7 พ.ค. 2554
ยาพาราฯ ถ้าไม่จำเป็น...อย่าทาน
ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกของเรานี้ ย่อมมีทั้งคุณและโทษ สิ่งใดที่มันมากเกินไปก็ย่อมไม่ดี เช่นเดียวกับยารักษาโรค แม้ว่าจะมีประโยชน์ แต่หากทานต่อเนื่องยาวนานหรือทานมากเกินไปก็จะส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ ดังเช่นยาที่เราคุ้นเคยกันดี เรียกว่ามีไว้ติดบ้าน หรือบางคนทานเป็นประจำเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ ยาลดไข้ บรรเทาปวด ที่เรียกสั้นๆว่า ยาพาราฯ หรือ พาราเซตามอลนั่นเองค่ะ
เนื่องจาก พาราเซตามอล (paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาบรรเทาอาการปวด (analgesics) ที่ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร และการแข็งตัวของเลือดเหมือนยากลุ่มเอ็นเซด (non-steroidal anti-inflammatory; NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หากใช้ในขนาดการรักษาปกติ ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้พิษสงของยานี้เท่าไหร่ นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ เป็นเหตุให้ปริมาณการใช้ยาตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ ทำให้ยาพาราเซตามอลกลายเป็นยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว หลายคนไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็ขอให้ได้ทานยาพาราไว้ก่อน ไม่ว่าจะปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เป็นหวัด ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ก็มักจะพึ่งแต่ยาพาราเซตามอล โดยที่ไม่ทันได้ไปตรวจรับการวินิจฉัยจากแพทย์ถึงโรคที่เป็นด้วยซ้ำ ก็อย่างที่บอกนะคะว่าอะไรที่มากเกินไปก็ย่อมไม่ดี การทานยาพาราเซตามอลบ่อย ๆ นาน ๆ ก็อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายได้เช่นกันค่ะ
ในหลายประเทศได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้มีการสำรวจวิจัยพบว่ามีการใช้ ยาพาราเซตามอลเกินขนาดมากขึ้นทุกปี และมีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการเกิดพิษของพาราเซตามอลจำนวนมาก จนน่าตกใจจนต้องออกมารณรงค์ให้ใช้ยาพาราเซตามอลเฉพาะเมื่อมีความจำเป็น และเผยแพร่ความรู้เรื่องพิษของยาให้ประชาชนตระหนักมากยิ่งขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ ใบปลิว เอกสารกำกับยา หรืออินเตอร์เน็ต
ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการควบคุมการใช้ยาอย่างรัดกุม ได้ศึกษาพบว่า พาราเซตามอล ยาที่คิดกันว่าไม่มีพิษมีภัยนั้น แท้จริงแล้วมีอันตรายที่ต้องพึงระวังอีกหลายอย่าง ที่พบได้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ คือเป็นพิษต่อตับ ท่านอาจแปลกใจที่ทราบว่าสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการเกิดตับวาย ไม่ใช่มาจากแอลกอฮอล์ หรือมาจากไวรัสตับอักเสบนะคะ แต่สาเหตุอันดับหนึ่งกลับมาจากยาโดยเฉพาะพาราเซตามอล จากการสำรวจพบว่าพาราเซตามอลเป็นตัวการทำให้ตับวายได้บ่อยกว่ายาแก้โรคเบาหวานที่ชื่อ เรซูลิน ที่ถูกประกาศห้ามใช้ไปแล้วด้วยซ้ำไปค่ะ สำหรับกลไกการทำลายตับของยาพาราเซตามอลนี้ พบว่ายาชนิดนี้เมื่อเราทานเข้าไป ร่างกายจะขับออกได้จะต้องผ่านขบวนการขับพิษที่ตับถึงสองขั้นตอน โดยขั้นตอนที่หนึ่งก่อให้เกิดสารผลิตผลที่เป็นพิษ (Toxic metabolite) ชื่อ NAPQI จึงต้องเข้าสู่ขั้นตอนที่สองซึ่งใช้สารกลูต้าไธโอน ทำให้สารกลูต้าไธโอนในตับลดลง หากใช้นานติดต่อกันหรือใช้เกินขนาด ก็จะทำให้ระดับสารผลิตผลที่เป็นพิษนี้เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เป็นพิษต่อตับรุนแรงในที่สุดค่ะ
ดังนั้น ทางที่ดีคุณควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็นและใช้ในขนาดการรักษาปกติ คือ ยาพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็กินแค่ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ก็เพียงพอ) และหากไม่มีอาการแล้วก็ควรหยุดกินยาทันที หรือหากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมจะดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองค่ะ อย่าลืมนะคะ ยาพาราฯ หรือยาไหนๆ ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าทานเลยค่ะ ทางที่ดีเรามาดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อจะได้ไม่เป็นโรค และจะได้ไม่ต้องทานยาดีกว่าค่ะ
ธัญญลักษณ์ เหล็กพิมาย
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น