3 เม.ย. 2554

เล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัยจากปรสิต

ขึ้นชื่อเรื่อง “เล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัยจากปรสิต” หลายคนอาจสงสัยว่า ปรสิตคืออะไร อันตรายจริงหรือ เรามีคําตอบค่ะ

รู้จักปรสิต

ปรสิต หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเพื่อเป็นที่อาศัยและเป็นแหล่งอาหาร ในบางครั้งทําอันตรายสิ่งมีชีวิตที่ปรสิตอาศัยนั้นให้เจ็บป่วยหรือถึงแก่ชีวิต ตัวอย่างของปรสิตที่พบได้ในแหล่งน้ำ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ปรสิตที่อาศัยในลําไส้ซึ่งออกมากับอุจจาระของคนหรือสัตว์ แล้วปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ปรสิตใน กลุ่มนี้จะติดต่อสู่ร่างกายโดยการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด น้ำที่ไม่ได้ผ่านการกรองหรือน้ำที่ไม่ได้ต้มเดือด ตัวอย่างของปรสิตในกลุ่มนี้ ได้แก่ปรสิตจําพวกโปรโตซัว เช่น Cryptosporidium,Giardia, Entamoeba, Microsporidia, Isospora และปรสิตจําพวกหนอนพยาธิ เช่น ไข่ของพยาธิตืดหมู และไข่ของพยาธิไส้เดือน เป็นต้น

2. โปรโตซัวจําพวกอะมีบาที่อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติตามดิน โคลน และแหล่งน้ำ เมื่อคนได้รับเชื้อโดยบังเอิญจะก่อโรคในคนได้เชื้อในกลุ่มนี้ ได้แก่ Naegleria และ Acanthamoeba

โรคที่เกิดจากปรสิต

ปรสิตที่พบได้ในแหล่งน้ำ อาจทําให้เกิดโรคหรืออาการดังนี้

- คริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium) เป็นสาเหตุที่สําคัญของโรคอุจจาระร่วง โดยเฉพาะในผู้ป่วยเอดส์การก่อโรคในผู้ที่ภูมิคุ้มกันปกติจะทําให้เกิดอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง ส่วนในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะทําให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงและเรื้อรัง จนทําให้เสียชีวิตได้

- ไกอาร์เดีย (Giardia) ระยะที่พบในน้ำเป็นระยะซีสต์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะออกจากซีสต์ แล้วเจริญเติบโตเป็นระยะโทรโฟซอยต์ในลำไส้เล็ก ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงเป็นน้ำหรือมีไขมันปน ในผู้ที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังอาจจะเกิดภาวะขาดสารอาหารได้

- เอนทะมีบา (Entamoeba) ระยะที่พบในน้ำเป็นระยะซีสต์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะออกจากซีสต์ แล้วเจริญเติบโตเป็นระยะโทรโฟซอยต์ ทําให้เกิดแผลที่ลําไส้ใหญ่ และถ่ายอุจจาระเหลวเป็นมูกปนเลือดเก่า กลิ่นเหม็นเน่า เชื้อเอนทะมีบาอาจก่อโรคนอกลําไส้ได้ทําให้เกิดฝีบิดที่ตับ ปอด และสมอง

- ไมโครสปอริเดีย (microsporidia) ระยะสปอร์มีขนาดเล็กมาก ทําให้เกิดอาการท้องเสียเป็นน้ำ และเป็นสาเหตุสําคัญของโรคอุจจาระร่วงเรื้อรังในผู้ป่วยเอดส์

- ไอโสสปอรา (Isospora) ทําให้เกิดอาการท้องเสียเป็นน้ำ การติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะทําให้ เกิดโรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง

- ไข้ของพยาธิตืดหมู ที่ปนเปื้อนในน้ำดื่มหรืออาหารที่รับประทานเข้าไป ทําให้เกิดโรคซีสติเซอร์ โคสิส (cysticercosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตืดหมูระยะตัวอ่อน (cysticercus) ไปอยู่ตามกล้ามเนื้อและผิวหนัง พยาธิระยะตัวอ่อนอาจก่อโรคที่ตาและทําให้ตาบอดได้ส่วนการก่อโรคที่สมองทําให้เกิดอาการทางสมองและชักได้รุนแรง

- ไข้ของพยาธิไส้เดือน เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิไส้เดือนปนเปื้อน พยาธิระยะตัวอ่อนที่ออกจากไข้จะเจริญเติบโตเป็นพยาธิระยะตัวเต็มวัยอาศัยที่ ลําไส้เล็ก พยาธิไส้เดือน มักไม่ทําให้เกิดอาการ แต่ในผู้ที่มีพยาธิไส้เดือนจํานวนมากอาจทําให้เกิดภาวะลําไส้อุดตัน ภาวะขาดสารอาหาร บางคนเกิดอาการไอเนื่องจากพยาธิระยะตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด นอกจากนี้ของเสียจากพยาธิทําให้เกิดลมพิษได้

- นีเกลอเรีย (Naegleria) เป็นอะมีบาที่พบในแหล่งน้ำจืด รวมทั้งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ตามปกติเชื้อนี้อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติ คนได้รับเชื้อโดยบังเอิญโดยการสําลักน้ำทางจมูก เชื้อจะเข้าสู่โพรงจมูกแล้วผ่านเข้าสู่สมอง ทําให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ คัดจมูก สูญเสียการรับกลิ่น ปวดศีรษะอย่างมาก คอแข็ง หลังแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน ซึมลง ชัก และหมดสติ ผู้ติดเชื้อนีเกลอเรียมักเสียชีวิตหลังจากเริ่มปรากฏอาการภายใน 7 วัน

- อะแคนทะมีบา (Acanthamoeba) เป็นอะมีบาที่พบในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำทะเล และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ตามปกติเชื้อนี้อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติ คนได้รับเชื้อโดยบังเอิญ การติดเชื้ออะแคนทะมีบาที่ระบบหายใจทําให้ปอดอักเสบ การติดเชื้อทางบาดแผลทําให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ส่วนการติดเชื้อที่กระจกตาซึ่งมักพบในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ทําให้เกิดอาการระคายเคืองตา ตาแดง ปวดตาอย่างมาก ตามัว กลัวแสง ถ้าเชื้อลุกลามมากอาจทําให้ตาบอดได้ เมื่อเชื้ออะแคนทะมีบาเข้าสู่กระแสเลือดอาจก่อโรคสมองอักเสบ ซึ่งมักทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

เรียนรู้เมื่อโดนน้ำที่ไม่สะอาดสาดเข้า

ภายหลังการโดนสาดด้วยน้ำที่ไม่สะอาด ต้องอาบน้ำชําระร่างกายด้วยสบู่ให้สะอาด ถ้าน้ำไม่สะอาดเข้าดวงตา ต้องล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ถ้าน้ำเข้าบาดแผล ต้องล้างแผลโดยฟอกด้วยสบู่ หลาย ๆ ครั้งแล้วล้างน้ำให้สะอาด เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคให้มากที่สุด และทาแผลด้วยยาโพวิโดน-ไอโอดีน กรณีที่โดนน้ำที่ไม่สะอาดสาดเข้าหน้า ต้องระวังการสําลักน้ำเข้าทางปากและจมูก ถ้าน้ำที่สําลักเข้าทางปาก อาจทําให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ถ้าสําลักน้ำเข้าทางจมูกต้องสังเกตอาการ ภายใน 1 สัปดาห์ ถ้ามีไข้ คัดจมูก และปวดศีรษะจะต้องไปพบแพทย์

ความปลอดภัยในการเล่นน้ำสงกรานต์

การเล่นน้ำสงกรานต์เป็นประเพณีอันดีงามของไทย เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนานและยัง ช่วยคลายความร้อน การใช้น้ำที่ไม่สะอาดในการเล่นสงกรานต์ อาจนํามาซึ่งอันตรายที่คาดไม่ถึง ฉะนั้นควรคํานึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นด้วย ไม่ควรเล่นสาดน้ำกันอย่างรุนแรง ควรใช้น้ำประปาหรือใช้น้ำที่สะอาดเล่นสงกรานต์ ต้องระมัดระวังตนเองไม่ให้สําลักน้ำ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและปรสิตที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำ สำหรับผู้ที่มีบาดแผลที่ผิวหนัง ต้องระมัดระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ และไม่ควรปล่อยให้เสื้อผ้าที่สวมใส่เปียกน้ำเป็นเวลานาน ๆ

การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างมีวัฒนธรรม โดยคํานึงถึงความปลอดภัยและใช้น้ำที่สะอาด เพียงเท่านี้คุณก็หยิบยื่นความสุขให้แก่ผู้คนในสังคมแล้วค่ะ





ขอบคุณข้อมูลจาก
รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน
ภาควิชาปรสิตวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น: