องโรคหัวใจ เรื่องหลอดเลือดอุดตัน เนื้อวัวออร์แกนิคก็น่าจะเป็นตัวเลือกตัวหนึ่งที่จะมาทดแทนเนื้อวัวขุนทั่วๆ ไปได้ และถ้าผู้บริโภคสนใจซื้อเนื้อวัวออร์แกนิคมาบริโภคก็ให้สังเกตที่ตราสินค้า ซึ่งจะมีตราสินค้าที่รับรองโดยมกท. และมาตราฐานของIFOAM ด้วยอยู่บนแพ็คเกจของสินค้าที่วางจำหน่าย ยังไงเวลาเลือกซื้อก็ต้องดูที่ตราสินค้าด้วย" อ.สุริยะกล่าวทิ้งท้ายแบบเชิญชวน ให้หันมาบริโภคเนื้อวัวออร์แกนิคที่มีผลดีต่อสุขภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น