1. เลือกช่วงเวลาที่ถูกต้อง
โดยทั่วไปแล้ว ทุ่งทานตะวันจะถ่ายภาพได้สวยที่สุดเพียงสองช่วงเวลาของวัน นั่นก็คือช่วงเช้าและช่วงเย็น เพราะนอกจากลักษณะของแสงตะวันที่มีคอนทราสต์ไม่สูงมากเกินไปแล้ว แสงลักษณะเฉียงในช่วงเช้าและเย็นยังช่วยสร้างมิติให้ดอกทานตะวันดูดีมากยิ่งขึ้น ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือลักษณะแสงในช่วงเช้าและเย็นจะดูอบอุ่นให้ความรู้สึกโรแมนติกเป็นอย่างมาก
ในช่วงกลางวันตั้งแต่ราวสิบโมงครึ่งไปจนถึงบ่ายสามโมงครึ่งนั้น แสงจากพระอาทิตย์จะมีความเข้มค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดเงาแข็งๆ บนตัวแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ "คน" ที่ยืนอยู่ในภาพด้วยแล้ว จะก่อให้เกิดเงาในบริเวณเบ้าตา, ใต้จมูก, ใต้ริมฝีปากล่าง อันเนื่องมาจากมุมของพระอาทิตย์ที่อยู่ด้านบนเหนือศรีษะขึ้นไป ส่วนที่เป็นเงามืดก็จะเข้มจัด ในขณะที่ส่วนสว่างก็จะจ้าจนโอเวอร์ ซึ่งภาวะเช่นนี้จะทำให้กล้องถ่ายภาพทำงานอย่างยากลำบาก ภาพที่ได้ออกมาจะดูค่อนข้างแข็งและไม่สบายตา ช่วงเวลาดังกล่าวนี้จึงควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด
วางแผนการเดินทางให้สอดคล้องกับปัจจัยนี้ให้ดี แล้วคุณจะพบว่าในขณะที่คนอื่นๆ ยังนอนหลับหรือเดินทางอยู่นั้น ภาพทุ่งทานตะวันบรรยากาศโรแมนติกก็มานอนนิ่งอยู่ในกล้องของคุณเสียแล้ว
2. ดูมุมโพลาไรซ์ให้เป็น
"มุมโพลาไรซ์" อาจไม่เป็นที่คุ้นหูคนถ่ายภาพอีกหลายคน แต่มันคือมุมที่ท้องฟ้ามีสีสันสวยงามมากที่สุด (เมื่อท้องฟ้าอยู่ในสภาพปกติ ไม่มืดมัวด้วยเมฆ) และแน่นอนว่าทุ่งทานตะวันของคุณย่อมต้องอยู่กลางแจ้งซึ่งมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีสันสวยงาม อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่คุณน่าจะคาดหวังเอาไว้ตั้งแต่แรก
มุมโพลาไรซ์คือมุมที่อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หากคุณมองดูด้วยตาเปล่าก็จะเห็นได้ทันทีว่ามุมตรงข้ามกับพระอาทิตย์จะมีท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มมากกว่ามุมเดียวกับดวงอาทิตย์ ดังนั้นถ้าอยากจะให้ฉากหลังของเราเป็นสีน้ำเงินสวยงามก็ต้องหันหน้ากล้องไปทางทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ในทางกลับกันถ้าเราหันกล้องไปหาดวงอาทิตย์ก็จะเจอกับสภาพแสงจ้า ซึ่งกล้องจะปรับลดค่าการเปิดรับแสงเพื่อป้องกันอาการ "โอเวอร์" ผลก็คือท้องฟ้าอาจจะดูมีสีสัน แต่บนภาคพื้นดินจะดูมืดจนใช้ไม่ได้ แต่ท้องฟ้าในมุมโพลาไรซ์จะมีปริมาณแสงที่ใกล้เคียงกับภาคพื้นดิน การเปิดรับแสงจึงทำได้ง่ายและสวยงามมากกว่า
พูดง่ายๆ ก็คือ "อย่าถ่ายภาพสวนกับแสงตะวัน" เว้นเสียแต่ว่าคุณจะต้องการให้มีดวงอาทิตย์อยู่ในภาพด้วยจริงๆ
3. เจาะเฉพาะส่วนแบบ เต็มเฟรม
ผู้คนส่วนใหญ่มักจะอยากเก็บภาพทานตะวันเหลืองอร่ามทั้งทุ่งเอาไว้เสมอ มันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากหากคุณจะทำอย่างนั้นด้วย แต่เราอยากจะแนะนำให้คุณถ่ายภาพดอกทานตะวันชนิดเต็มกรอบภาพหรือเจาะเน้นไปที่ส่วนเกสรกลางดอกหรือส่วนอื่นๆ ติดไปในชุดของภาพด้วย
ภาพชนิดเต็มเฟรมล้นกรอบทำนองนี้จะช่วยคั่นอารมณ์ให้กับคนดูภาพที่เห็นแต่มุมกว้างๆ จำนวนมาก ซึ่งไม่นานนักหลังจากภาพแรกก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อและเห็นว่าภาพดูคล้ายกันไปหมด การคั่นอารมณ์ด้วยดอกทานตะวันขนาดใหญ่เต็มกรอบภาพจะช่วยปรับอารมณ์คนดูภาพของคุณให้มีรสชาติมากขึ้น หรือถ้าคุณมีตัวแบบเป็น "คน" ร่วมอยู่ด้วย ก็ลองมุมแบบเต็มแฟรมดูบ้างทั้งคนทั้งดอกทานตะวัน ซึ่งมันจะดูน่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น และจะยิ่งดีมากยิ่งขึ้นถ้ามันไม่ใช่มุมหน้าตรงปกติ เพราะยังไงๆ ผู้คนส่วนใหญ่ก็ถ่ายกันแต่มุมหน้าตรงอยู่แล้ว คุณน่าจะลองหมุนเจาะหามุมอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปดูบ้าง
เพราะฉะนั้นแล้ว การเดินทางไปถ่ายภาพทุ่งทานตะวันของคุณจึงไม่ควรมีแต่เลนส์มุมกว้างไปเท่านั้น อันนี้เป็นเรื่องของเลนส์เทเลโดยเฉพาะเลยทีเดียว
4. หาประธานให้เจอ
ไม่ว่าจะเป็นที่ประชุมหรือในภาพถ่ายก็จำเป็นต้องมีประธานอยู่เสมอ คุณจำเป็นต้องหามันให้เจอและต้องพิจารณาตำแหน่งที่อยู่ในภาพของมันให้ดี หน้าที่ของประธานในภาพถ่ายคือการหยุดคนดูภาพเอาไว้ให้ได้ ภาพที่ขาดประธานมักจะหยุดคนดูเอาไว้ไม่ได้เลย (เช่นเดียวกับที่ประชุมมักจะล่มเมื่อไม่มีประธาน)
ประธานในที่นี้อาจจะเป็นตัวดอกทานตะวันเองหรือตัวแบบที่เป็น "คน" ก็ได้ มันจะต้องมีความโดดเด่นเหนือกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ในภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้วยขนาด, สีสัน, เนื้อเรื่อง ฯลฯ โดยจัดวางเอาไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่นคุณอาจจะวางตำแหน่งประธานเอาไว้ที่มุมบนด้านขวาตามหลักของการจัดองค์ประกอบภาพแบบจุดตัดเก้าช่อง หรือหนักมาทางซ้าย โดยที่ปล่อยให้ตัวประกอบอื่นๆ อยู่ใกลออกไปในอีกด้านหนึ่ง หลีกเลี่ยงการวางประธานเอาไว้กลางภาพเว้นเสียแต่ว่านั่นคือสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อและไม่มีตำแหน่งไหนที่เหมาะยิ่งไปกว่าอีกแล้ว การวางประธานเอาไว้ที่จุดกลางภาพนั้นเป็นอะไรที่เบสิคสุดๆ ซึ่งมันจะดูน่าเบื่อไม่ใช่เล่นเหมือนกันหากตัวประธานของคุณมีความน่าสนใจน้อยไปหน่อย คุณจำได้ไหมล่ะว่าเคยเห็นภาพที่ประธานอยู่ตรงกลางเยอะมากแค่ไหนแล้ว? มันดูไม่น่าสนใจใช่มั๊ย?
5. สังเกตสถานที่และทิศทางเอาไว้ล่วงหน้า
ทุ่งทานตะวันส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่มักจะต่างกันก็คือสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ทั้งเรื่องทิศทางของแสง, องค์ประกอบแวดล้อม, เรื่องราว, ฉากหลัง ฯลฯ นักถ่ายภาพที่ดีจำเป็นต้องรู้ว่ามันไม่ใช่ตรงไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ (เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นนักท่องเที่ยวธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้สนใจการใช้ฝีมือเชิงชัตเตอร์มากเท่าไหร่นัก) เราจะต้องรู้จักมองและเลือกด้วยเหตุผลทางการถ่ายภาพว่าจุดไหนเหมาะสมกับเวลาใด ไม่ใช่เลือกด้วยเหตุผลทางการมองเห็นด้วยสายตาหรือความสะดวกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณสามารถกำหนดเวลาและการเดินทางได้เอง
ยกตัวอย่างเช่น ทุ่งแรกที่ไปถึงมีฉากหลังเป็นภูเขาที่สวยงามแต่อยู่ทางด้านตะวันออก เราก็ควรจะเลือกถ่ายภาพในช่วงบ่ายหรือเย็นเพราะเมื่อหันกล้องไปก็จะเป็นมุมโพลาไรซ์ ในทางกลับกันถ้าเลือกถ่ายภาพช่วงเช้าเราก็จะอยู่ในทิศทางย้อนแสง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ภาพงามๆ เท่าไหร่นัก อย่างดีก็แค่ได้ภาพที่รู้ว่าเป็นทุ่งทานตะวันเท่านั้นเอง
หากเราเป็นคนที่มองด้วยเหตุผลทางการถ่ายภาพออก เราก็สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะถ่ายภาพที่จุดไหนก่อนหรือหลัง เข้าถึงจุดนั้นได้อย่างเหมาะสมต่อเวลาและสภาพแวดล้อม ควรจะผ่านเลยไปก่อนแล้วค่อยย้อนกลับมาอีกที ฯลฯ แต่ถ้าเรามองจุดนี้ไม่เป็นก็เท่ากับว่าเราฝากโอกาสของภาพที่สวยงามเอาไว้กับโชคชะตาเท่านั้น
6. รับมือกับสายลม
เป็นเรื่องปกติที่ทุ่งทานตะวันต้องอยู่ในที่โล่งซึ่งมักจะเกิดลมที่ทำให้ทั้งต้นไหวเอนอยู่ไม่นิ่งเสมอ บางคนกล่าวติดตลกประชดโชคชะตาเอาไว้ว่าตอนที่ยังไม่ถ่ายภาพนั้นลมไม่มี แต่สายลมจะพัดทันทีที่เตรียมจะกดชัตเตอร์ สำหรับภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างนั้นคงจะไม่ค่อยมีปัญหากับเรื่องนี้มากนักเพราะสปีดชัตเตอร์มักจะสูงพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของดอกทานตะวันที่ไหวเอนเพราะแรงลม แต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพแบบเจาะเข้าเฉพาะส่วนด้วยเลนส์มาโครแล้ว การสั่นไหวเพียงเล็กน้อยก็จะมีปัญหาทันที ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอย่าง "โฟกัส" เสียด้วย
การอดทนรอเป็นสิ่งที่ทำไม่ยากหากมีสมาธิและไม่มีเวลาเป็นตัวเร่ง แต่ถ้าเราไม่สามารถรอได้ก็ยังมีอีกวิธีที่น่าสนใจ นั่นก็คือการถ่ายภาพด้วยระบบบันทึกภาพต่อเนื่องโดยจับโฟกัสแบบ Manual แล้วรัวชัตเตอร์ใส่มุมที่เราต้องการ จากนั้นค่อยมาคัดเอาภาพที่ใช้ได้หรือเป็นจังหวะที่ดอกทานตะวันแกว่งเข้าจุดโฟกัสพอดี
วิธีการนี้สามารถทำได้ในโลกยุคดิจิตอล แต่ไม่เหมาะนักกับโลกยุคฟิล์ม ซึ่งหลายๆ คนอาจจะแย้งว่าวิธีการนี้ดูไม่เป็นมืออาชีพ แน่นอนว่าอาจจะดูเป็นความท้าทายที่ควรจะทำให้ได้ด้วยวิธีการถ่ายภาพปกติซึ่งมันอาจจะดูน่าสนุกในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปโดยที่ยังไม่ได้ภาพมันจะเริ่มไม่สนุกและกลายเป็นความท้อใจขึ้นมาแทน ซึ่งจริงๆ แล้วนี่เป็นวิธีการเดียวกับการถ่ายภาพกีฬาหรือสัตว์ป่าโดยการรัวชัตเตอร์เข้าใส่ตัวแบบ หากคุณต้องการได้ภาพแต่ติดอยู่กับคำที่ว่า "ดูไม่เป็นมืออาชีพ" ก็ขอให้คุณลองพิจารณาดูอีกทีว่าจริงๆ แล้วนี่เป็นเรื่องของความคุ้มค่าในการใช้งานอุปกรณ์ที่คุณอุตส่าห์ลงทุนมาแล้วหรือไม่?
7. อย่ายืนกดชัตเตอร์อย่างเดียว
เพราะนั่นเป็นวิธีการสุดแสนจะธรรมดาของนักท่องเที่ยวที่เมื่อลงจากรถได้ก็ยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ แต่เมื่อพูดกันอย่างนักเลงกล้องแล้ว ข้อเสียของการยืนถ่ายภาพก็คือ "มุมภาพ" ที่แสนจะธรรมดาทั่วไป
การยืนถ่ายภาพนั้น ก็คือการนำเสนอมุมภาพในระดับสายตาปกติประจำวันของมนุษย์ซึ่งดูไม่น่าตื่นใจสักเท่าไหร่ (เพราะมันดูธรรมดา) การย่อตัว คุกเข่า นอนราบ มุมกด ฯลฯ เป็นวิธีการหลีกเลี่ยงมุมภาพที่จำเจเดิมๆ เหล่านี้เพื่อนำเสนอมุมมองแปลกใหม่จากระดับสายตาปกติอย่างได้ผล ซึ่งในมุมมองต่อตัวแบบที่แปลกออกไปนี้เองคือสิ่งที่กระตุ้นความสนใจของผู้ดูภาพได้ค่อนข้างมากและไม่ค่อยยากนักที่จะประสบความสำเร็จหากเราจัดองค์ประกอบภาพเป็น
แน่นอนว่าเราไม่ควรใช้มุมแปลกๆ ทั้งหมด ต้องผสมกับมุมธรรมดาบ้างเพื่อให้มันเป็นสีสันซึ่งกันและกัน ส่วนจะเป็นสัดส่วนว่ามุมแปลกกับมุมธรรมดาอันไหนควรจะมากน้อยกว่ากันนั้นขอให้คุณลองพิจารณาดูเอง
มุมแปลกๆ เหล่านี้จะช่วยให้คนดูภาพได้เห็นดอกทานตะวันในลักษณะที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ผลพลอยได้ก็คือ เรามีสิทธิที่จะเลือกหรือปรับปรุง "ฉากหลัง" ของดอกที่เราตั้งใจจะถ่ายภาพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพมุมเงยนั้นจะมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินซึ่งยิ่งเสริมให้ดอกทานตะวันดูโดดเด่นสวยงามยิ่งขึ้น ในขณะที่มุมยืนถ่ายภาพธรรมดานั้นมักจะให้ฉากหลังที่รกรุงรังเสียเป็นส่วนใหญ่
ถ้ากล้องของคุณมีระบบ Live View พร้อมจอภาพที่พับเปลี่ยนองศาได้ก็อย่าลืมใช้ประโยชน์มันต่อกรณีนี้
...มุมแปลกๆ เหล่านี้ยังเหมาะกับการถ่ายภาพแบบ "พอร์ตเทรต" กลางทุ่งทานตะวันด้วยเช่นกัน
8. หลังดำกลางแดด
ไม่ได้หมายถึงแผ่นหลังของผู้ถ่ายภาพ แต่หมายถึงการถ่ายภาพแบบฉากหลังดำท่ามกลางแสงแดด ซึ่งสำหรับดอกไม้ทั่วไปแล้วเรามักจะได้เห็นกันดาษดื่น แต่สำหรับดอกทานตะวันแล้วยังเป็นตัวแบบที่ถูกบันทึกภาพด้วยเทคนิคนี้ไม่มากนักเพราะไม่ค่อยจะมีคนนึกถึงสักเท่าไหร่
ในการถ่ายภาพหลังดำกลางแดดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องมี "แฟลช" ชนิดแยกออกจากตัวกล้องเพื่อบังคับทิศทางแสงโดยการถือด้วยมือเปล่า นั่นหมายความว่าคุณจะถือกล้องด้วยมือเดียว (ส่วนอีกมือหนึ่งถือแฟลช) เว้นเสียแต่ว่าคุณจะมีผู้ช่วยถือให้ วิธีการถ่ายภาพแบบฉากหลังดำนั้นสามารถหาศึกษาได้ทั่วไป แต่สำหรับวิธีการถ่ายภาพดอกทานตะวันหลังดำแบบไม่ต้องออกห่างจากดอกมากนักสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ Close-up by Wide ของเราเอง
วิธีการถ่ายภาพแบบหลังดำนี้ นอกจากจะทำให้ดอกทานตะวันสีเหลืองน่าดูแบบแปลกตาแล้ว ยังสามารถใช้กับดอกทานตะวันที่แห้งเหี่ยวไปแล้วได้อย่างสวยงามและดูขรึมขลังอีกด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มักจะเดินทางไปไม่ถูกเวลาและพบว่าทั้งท้องทุ่งมีแต่ดอกทานตะวันที่โรยราเป็นซากแห้งเหี่ยวไปแล้วเท่านั้น แน่นอนว่าร้อยทั้งร้อยย่อมต้องเกิดอาการเซ็ง แต่การถ่ายดอกแห้งด้วยวิธีหลังดำนี้เป็นสิ่งที่สนุกสนานอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณรู้จักที่จะเล่นกับทิศทางของแสงแฟลชด้วยตัวเอง
9. ใส่ใจกับฉากหลังให้มากขึ้นอีก
เมื่อคุณหาทั้ง "ประธาน" และ "รองประธาน" ในภาพเจอแล้ว อย่ามองข้ามฉากเวทีที่อยู่ด้านหลังด้วย ไม่ว่ามันจะยังคงอยู่ในโฟกัสหรือไม่ก็ตาม
“ฉากหลัง" อาจจะดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจนักเมื่อเทียบความสำคัญกับตัวแบบ แต่แท้ที่จริงแล้วมันมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับความโดดเด่นของตัวแบบหลักในภาพ ความโดดเด่นในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าฉากหลังจะต้องโดดเด่นขึ้นมาด้วย แต่หมายความว่าฉากหลังจะต้องไม่โดดเด่นมากจนเกินไปนัก และที่สำคัญก็คือ มันต้องไม่เข้ามารบกวนตัวแบบให้ด้อยความสำคัญลงไป
ฉากหลังที่ร่วมอยู่ในภาพนั้นต้องพยายามหลีกเลี่ยงความรกรุงรังสับสนและไม่มีอะไรโดดเด่นมากเกินไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสัน รูปทรง ความสว่าง ฯลฯ ฉากหลังที่สับสนนั้นจะดึงความสนใจจากตัวแบบได้ง่าย ทำให้คนดูภาพไม่ให้ความสำคัญกับตัวแบบมากนัก
ในกรณีของทุ่งทานตะวันนั้น ฉากหลังที่เป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินสามารถทำหน้าที่ของมันได้ดี แต่ถ้าจะต้องมีฉากหลังเป็นตัวทุ่งเองเราก็สามารถจัดการมันได้หลายวิธี หนึ่งในวิธีที่ได้ผลมากที่สุดก็คือทำให้มันหลุดจากระยะโฟกัสออกไป ทั้งจากการใช้คุณสมบัติของเลนส์หรือเรื่องของระยะทางจากตัวแบบถึงฉากหลัง ยิ่งห่างออกไปมากมันก็จะยิ่งเบลอมากขึ้น
อีกวิธีหนึ่งก็คือการขยับมุมมองหรือมุมภาพเพื่อหลีกเลี่ยงฉากหลังที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับตัวแบบ มุมภาพบางมุมนั้นสามารถให้ฉากหลังที่อัศจรรย์ได้เพียงแค่การขยับซ้าย-ขวา บน-ล่าง อีกนิดหน่อยเท่านั้น
พึงระลึกเอาไว้เสมอว่า ฉากหลังที่ดีมักจะไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่ฉากหลังที่ไม่ดีก็มักจะมีแต่คนพูดถึงในแง่ที่ไม่ดีด้วยเช่นกัน
10. ไปตั้งแต่ต้นฤดู
เพราะทุ่งทานตะวันเป็นสถานที่ซึ่งมีผู้คนนิยมเข้าไปท่องเที่ยวกันมาก ซึ่งแน่นอนว่าดอกไม้เหล่านั้นย่อมต้องมีผลในด้านของความสมบูรณ์จากการที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปสัมผัส ซึ่งทั้ง ดอก ก้าน ใบ เหล่านั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องมีผลกระทบหลายด้าน
ในช่วงปลายฤดูนั้นอาจจะมีผลกระทบให้ดอกทานตะวันเหี่ยวช้ำ แม้ว่าเราจะสามารถเดินลึกเข้าไปเพื่อเสาะแสวงหาดอกที่ไม่ช้ำได้แต่ก็จะเป็นการเสียเวลาไม่ใช่น้อย นอกจากนี้ในช่วงปลายฤดูมักจะยิ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปมากเป็นพิเศษเนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวหลายวัน
ไม่เพียงแต่ตัวดอกทานตะวันเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ สภาพสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากทั้งจากขยะและร้านรวงที่นำสินค้ามาจำหน่าย สภาพแวดล้อมลักษณะนี้จะส่งผลหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความสะอาดและขยะ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อภาพมุมกว้างในท้องทุ่งทานตะวันของเราอย่างแน่นอน
อย่าลืมว่านอกจากต้องไปตั้งแต่ต้นฤดูแล้ว ยังต้องไปตั้งแต่เช้าตรู่ด้วย เพราะสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของทุ่งทานตะวันในช่วงเช้าจะมีโอกาสได้ภาพแปลกๆ ที่คนทั่วไปมักจะยังมาไม่ถึงและมักจะไม่มีโอกาสแม้เพียงได้เห็นด้วยซ้ำไป
หากหลีกเลี่ยงปลายฤดูไม่ได้ คุณก็ต้องขยันหาข้อมูลว่ามีแหล่งใดที่ไม่ได้เปิดให้เป็นที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการบ้าง ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกเพื่อหวังผลผลิตทางการเกษตร เราสามารถติดต่อเจ้าของที่เพื่อขออนุญาตเข้าไปถ่ายภาพได้ตามสมควร แต่แหล่งทานตะวันลักษณะนี้มักจะอยู่ในพื้นที่ซึ่งห่างไกลออกไปมาก จึงควรต้องศึกษาเรื่องเส้นทางและระยะเวลาเอาไว้ให้ดีด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น