11 มิ.ย. 2554

ทำความรู้จัก "อีโคไล" สธ.ออก 4 มาตรการ


แบคทีเรียชนิดที่มีในร่างกายมนุษย์ส่วนใหญ่จะไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย แต่สำหรับแบคทีเรียที่มีชื่อว่า อีโคไล หรือ Escherichia ซึ่งพบได้ในลำไล้ของมนุษย์และสัตว์ สามารถทำให้เกิดโรคหรืออาการต่างๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ และอาการท้องร่วง เป็นต้น แบคทีเรียชนิด อีโคไลจะมีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะในมูลสัตว์

หลังจากพบการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ระบาดในประเทศอังกฤษ จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับแบคทีเรียชนิดนี้มาให้ได้รู้จักกันเพื่อเป็นการป้องกันและรับมือหากได้รับเชื้อชนิดนี้

เชื้ออีโคไล แพร่สู่คนได้อย่างไร
เชื่อแบคทีเรียอีโคไลจะแพร่สู่คนได้จากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อชนิดนี้มักจะปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่ได้รับการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ

จำนวนผู้ได้รับเชื้ออีโคไล
หน่วยงานด้านการป้องกันโรคในประเทศอังกฤษรายงานว่าในปี 2551 มีผู้ได้รับเชื้ออีโคไลและมีอาการป่วยที่เกิดจากการได้รับเชื้อ 950 ราย

การระบาดของเชื้ออีโคไล
การแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลเริ่มขึ้นในประเทศอังกฤษและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 20 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่รับประทานอาหารขณะร่วมพิธีในโบสถ์แห่งหนึ่งในปี 2539-2540

อาการของผู้ได้รับเชื้ออีโคไล
จะพบอาการแต่เริ่มท้องร่วงเล็กน้อย จนกระทั่งเกิดภาวะลำไส้อักเสบและมีอาการเลือดออกไม่หยุด เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและพบเลือดปนกับอุจจาระ

ระยะฟักตัวของเชื้ออีโคไล
ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ประมาณ 3-8 วัน และจะปรากฏอาการในช่วง 3-4 วันหลังการได้รับเชื้อ แม้ว่าผู้ได้รับเชื้อจะสามารถนำเชื้อ ชนิดนี้ออกจากร่างกายได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่เชื้อส่วนที่หลงเหลือเพียงเล็กน้อยยังสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่นเกิดภาวะไตเสื่อม ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย

ผู้เสี่ยงได้รับเชื้ออีโคไล
เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ จะเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออีโคไลมากที่สุด เนื่องจากร่างกายของคนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อได้น้อยกว่าคนทั่วไป

การป้องกันและรักษาเมื่อได้รับเชื้ออีโคไล
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาอาการที่เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้โดยตรง ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดท้องได้ในเบื้องต้น แต่ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดกลุ่มสเตอรอยด์ เช่นยาแอสไพริน เพราะยากลุ่มนี้จะมีผลทำลายไตของผู้รับประทาน นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันการได้รับเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มบรรจุกระป๋องและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์



สธ.ออก 4 มาตรการป้องกัน

เชื้อแบคทีเรียอี-โคไล มีทั้งหมด 5 ชนิด ซึ่งชนิดที่ 5 เป็นชนิดที่มีความรุนแรงมากที่สุดที่มีการแพร่ระบาดและเป็นปัญหาที่สหภาพยุโรปขณะนี้ คือ โอ 104(O 104)และจะมีผลทำให้เม็ดเลือดแดงแตกส่งผลทำให้ไตวายด้วย การแพร่ระบาดติดต่อได้ทางอาหารและน้ำ

สำหรับในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันยังไม่เคยพบเชื้อแบคทีเรียอี-โคไล ชนิด โอ 104 แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามจากการหารือในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดมาตรการทั้งหมด 4 ข้อ คือ

1. เรื่องการป้องกันและการเฝ้าระวังซึ่งสิ่งที่จะดำเนินการถัดจากนี้จะมีการแจกเอกสารให้ความรู้ การปฏิบัติตัว สำหรับผู้ที่เดินทางจากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะ 12 ประเทศ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในสายการบินต่างๆ โดยจะมีการให้ข้อมูลเบื้องต้นประกอบกับการให้คำแนะนำ สถานที่ให้คำปรึกษา หากสงสัยตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ด่านควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขที่มีในทุกสนามบิน หากพบว่ามีอาการเช่นถ่ายเป็นเลือด และมีมูกเลือดด้วยและเดินทางมาจาก 12 ประเทศในสหภาพยุโรป ให้พบแพทย์ทันที นอกจากนั้นจะมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มทัวร์ต่างๆที่นำลูกทัวร์มาจากประเทศสหภาพยุโรป เพื่อให้ช่วยดูแลหากพบลูกทัวร์ที่มีอาการผิดปกติในลักษณะเข้าข่ายให้พาไปพบแพทย์ทันที

ส่วนประชาชนทั่วไปขอแนะนำให้ใช้มาตรการเดิม คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอี-โคไล โอ 104 ติดต่อทางอาหารและน้ำ ดังนั้นมาตรการนี้จึงมีความเหมาะสม

มาตรการที่ 2 คือเรื่องการตรวจอาหารนำเข้าจากสหภาพยุโรป ทำการสุ่มตรวจ ผัก ผลไม้ ที่นำเข้ามาจากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะใน 12 ประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเยอรมัน เพื่อตรวจหาเชื้อ โอ 104

มาตรการที่ 3 คือ เรื่องการรักษาพยาบาลจะมีการสั่งการให้โรงพยาบาลทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชนให้ใช้มาตรการเดียวกัน คือการดูแลผู้ป่วย 2 กลุ่มเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่ กลุ่มที่ถ่ายเหลว มีน้ำหรือมูกปนเลือด หรือกลุ่มที่ถ่ายเป็นมูกเลือดและมีไตวายเฉียบพลัน และมีประวัติเดินทางกลับจากสหภาพยุโรปในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มป่วย โดยให้ใช้มาตรการ 3 ข้อ คือ
1.แพทย์ต้องให้การรักษาทันทีตามอาการ ซึ่งจะมีคู่มือและมาตรการทางการแพทย์อยู่แล้ว
2.ต้องเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกราย และ
3.ต้องดำเนินการสอบสวนโรค หากพบผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในข่าย
มาตรการที่ 4 กรมควบคุมโรคจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักขณะนี้ในการติดตามเฝ้าระวังและประสานงานในการแก้ปัญหาทั้งหมดในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับเชื้ออี – โคไล ดังกล่าว

เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการปนเปื้อนทางน้ำและอาหาร ซึ่งไม่เหมือนโรคไข้หวัด 2009 ที่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจซึ่งติดต่อได้ง่าย เพราะฉะนั้นมาตรการแก้ปัญหาต้องมีความเหมาะสม หากทำมากไปจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องตอบโต้ระหว่างประเทศ หากน้อยไปประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครอง สิ่งที่พิจารณาได้ทำอย่างถ้วนถี่แล้ว โรคนี้หากเราติดตามสถานการณ์จนถึงวันนี้ เชื่อว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนเนื่องจากเริ่มหาสาเหตุต้นตอการเกิดโรคได้แล้วว่าเกิดจากอะไร

ในเรื่องการรักษาผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดแดงแตกทำให้เป็นพิษต่อไตทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน วิธีช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนถ่ายเลือด(Blood exchange)เพราะหากปล่อยไว้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต ทั้งนี้อาการของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จะมีหลายแบบ แต่แบบที่จะต้องถ่ายเลือดคือแบบไตวายเฉียบพลันร่วมกับมีอาการโลหิตจาง ถ่ายเป็นเลือด หากเป็นอาการอื่นจะรักษาตามอาการ

ไทยนำเข้าผัก ผลไม้จากยุโรปไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ เช่นอโวคาโด ราสเบอรี่ แอปเปิ้ล ส่วนผักจะเป็น บร๊อคโครี่ พลาสลี่ ไม่มาก อย่างถั่วงอกในเบื้องต้นคาดว่าไม่มีนำเข้า ซึ่งในปี 2554 ที่นำเข้าผ่านด่านท่าเรือกรุงเทพ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีเฉพาะผักผลไม้ที่นำเข้าจากสหภาพยุโรปมีเฉพาะจากประเทศ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เบลเยี่ยม เท่านั้น ส่วนประเทศเยอรมันยังไม่มีการนำเข้า โดยการตรวจจะสุ่มตัวอย่างออกมา 1 กิโลกรัมเพื่อส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์











ที่มา... Healthy.in.th / กระทรวงสาธารณสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น