3 เม.ย. 2554
โลหิตจาง...จากการขาดธาตุเหล็ก
ภาวะโลหิตจาง หรือที่มักเรียกกันว่าภาวะซีด หมายถึง การมีปริมาณของเม็ดเลือดแดงในร่างกายลดลง สาเหตุที่พบมากที่สุดเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก มักจะพบในเด็กเล็กและหญิงวัยเจริญพันธุ์ ธาตุเหล็กนั้นถือเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ส่วนใหญ่ของธาตุเหล็กจะอยู่ในเม็ดเลือดแดงซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยจับออกซิเจนและส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นการขาดธาตุเหล็กจึงทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลงได้
สาเหตุของการขาดธาตุเหล็กที่พบบ่อยมักจะเกิดจากการเสียเลือดเรื้อรังในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อาจมีการขาดธาตุเหล็กหากประจำเดือนออกมากกว่าปกติ ส่วนในเพศชายหรือหญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว มักเสียเลือดจากทางเดินอาหาร เช่น เลือดออกจากหลอดอาหาร หรือลำไส้ สาเหตุที่พบรองลงมา คือเกิดจากการได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่นที่พบในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร ในผู้ที่รับประทานมังสวิรัติเคร่งครัดหรือผู้ที่มีปัญหาด้านการดูดซึมก็อาจมีการขาดธาตุเหล็กได้ แต่พบไม่บ่อยนัก
ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กในระยะแรกอาจยังไม่มีอาการ เพราะยังมีธาตุเหล็กสะสมอยู่ เมื่อการขาดมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มมีอาการต่างๆ ซึ่งมักเป็นอาการจากภาวะโลหิตจาง เช่น เหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่น หากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นหมดสติหรือหัวใจวายได้ บางครั้งผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการอื่นๆ เช่น หงุดหงิด รู้สึกสมองล้า หลงลืมง่าย ขาดสมาธิ ในคนที่เป็นมานานๆ อาจสังเกตพบลิ้นเลี่ยนและเล็บงอผิดรูปได้ครับ
โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้จากการส่งตรวจเลือดเพื่อตรวจดูปริมาณและขนาดของเม็ดเลือดแดง ตรวจปริมาณธาตุเหล็กในร่างกาย และปริมาณธาตุเหล็กสะสม ในบางแห่งที่การตรวจเลือดทำได้ยาก ก็อาจใช้การให้ยาธาตุเหล็กไปรับประทานและตรวจติดตามว่าตอบสนองดีหรือไม่ หากตอบสนองดีก็น่าจะเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กจริง
การรักษาขึ้นกับความเร่งด่วนของอาการผู้ป่วย หากมีภาวะโลหิตจางรุนแรงมากหรือเป็นในผู้สูงอายุก็ควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้ออกซิเจน ให้เลือดทดแทน จากนั้นจึงให้ยาธาตุเหล็กทดแทนร่วมไปด้วย ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยาคือ คลื่นไส้ ท้องอืด มักเป็นไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่รับประทานยาธาตุเหล็กจะมีอุจจาระเป็นสีดำ
โดยทั่วไปการให้ยาธาตุเหล็กมักใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อให้ธาตุเหล็กถูกเก็บสะสมในร่างกายเต็มที่ ที่สำคัญคือ ต้องหาสาเหตุของการขาดธาตุเหล็กเสมอ เพื่อทำการรักษาที่ต้นเหตุด้วยครับ
ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กที่กำลังเจริญเติบโต ผู้ที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ ถึงแม้ยังไม่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ก็ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเป็นประจำ เช่น อาหารพวกเนื้อสัตว์ ตับ และเครื่องใน รวมทั้งอาหารที่เป็นกรด หรือมีวิตามินซีสูง เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว จะช่วยการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น
ที่มา ThaiHealth
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น