12 ก.ย. 2553

16 ข้อ เมื่อเวียดนาม ล้ำหน้าไทย !! ++ [[ อยากให้คนไทยได้อ่านกัน ]]

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

ตอนนี้เวียดนามกำลัง "ฮิต " ติดตลาด มีคนสนใจไปลงทุนกันมากมาย มีเสน่ห์มากกว่าไทยด้วยซ้ำไป เวียดนามยังไม่อาจไล่ทันไทยในเร็ววันนี้หรอกครับ (ปลอบใจสักหน่อย) แต่มีศักยภาพที่จะยิ่งใหญ่เหนือไทยได้ในวันหน้า เราควรสังวรและพิจารณาให้ดี หลายเรื่องเราควร "เอาเยี่ยงกา" มาลองดูกันครับ

1. สนามบินสะดวกกว่าไทย

อัน ที่จริงสนามบินหลายแห่งในประเทศไทยทันสมัยกว่าสนามบินกรุงฮานอยและนครโฮ ชิมินห์ แต่ที่เวียดนาม เครื่องบินจอดถึงงวงเสมอ ไม่ต้องต่อรถโค้ชให้เสียอารมณ์แบบบ้านเรา และที่สำคัญในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า นครโฮชิมินห์จะมีสนามบินใหม่ที่ใหญ่กว่าสุวรรณภูมิของเราในขณะนี้เสียอีก

2. คนเวียดนามรักชาติ

ไม่ ต้องดูอื่นไกล เขานิยมอาหารของเขาเอง ประเภทอาหารแฟชั่น/ขยะของฝรั่งเข้าไปตีกินในประเทศเขาได้ยาก คุณสมบัติที่ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น (แม้ทางความคิด) กับใครเช่นนี้เชื่อว่าเหนือกว่า "เลือดไทย" ที่ทำท่าจะเจือจางลงทุกวัน <<เห็นด้วย

3. " ผ้าขี้ริ้วห่อทอง"

คน เวียดนามที่เราเห็นแต่งตัวดูปอน ๆ นั้น เขาชอบสะสมทอง ว่าง ๆ ก็เอามาชื่นชมเล่นเงียบ ๆ เขาไม่ต้องการทำตัวหรูหรา เพราะเดี๋ยวถูกเพ่งเล็ง เขามีเงินสะสมไว้มาก แต่ไม่เปิดเผย ซื้อของก็มักใช้เงินสด ซื้อบ้านอาจมีกู้เงินบ้าง แต่ก็ยังจำกัดมาก ข้อนี้อาจทำให้ระบบการเงินของประเทศไม่หมุนเวียนมากนัก แต่ผมก็ยังนิยมความมัธยัสถ์มากกว่าการสุรุ่ยสุร่าย สังเกตง่าย ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือสนนราคาของอาหารเวียดนามนั้น หาได้ถูกกว่าไทย มาตรฐานค่าครองชีพไม่ได้ต่ำกว่าไทยเลย นี่แสดงว่าเขามีแหล่งรายได้ที่ไม่เปิดเผยหรือรับ job ทำงานพิเศษต่าง ๆ ไม่ใช่กินแต่เงินเดือนปกติ

4. คนเวียดนามชอบค้าขาย

เปิด ร้านค้าขายแทบทุกหัวระแหง ในทุกท้องที่มีสินค้าครบถ้วน ไม่ต้องไปเดินห้างใหญ่หรือไม่ต้องไปย่านการค้าใด ด้วยความนิยมค้าขายโดยสายเลือดบวกกับความขยันขันแข็งเช่นนี้ โอกาสที่เวียดนามจะแซงไทยได้ คงไม่ไกลเกินเอื้อม

5. มีขอทานน้อยกว่าไทย

ใน นครโฮชิมินห์ที่มีประชากรไม่แพ้กรุงเทพมหานคร แต่แทบจะหาขอทานไม่พบ มีแต่คนอุ้มลูกจูงหลานมาขายหมากฝรั่ง ให้พอรำคาญเล่น คนใจอ่อนก็อุดหนุนกันไปบ้าง แต่ประเภทเป็นขอทานแท้ ๆ แทบไม่เคยพบ ทางการเขาเอาจริง จับและกวาดต้อนไปฝึกอาชีพ ไม่ปล่อยให้เกลื่อนถนนแบบไทยที่มีกระทั่งขอทานเขมรมาเพ่นพ่านเต็มไปหมด ( น่าอนาถแท้ ๆ ประเทศไทย)

6. (แทบ) ไม่มีปัญหายาเสพติด หรือเด็กเกเร-อันธพาล

ที่เวียดนามใครขืนเสพหรือค้ายาเสพติด มีโอกาสเกิดใหม่สูงมาก เขาไม่ค่อยขังให้เปลืองข้าวแดงเสียด้วย ย่านอิทธิพลค้ายาหรือขาใหญ่แบบสลัมเมืองไทย แทบหาไม่ได้ ที่เคยมีก็ถูกรื้อไปสร้างแฟลตกันแทบหมดแล้ว

7. เศรษฐกิจ "กระดี๊กระด๊า" ดูดีไปหมด!

ทั้งนี้เพราะเติบโตปีละ 7-10% มาหลายปี ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เวียดนามก็กระอักแบบไทย แต่ฟื้นตัวเร็วกว่าและฟื้นตัวอย่างมั่นคงกว่าไทยมาก อนาคตของประเทศแลดูสดใส อยู่ในช่วงขาขึ้น มีการพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างขนานใหญ่และต่อเนื่อง

8. ให้การต้อนรับกระทั่งมหาวิทยาลัยต่างชาติ

นี่เป็นมิติที่ขอย้ำถึงการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในเวียดนาม มหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศสามารถเข้าไปตั้งสาขาได้ ผิดกับของไทยที่กีดกันมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งกลัวการออกนอกระบบ เพียงเพราะเกรงใจอาจารย์ที่เป็นข้าราชการจะสูญเสียผลประโยชน์ แต่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของนักศึกษาและประเทศชาติ

9. แทบหา "บ้านว่าง" (บ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีผู้เข้าอยู่) ไม่ได้เลย

ที่อยู่อาศัยทุกระดับราคาต่างมีคนเช่าหรือซื้ออยู่อาศัย ที่ว่างมีไม่ถึง 5-10% นี่แสดงว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของอสังหาริมทรัพย์แทบไม่ปรากฏให้เห็นใน เวียดนามเลย

10. ระบบผ่อนบ้านมีหลักประกัน (ของไทยยังล้าหลังกว่า!)

ใน เวียดนามบ้านสร้างเสร็จก็แสดงว่าการผ่อนชำระค่าบ้านเสร็จพอดี ซึ่งเป็นลักษณะ escrow account ที่ป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการนำเงินไปหมุนทางอื่นหรือนำไปซื้อรถเมอร์เซดีส โครงการต้องนำเงินงวดของการผ่อนมาก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ และหากใครจะขอกู้ ก็ต้องติดต่อสถาบันการเงินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เมื่อสถาบันการเงินตกลง สถาบันการเงินนั้นก็จะผ่อนชำระกับโครงการจนแล้วเสร็จแทนเราต่อไป

11. กล้าย้ายสถานที่ราชการออกนอกเมือง แล้วนำที่ดินทำเลทองมาพัฒนา

ไม่ ว่าจะเป็นท่าเรือหรืออื่น ๆ ในฟิลิปปินส์ ถึงขนาดย้ายค่ายทหารออกไปนอกเมือง เพื่อนำที่ดินทำเลทองมาพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แต่สำหรับไทย คงทำไม่ได้เพราะ "เขตทหารห้ามเข้า " (ฮา) หรือเพราะเรามัก "เจาะยาง " ด้วยการตีขลุมว่า ขืนเอาทรัพย์สินไปหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ อาจเกิดการการฉ้อราษฎร์บังหลวง นี่คือกระบวนการกีดกัน/ยับยั้งความเจริญของชาติอย่างแท้จริง

12. กฎหมายเวนคืนศักดิ์สิทธิ์

ทางราชการเวียดนามสามารถย้ายชาวบ้านได้ทุกบริเวณที่ต้องการ อาจมีอิดออดบ้าง แต่ต้องไปภายในเวลาที่รวดเร็ว จะมาอ้างรักถิ่นฐาน อนุรักษ์เครือข่ายเพื่อนบ้านหรือรักษาจิตวิญญาณชุมชน ไม่ได้เด็ดขาด และโดยความศักดิ์สิทธิ์นี้เอง พื้นที่แปลงขนาดใหญ่จึงสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมี ประสิทธิภาพและทันท่วงที นี่เป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้เวียดนามก้าวล้ำนำไทยที่ " ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก" เช่นทุกวันนี้

13. กฎหมายมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

บาง ครั้งแม้แต่ข้าราชการยังตามไม่ทัน แต่เป็นข้อดีอย่างยิ่งที่ทำให้กฎหมายสามารถตอบสนองสถานการณ์ใหม่ ๆ ของการพัฒนาประเทศ ไม่เหมือนไทย ที่การแก้ไขกฎหมายเพื่อชาติและประชาชน เชื่องช้าเป็นที่สุด เช่น เรามี พรบ.ผังเมืองตั้งแต่ 2475 แต่มีผังเมือง กทม. ฉบับแรกเมื่อปี 2535 หรืออีก 60 ปีถัดมา! เพราะชนชั้นนำของประเทศไม่ต้องการให้ที่ดินของตนเสียผลประโยชน์นั่นเอง

14. ปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง

ท่าน เชื่อหรือไม่ กัปตันเครื่องบินเวียดนามแอร์ไลน์ ถูกไล่ออกเพียงเพราะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าประเทศมูลค่าเพียงหลักแสนบาทโดย ไม่ผ่านด่านศุลกากร นักฟุตบอลเวียดนาม 4 คนที่ไปรับสินบนในงานแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์เมื่อปี 2548ขณะนี้ยังติดคุกหัวโตอยู่เลย เรื่องนี้ประเทศไทยในยุคคุณธรรมนำการเมือง เทียบอะไรเขาได้หรือไม่

15. การเมืองเวียดนามมีแต่ความมั่นคง ไม่มีรัฐประหาร

ผมได้รับเชิญจากสมาคมนายธนาคารมาเลเซีย (Malaysian Investment Bankers Association) ไปพูดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เขาบอก (เชิงขอบคุณประเทศไทย) ว่า หลังรัฐประหารของไทย มาเลเซียได้รับอานิสงส์ไปเต็ม ๆ เงินลงทุนแทนที่จะมาไทยกลับไปมาเลเซีย ที่เวียดนามก็เช่นกัน นักลงทุนไปกันมากมาย นักลงทุนทั่วโลกแทบจะข้ามหัวประเทศไทยไปหมดเพราะเขาไม่นิยมรัฐประหาร!

16. ข้อสุดท้ายนี้น่ากลัวที่สุดกล่าวคือ เวียดนามกำลังรวมตัวกัน แต่ไทยกำลังจะแตก !!

นับ จากสิ้นสุดสงครามเวียดนามเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา เวียดนามเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้น คนเวียดนามโพ้นทะเล ส่งเงินกลับบ้านจำนวนมหาศาลถึง 150,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยของเรากลับกำลังจะแตกแยก ภาคใต้ไม่แน่ว่าจะต้องปล่อยให้ปกครองตนเองหรือกลายเป็นประเทศอิสระในไม่ช้า ไม่นานนี้ (โอมเพี้ยง ขอให้เดาผิด) การแตกแยกคุกรุ่นของคนในประเทศกลับยิ่งเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร ไทยกับเวียดนามสวนกระแสกันอย่างนี้ แล้วไทยจะเหลือหรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น