2 ธ.ค. 2553

แม่รวยสอนลูก ฉบับ เจ้เล้ง...

ไม่มีใครปฏิเสธถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร เจ้เล้ง ดอนเมือง สรรพสินค้าย่อม ๆ
ที่มีกำไรเฉพาะสินค้านำเข้าเดือนละกว่า 10 ล้านบาท
ไม่นับยอดขายทั้งหมดที่ตัวเลขน่าจะใหญ่โตมโหระทึกใช่น้อย
เพราะตัวเลขการเสียภาษีเข้ารัฐปีละ 10 ล้านบาท ฟ้องเลยว่าไม่ธรรมดา

เจ้เล้ง-อารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล คือเจ้าของผู้สร้างอาณาจักรขึ้นมาจนใหญ่โต

แรกทีเดียวใคร ๆ ต่างก็มองว่าธุรกิจของเธออยู่ในมุมมืด
เนื่องจากช่วงเริ่มต้นกิจการเธอหิ้วของหนีภาษีเข้ามาขาย
แต่พอถึงระยะหนึ่งเธอก็เป็นคนขอก้าวเดินออกมาอยู่ในจุดที่เธอคิดว่าสว่างจ้า ทำ
ทุกอย่างถูกต้อง จดทะเบียนธุรกิจในนามบริษัท เอ แอนด์ เจ บิวตี้ โปรดักส์ จำกัด

ชีวิตในวัย 65 ปีของเธอ เรียกว่า เดินมาถึงความสมบูรณ์อย่างสุด ๆ

ทุกวันเธอมองอาณาจักรของเธอด้วยความสุข ในฐานะผู้ก่อตั้ง

และยิ่งมีความสุขในฐานะแม่ เมื่อเธอกำลังคิดที่จะถอยจากธุรกิจทีละก้าว ๆ
เพื่อส่งต่อให้กับลูกสาว "ภัทรานิษฐ์ ลาภชีวะสิทธิฉัตร"

"ถึงเวลาที่เจเนอเรชั่นใหม่เริ่มทำงานแล้ว พี่พร้อมจะเปิดโอกาสให้กับลูก
เพราะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้เขามี วิสัยทัศน์"

ว่าไปแล้วชีวิตนักธุรกิจของเจ้เล้งไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนใคร ๆ
เธอเป็นหญิงใจนักเลงที่ลุยธุรกิจแบบมวยวัด ใช้กลยุทธ์แบบกองโจร ลุยงานทุก
รูปแบบ ขายเอง ขนของเอง ตรวจคุณภาพ เช็กสต๊อก เช็กความโปร่งใสของพนักงาน
ควบคุมพนักงานกว่า 300 คนที่ร้าน และอีกหลายสิบคนในธุรกิจ
อสังหาริมทรัพย์ขนาดย่อมที่เธอไปลงทุนทำอพาร์ตเมนต์เอาไว้ 7 หลัง

เจ้เล้งพูดจาออกจะล้งเล้งตามชื่อที่ ใคร ๆ เรียก
โดยการพูดคุยเธอจะเรียกแทนตัวเองว่า "พี่" ตลอด

...ตอนนี้อายุ 65 แล้ว ชีวิตนี้คิดว่าครบนะ อยากได้อะไรก็ได้หมด ลูกก็ดี ผัวก็ดี
ค้าขายก็ดี !

เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงลูกที่ดี เธอค่อนข้างภูมิใจ
พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของการพร่ำสอนลูก ๆ

"เห็นพี่ทำงานหนัก บางวันนอน 2 ชั่วโมงอย่างนี้ แต่กับลูกพี่จะดูแลเขา
ในเดือนหนึ่งจะต้องไปดูพฤติกรรมลูกทั้ง 4 คน พี่เป็นคนเลี้ยงลูกไม่ได้ตามใจนะ
ด้วยความที่เราเรียนน้อย เราจึงอยากให้เขาเรียนหนังสือดี ๆ สูง ๆ
แล้วเราก็เรียนรู้ไปกับเขา ลูกพี่ทุกคนจะต้องบริหารเงินเป็นตั้งแต่เรียน
เพราะพี่จะให้เงินเขาเป็นเดือน ๆ ไม่มีการขอเงินระหว่างทาง เด็ดขาด
อันนี้เป็นที่รู้กัน"

...ส่วนเรื่องการเรียนเราไม่เคยบังคับว่าต้องเรียนเก่ง
เรียนหนังสือไม่ต้องได้ที่หนึ่งก็ได้ แต่ต้องไม่สอบตกนะ (หัวเราะ)
ซึ่งพี่ก็ภูมิใจ ทุกคนทำได้

"เคยมีคนถามว่า พี่เป็นคนขายของเก่ง
แล้วสอนให้ลูกขายของเก่งเหมือนตัวเองหรือเปล่า ตรงนี้ไม่เลยนะ
พี่ไม่เคยสอนให้ลูกขายของ ตอนเรียนก็ไม่เคยให้ลูกเอาของไปขายในโรงเรียน
เวลาอยู่โรงเรียนมีคนแซวว่า ลูกเป็นคนรวย พวกเขาก็จะออกตัวเลยว่า
ตัวเขาไม่ได้รวยหรอก คนที่รวยคือพ่อแม่เขาต่างหาก"

...ในเวลาที่ลูกออกนอกกรอบ พี่ก็จะคอยบอกเขาเสมอว่า รู้ไหม
ทำงานทุกวันนี่เหนื่อยมากนะ ได้นอนวันละ 2 ชั่วโมง ทั้งหมดที่ทำนี่เพื่อใคร !

"สิ่งที่สอนลูกทุกคนคือ คนเราไม่ต้อง พูดดี แต่ให้ทำดีเข้าไว้ ทำงานดี ไม่ต้อง
พูดเพราะก็ได้ (หัวเราะ) นี่เป็นสไตล์การทำงานของพี่
ซึ่งเวลาทำงานจะตั้งใจทำทุกอย่างจนจบ ไม่มีค้างคา ถ้าใครทำไม่ได้เจ้ทำเอง
เจ้เคลียร์เอง เวลาทำงานไม่อยากได้หรอกอำนาจ แต่อยากได้ผลสำเร็จมากกว่า
พี่ทำพวกนี้ให้เขาเห็นและซึมซับ"

กับลูกทั้ง 4 เจ้เล้งบอกว่า ก็มีดุบ้าง มีเล่นกันแบบเพื่อนบ้าง
แต่ทั้งนี้ทุกอย่างต้องมีกฎในการควบคุม

...เห็นพี่เป็นคนดุ แต่เวลาเลี้ยงลูกก็รู้จักเล่นกับเขาเหมือนเพื่อน
แต่ต้องมีกฎระเบียบ เห็นเราขายของแบรนด์เนม
แต่เราไม่เคยซื้อของแบรนด์เนมให้ลูกพร่ำเพรื่อนะ จะซื้อให้ก็คือ กระเป๋าแพง ๆ
หนึ่งใบ กับนาฬิกาแพง ๆ หนึ่งเรือน แล้วให้ไปแบ่งกันใช้ 4 คน
ใครจะใช้วันไหนว่ากันไป

นอกจากจะสอนลูก เจ้เล้งยังเรียนรู้สังคมใหม่ ๆ จากลูกของเธอด้วย
ซึ่งนั่นทำให้เจ้เล้งได้มองเห็นวิสัยทัศน์ของเด็กรุ่นใหม่ที่ทำให้เธอได้เริ่มคิดถึงการวางแผนทางธุรกิจในอนาคต

"ตอนนี้พี่อายุ 65 แล้ว ก็อยากให้ลูกเข้ามาดูแล ลูกคนที่ 1
ก็แต่งงานไปแล้วทำธุรกิจนำเข้ากระเบื้อง ลูกคนที่ 2
แต่งงานแล้วไปทำธุรกิจทองกับครอบครัวสามี ตอนนี้พี่เองก็ยังไปลงทุนทองกับเขาเลย
(ยิ้ม) ลูกคนที่ 3 ก็เรียนจบแล้วและมาช่วยเราดูแลธุรกิจ ลูกคนที่ 4
กำลังเรียนอยู่เมืองนอก มีลูกสาวนี่ทำใจเพราะแต่งออกหมด
ตอนเขาโตก็จะมีคนมาขอแล้ว มีคนมาขอกันเยอะเลยนะ แรก ๆ ก็หวง แต่พอลูก 27
คงไม่หวงไว้แล้วต้องปล่อย (หัวเราะ)"

ขนาดกับลูกเขย เจ้เล้งก็สอนเคล็ดลับดี ๆ ให้

"ลูกเขยนี่ถ้าดูเป็นอาเสี่ย เราจะบอกเขาเลยนะว่า อาเสี่ยกับเถ้าแก่ไม่เหมือนกัน
ตัวหนังสือก็ไม่เหมือนกันแล้ว อาเสี่ยต้องขอเงินเถ้าแก่ใช้
ถ้าอยากเป็นเถ้าแก่ต้องหาเงินเอง
ดังนั้นไม่ว่าจะลูกสาวหรือลูกเขยไม่มีใครเป็นอาเสี่ย"

เจ้เล้งเล่าเรื่องราวของครอบครัวอย่างมีความสุข
ยิ่งพอพูดถึงอนาคตของธุรกิจร้านเจ้เล้ง ยิ้มเธอดูกว้างขึ้นอย่างเห็น ได้ชัด

...ตอนนี้ก็มีลูกคนที่ 3 ที่เขามาช่วยดูแล และเข้ามาเสนอไอเดียใหม่
คุยเรื่องโมเดลธุรกิจกึ่งแฟรนไชส์ ซึ่งเดิมทีเมื่อประมาณ 8
ปีที่แล้วพี่เคยขว้างหินถามทาง คิดที่จะขายแฟรนไชส์ประมาณ 10 ล้านบาท
แต่พอดูแล้วพี่คิดว่าขายไม่ได้หรอก เพราะทำธุรกิจนี้ไม่ง่าย และ
พี่เองก็ไม่อยากให้ชื่อของเจ้เล้งหายไป ตอนนั้นก็คิดเหมือนกันว่า
ถ้าเราขายเราจะได้เงิน 2,000 ล้านบาทเลยนะ คนโทร.มาขอซื้อทุกวัน แต่มาคิด ๆ
ดูไม่คุ้ม ไม่เอาดีกว่า เราขายปกติไปเรื่อย ๆ 4 ปีก็ได้ 2,000 ล้านแล้ว
ทำไมต้องทำให้ เสียชื่อ"

...ลูกสาวเขาบอกว่า แม่ ต่อไปเราอาจไม่ต้องทำอาชีพนี้ก็ได้
เราขายความคิดให้คนอื่นบ้างสิ แม่ก็รวยอยู่แล้ว เราก็ลองดู ถ้าลูกอยากลอง
เขาจึงเสนอทำธุรกิจแบบกึ่งแฟรนไชส์ไม่ต้องลงทุนสูงถึง 10 ล้านบาท
แต่เริ่มต้นที่ 5 แสนบาท ขึ้นไป เปิดเป็นเคาน์เตอร์ก็ได้
มาดูสินค้าว่าเรามีอะไร แล้วอยากขายอะไรก็เอาสินค้าของเราไปขายเป็นแบรนด์ ๆ ไป
ไม่มีกำหนด เรามีสินค้าตั้งเยอะ เงื่อนไขจะง่าย ๆ ให้ไปตั้งชื่อร้านเอง
แต่เขียนบอกว่าสินค้าที่เจ้เล้งนำเข้า

"แม้เราจะไม่ค่อยมีรายจ่าย มีแต่รายรับ แต่พี่ก็สอนลูกเสมอว่า
การจะเสียเงินถ้าไม่มีเหตุผลในการเสียก็ไม่ควรเสีย
แต่ถ้าเสียไปแล้วเกิดทำไม่ได้ก็ให้ถือว่าเป็นครูไป"

บทพิสูจน์ของแม่รวยสอนลูก...ฉบับ เจ้เล้งเคลียร์เองกำลังเริ่มต้นด้วยดี

ส่วนเจ้เล้งก็มีเวลาพักผ่อน ใช้ชีวิต
และเป็นครูพี่เลี้ยงของลูกที่คอยดูอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

โดย ณฐกร ขุนทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น