ทำไมพวกเราจึงต้องการ การนอนหลับ ?
เหตุผลที่ว่าทำไมมนุษย์จำเป็นต้องนอนหลับ ก็เพื่อให้ร่างกายคืนสมรรถภาพ โดยเฉพาะการทำงานของสมองให้เป็นไปได้อย่างปกติ ซึ่งการนอนหลับโดยปกติจะประกอบขึ้นด้วยสองระยะที่สลับกันไปมาทั้งคืนคือ REM sleep เป็นระยะที่มีการกลอกตาทั้งสองข้างไปมาอย่างรวดเร็วในขณะหลับ ส่วน Non-rapid eye หรือ Non-REM Sleep เป็นการนอนหลับในระยะที่ลูกตาสองข้างไม่กรอกไปมา โดยการนอนส่วนนี้จะแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ การนอนที่ผิดปกติ หลับไม่สนิท นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ทำให้ตื่นมาไม่สดชื่น ซึ่งเป็นลักษณะของการอดนอน
ระยะเวลาของการนอนหลับที่เราต้องการนั้นโดยทั่วไปในเด็กจะใช้เวลาในการนอนหลับมากในระยะแรกเกิด แล้วค่อยๆ ลดลงเมื่อเติบโตขึ้น แต่ในผู้ใหญ่จะใช้เวลานอน 6-8 ชั่วโมง หรือน้อยที่สุดไม่ควรน้อยกว่า 4-5 ชั่วโมง ซึ่งการนอนหลับได้อย่างเพียงพอจะใช้เวลา 8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย
้ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
ภาวะนอนไม่หลับ คือ โรคทางการนอนที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ต่อเนื่อง เป็นปัญหากวนใจหลายๆ คน และมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนแต่ไม่หลับ หรือนอนหลับสั้นๆ ก็จะตื่นมากลางดึกและไม่สามารถข่มตาให้นอนหลับอีก หรือบางครั้งไม่สามารถนอนหลับได้เลยตลอดทั้งคืน ซึ่งการจะหาสาเหตุนั้นมักมาจากการซักประวัติ ซึ่งต้องครอบคลุมทุกระบบ โดยการวินิจฉัยภาวะการนอน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้ทราบสาเหตุของโรคได้
สาเหตุของการนอนไม่หลับ อาจมาจากหลายปัจจัย
1. อาหาร เครื่องดื่ม หรือสารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน สารกระตุ้น หรือยาบางประเภท
2. สิ่งแวดล้อมขณะหลับ เช่น เตียงนอน สภาพแวดล้อมในห้องนอน นอนผิดที่ ความสว่างและเสียงรบกวน
3. การเดินทางผิดเวลา การทำงานเป็นกะ
4. ความวิตกกังวล ความเครียด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรานอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
5. โรคสมองบางอย่าง เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อม โรคไต โรคไทรอยด์ เนื้องอกในสมอง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับซึ่งทำให้ตื่นบ่อย
อาการของการนอนไม่หลับ
1. ภาวะง่วงนอนเวลากลางวัน (Excessive daytime sleepiness)
2. ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
3. อาการกรน และภาวะหยุดหายใจ
4. แขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติขณะนอนหลับ
วิธีปฏิบัติเพื่อการนอนหลับที่ดี
1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนนอน 2 ชั่วโมง
2. อย่าเข้านอนเวลาหิว
3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ผสมอยู่ ก่อนนอน 3 ชั่วโมง
4. ความเครียด ความวิตกกังวล เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรานอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ก่อนนอนควรผ่อนคลาย
5. หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน 6 หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหนักก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea)
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่เกิดจากการมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงเกิดการไหลเวียนของอากาศที่หายใจเข้าไปไม่สะดวก
อาการที่แสดงของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
1. มีเสียงกรนขณะนอนหลับ
2. ตื่นนอนแล้วมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ เจ็บคอ หรือเพลียหลังจากตื่นนอน นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
3. ง่วงนอนทั้งวัน (Daytime Sleepiness) ทั้งที่นอนหลับมาทั้งคืน ภาวะนี้จะเป็นอันตรายมากถ้าต้องขับรถอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ภาวะนอนกรน
“ ภาวะนอนกรน ไม่ได้สร้างปัญหาแค่เสียงรบกวนอันน่ารำคาญเท่านั้น แต่อันตรายจากการนอนกรน อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ”
ผลกระทบจากการนอนกรน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจบางขณะ สร้างปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันมากมาย เช่น ง่วงในเวลากลางวัน สมาธิสั้น อ่อนเพลียเรื้อรัง หงุดหงิดอารมณ์เสีย ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และผู้ที่นอนกรนยังมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดสมองแตก สมองเสื่อม โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ และส่งผลต่อความสามารถในการจดจำและการใช้ความคิดอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่กรนเสียงดังๆ ยังรบกวนคู่นอนทำให้นอนไม่หลับได้
การนอนกรนคงจะไม่เป็นอันตรายใดๆ หากไม่มีภาวะการหายใจที่ผิดปกติและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจแคบมากในเวลาหลับ เมื่อยังหลับไม่สนิทจะมีเสียงกรนที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีเสียงกรนที่ติดสะดุดไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีช่วงกรนเสียงดัง-ค่อยสลับกันเป็นช่วงๆ และจะกรนดังขึ้นเรื่อยๆ โดยมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจติดขัดเหมือนคนสำลักน้ำ และจะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง เป็นผลให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองระหว่างนั้นอาจทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้
การตรวจการนอนกรน
1. ตรวจร่างกายโดยแพทย์
แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยสาเหตุเริ่มต้นอาจพบความผิดปกติตั้งแต่จมูก โพรงจมูก หลังโพรงจมูก บริเวณเพดานอ่อน ช่องปาก ต่อมทอนซิล โคนลิ้น เป็นต้น
2. ตรวจพิเศษในท่านอน
โดยกล้องส่องตรวจหลอดลมชนิดอ่อนตัวได้ (Flexible fiberoptic laryngoscope) บริเวณโพรงหลังจมูก ตำแหน่งเพดานอ่อนและโคนลิ้น (เฉพาะคนไข้บางราย)
3. ตรวจด้วยการเอ็กซเรย์
เพื่อหาตำแหน่งที่ตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน
4. การตรวจความผิดปกติจากการนอน (Polysomnography : PSG / Sleep Lab)
เป็นการตรวจการหายใจที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ การตรวจการนอนหลับนี้ ประกอบด้วย
4.1 การตรวจวัดคลื่นสมอง
• เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และการตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ หลับได้สนิทมากน้อยแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอนดีเพียงใด ในบางคน ที่มีลมชักขณะหลับ
4.2 การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ
• เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
4.3 การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ
• เพื่อตรวจดูว่าร่างกาย มีการขาดออกซิเจนหรือไม่ในขณะหลับ แล้วหยุดหายใจหรือหายใจเบา
4.4 การตรวจวัดลมหายใจ
• ที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ ดูว่ามีการหยุดหายใจหรือไม่ เป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยหรืออันตรายเพียงใด
4.5 ตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ทรวงอก และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่ใช้ในการหายใจ
4.6 ตรวจเสียงกรน
• ดูว่ากรนจริงหรือไม่ กรนดังค่อยแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะ นอนท่าไหน
4.7 การตรวจท่านอน
• ในแต่ละท่านอนมีการกรนหรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร
นอนกรนรักษาได้
เป็นความเข้าใจผิดที่คนส่วนใหญ่คิดว่าการนอนกรนเป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ความจริงแล้วการนอนกรนเป็นเรื่องที่ควรเอาใจใส่ และเป็นโรคที่สามารถรับการรักษาได้ เบื้องต้นผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เช่น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายและกล้ามเนื้อแข็งแรง หลีกเลี่ยงการนอนหงายโดยพยายามนอนในท่าตะแคงข้างและนอนศีรษะสูงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาทก่อนนอน กรณีที่เป็นการนอนกรนชนิดอันตรายที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษา
ทางเลือกการรักษา มีอะไรบ้าง
1. วิธีไม่ผ่าตัด
การรักษาแบบ Positive Airway Pressure Therapy เป็นการใช้เครื่องพ่นอากาศ (Machine) โดยแพทย์อาจ เลือกใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ซึ่งเป็นเครื่องครอบจมูกขณะหลับ เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น วิธีนี้ปลอดภัย และได้ผลดีในผู้ป่วยเกือบทุกราย
2. วิธีผ่าตัด
แพทย์อาจรักษาโดยวิธี Somnoplasty คือ การจี้กระตุ้นใหเพดานอ่อนหดตัวลง โคนลิ้นหดตัวลง หรืออาจตัดสินใจใช้วิธีการผ่าตัดเอาส่วนที่ยืดยานออก ซึ่งการจะพิจารณาเลือกรักษาโดยวิธีใดนั้น ก็ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละกรณีไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น