สมองเสื่อมคืออะไร สมองเสื่อมกับขี้ลืมต่างกันไหม
สมองเสื่อม เป็นความผิดปกติที่สมองทำงานได้น้อยลงจากเดิม
จนมีผลกระทบต่อการทำงานหรือชีวิตประจำวันของบุคคลนั้น ๆ
สมองเสื่อมจะทำให้ความรู้ ความฉลาด ความคิด การตัดสินใจแย่ลงเรื่อย ๆ
บางอย่างแย่ลงมาก บางอย่างอาจไม่แย่ลงนัก แต่เปลี่ยนแปลงจากเดิม
สมองเสื่อมจะเริ่มต้นลืมสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ก่อน
แต่เรื่องราวตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ สาว ๆ ยังจำได้ดี แต่ต่อมาอาการหลงลืม
จะมากขึ้นเรื่อย ๆ จะลืมย้อนหลังไปจนถึงช่วงกลางคน-หนุ่มสาว-จนถึงเด็ก ๆ
ส่วนเรื่องขี้ลืมนั้นจะพบความผิดปกติเรื่องความจำเท่านั้น คือจำไม่ค่อยได้
ส่วนความสามารถอื่น ๆ ของสมอง เช่น เรื่องการรับรู้ เหตุผล จินตนาการ
จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็จะสามารถคิดตัดสินใจได้
ซึ่งจะต่างจากคนไข้สมองเสื่อม
สมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
การเสื่อมสลายของเนื้อสมอง โดยยังไม่ทราบตัวการที่ชักนำทำให้เซลล์สมองตาย
เซลล์สมองนั้นมีการเสื่อมสลายตายไปแต่ไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน
ทำให้สมองที่เหลืออยู่ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม
โรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติแบบนี้ คือ โรคอัลไซเมอร์
ปัญหาหลอดเลือดสมอง ในคนที่ สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอด เลือดทั่วร่างกาย
มากบ้างน้อยบ้างซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรม
อาหารการกินและพฤติกรรมของแต่ละคนในช่วงชีวิตที่ผ่านมา
ซึ่งถ้าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่สมบูรณ์อาจเกิดจากเส้นเลือดตีบ/ตัน/แตก
จะทำให้สมองขาดเลือด เนื้อสมองบางส่วนจะค่อย ๆ ตายไปทำให้ความสามารถของสมองลดลง
การติดเชื้อในสมอง จะทำให้สมองเกิดการอักเสบ จะทำให้เซลล์สมองบางส่วนตายไป
มีผลให้การทำงานของสมอง ลดลง
เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ขาด วิตามิน บี 1, บี 12 หรือ กรดโฟลิก
ซึ่งการขาด วิตามิน บี 1 พบใน ผู้ที่ดื่มสุรามาก ๆ หรือติดสุรา
แล้วไม่ค่อยรับประทานอาหาร ร่างกายต้องการ วิตามิน บี 1
เพื่อช่วยในการสร้างเซลล์สมองเมื่อไม่ได้รับสารอาหารก็จะทำให้เซลล์สมองตายไป
การแปรปรวนของระบบเมตาบอลิก ของร่างกาย การทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิดผิดปกติ
เช่น ภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ การทำงานของตับผิดปกติ ไตวายเรื้อรัง
การกระทบกระแทกกระเทือนที่สมอง นักมวย นักเทควันโด
เป็นตัวอย่างกีฬาที่มีการกระทบกระแทกของสมองอยู่เป็นประจำ
ทำให้สมองมีการตายไปมากกว่าในคนปกติ ซึ่งในวัยเด็กอาการต่าง ๆ
ยังไม่เห็นชัดเนื่องจากสมองส่วนสำ รองยังมากอยู่
แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อมได้มากกว่าคนปกติ
เนื้องอกในสมองอาจทำให้มีอาการคล้ายกับสมองเสื่อมได้
สมองเสื่อมเกิดจากช่องในสมองขยายใหญ่ขึ้นจากน้ำเลี้ยงสมองคั่ง
ผู้ป่วยจะมีอาการสมองเสื่อม เดินไม่เป็น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะราด
เมื่อตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่า
ช่องในสมองขยายใหญ่ผิดปกติและมีการ กดเบียดเนื้อสมองรอบ ๆ บริเวณนั้น
ซึ่งในกรณีนี้รักษาได้ด้วยการผ่าตัดระบายน้ำเลี้ยงสมองออกมา
ผู้ป่วยมักกลับมามีอาการทางสมองดีขึ้น
ยาหรือสารที่เป็นพิษ โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อการทำงานของสมอง
การอักเสบของหลอดเลือด การอักเสบของหลอดเลือดเล็ก ๆ
ที่สมองทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอก่อให้เกิดอาการแบบสมองเสื่อมได้
มีอาการอะไรที่ญาติต้องสงสัยว่าผู้สูงอายุมีภาวะสมองเสื่อม
1. ความจำแย่ลง ความจำในเรื่อง เก่า ๆ ยังดีแต่จำในเรื่องใหม่ ๆ
ไม่ได้ทำให้ถามเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ
2. การรับรู้แย่ลง เช่น วางของไว้แล้วลืม กินข้าวแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน
3. ประกอบกิจกรรมที่ซับซ้อนไม่ได้ ทั้งที่แต่ก่อนเคยทำได้ เช่น
ปรุงอาหารด้วยส่วนผสมแปลก ๆ
4. รสชาติอาหารที่ทำเปลี่ยนไปมาก ซื้อของแล้วทอนเงินไม่ถูกต้อง
5. บกพร่องในการตัด สินใจแก้ไขปัญหา เช่น นั่งดูน้ำล้นอ่าง เฉย ๆ
เพราะไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
6. หลงทาง เช่น เดินออกจากบ้านแล้วกลับบ้านไม่ถูก
7. การใช้ภาษาแย่ลง เช่น พูดตะกุกตะกัก พูดซ้ำ ๆ เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก
8. ทำกิจกรรมที่เคยทำมาก่อนไม่ได้ เช่น เปิดโทรทัศน์ได้แต่กดเลือกช่องไม่ได้
เคยใช้เตารีดรีดผ้าได้แต่ตอนนี้ใช้ไม่เป็น
9. การประกอบกิจวัตรประจำวันหรือดูแลตนเองอย่างง่ายแย่ลง เช่น ไม่อาบน้ำ
อาบน้ำไม่เป็น หรืออาบได้แต่ไม่สะอาด กินอาหารหกเลอะเทอะ
เข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายไม่เป็น
10. มีพฤติกรรมแปลก ๆ หรือมีบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น
อารมณ์หงุดหงิดง่ายโมโหร้าย ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนเป็นคนเรียบร้อย
มีอาการคล้ายโรคจิต เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ ตอนกลางคืนเดินไปมา
ญาติควรปฏิบัติอย่างไร เมื่อคิดว่า ผู้สูงอายุเกิดภาวะสมองเสื่อม
สมองเสื่อมเป็นได้ทุกอายุ แต่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าจะ
มีภาวะสมองเสื่อม ควรรีบไปพบแพทย์ที่ ทำการวินิจฉัยสมองเสื่อมได้ ได้แก่
อายุรแพทย์โรคระบบประสาท จิตแพทย์ ศัลยแพทย์ระบบประสาท
แพทย์จะดำเนินการซักประวัติ
ว่าอาการลืมหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร ตรวจร่างกาย
ทดสอบสมรรถภาพของสมอง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจเลือด)
และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง
ซึ่งเมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจ มาประมวล
ก็จะทราบว่าผู้ป่วยเป็นสมองเสื่อมหรือไม่ น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร
และวางแผนการรักษาต่อไป
ในปัจจุบันมีผู้ที่มีอาการความจำถดถอยไปสู่ความจำเสื่อมอยู่มาก
การเริ่มหาสาเหตุที่แท้จริง ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
จะทำให้ความจำดีขึ้นได้
หรืออย่างน้อยจะชะลอการถดถอยไว้ได้ไม่ให้เสื่อมมากและรวดเร็วจนเกินไป
ข้อมูลจาก แพทย์หญิงดลนภา รัตนากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาท วิทยา
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
และที่ปรึกษาทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2.
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น