3 ก.ค. 2554

คลินิกวัดสุทธาราม แห่งเดียวในประเทศไทยล้างไตประชาชนวันละ 100 ราย

วัดสุทธาราม วัดราษฎร์เล็กๆ ย่านสำเหร่ แต่ทำงานใหญ่ในนามของพระสงฆ์ทั้งประเทศ

โดยเปิดบริการล้างไต สงเคราะห์ประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์วันละ 100 ราย

ทั้งๆ ที่ผู้ที่ทำโครงการใหญ่เป็นเพียงพระธรรมดา ไม่มีชื่อโด่งดังด้านเกจิและอภินิหารแต่อย่างใด
ท่านคือ พระครูไพศาลประชาทร (ดนัย) อายุ 57 ปี เจ้าอาวาส

แต่ละวัน นับตั้งแต่เวลา 06.00 น. ประชาชนที่ป่วยโรคไตจะทยอยมาขอเข้ารับบริการล้างไตที่ตึก 7 ชั้น
ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของวัด แยกเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับเขตของพระสงฆ์ หน้าตึกเขียนว่ามูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์
ภายในอาคารมีเครื่องล้างไตให้บริการเป็นสัดส่วน มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่คอยดูแลใกล้ชิด
หากคนไข้เกิดช็อก แก้ไขไม่ได้จะจัดส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงทันที ทุกอย่างอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และของพระครูไพศาลประชาทร

พระครูไพศาลประชาทร ชื่อเดิม ดนัย นามสกุล ศิลปี อายุ 57 ปี เกิดวันที่ 27 ก.พ. 2497 ที่คลองสาน ธนบุรี
ในวัยเด็กเป็นเด็กเกเร หนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ผจญภัยแบบเด็กเหลือขอ ต้องถูกจับกุมคุมขัง
กลายเป็นศิษย์เก่าบ้านเมตตา บ้านกรุณา และบ้าน 16 ไร่ บางนา 2 ครั้งด้วยกัน โดยไม่นับที่กักขังระยะสั้น 7 วัน และ 15 วัน
ระหว่างต้องขังชีวิตพลิกผันได้รับเมตตาจากท่านประภาศน์ อวยชัย อดีตประธานศาลฎีกา และ ม.ร.ว.อดุลย์กิติ์ กิติยากร ที่ควบคุมดูแลบ้านดังกล่าว
เมื่อถูกปล่อยตัวออกมา ทั้งสองท่านขอให้บวชเณรเพื่อทดแทนบุญคุณให้ด้วย จึงไปบวชที่จิตตภาวันวิทยาลัย ชลบุรี
บวชเณรแล้วติดใจในความเป็นอยู่ ผ่านไป 2 พรรษา พ.ศ. 2517 อายุครบบวชพระ โยมแม่นำมาบวชพระที่วัดบ้านเกิด คือวัดสุทธาราม ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านเกิด
บวชแล้วอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งเป็นรักษาการเจ้าอาวาส พ.ศ. 2537 แทนเจ้าอาวาสรูปก่อนที่มรณภาพเพราะถูกฆาตกรรม ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครอยากรับตำแหน่งใดๆ ในวัด
เพราะสื่อมวลชนลงข่าวว่าเจ้าอาวาสถูกฆาตกรรมเพราะแย่งกันเป็นเจ้าอาวาส
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางตอนนั้นบอกให้ตัวท่านรับเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส เพราะไม่มีใครอีกแล้ว ส่วนการเป็นเจ้าอาวาสค่อยว่ากันอีกที

เมื่อเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส ได้จัดงานศพถวายอดีตเจ้าอาวาสอย่างสมเกียรติ เป็นเพียงพระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ แต่ศพอยู่ในพระราชานุเคราะห์ตลอด
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จมาทรงเป็นประธานพระราชทานเพลิงศพ

ท่านนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2538

ส่วนสมณศักดิ์ ปัจจุบันเป็นพระครูเทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้เคยเป็นพระครูปลัดของพระราชาคณะชั้นราชมาก่อน
ต่อมาลดชั้นเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นเทพ ลดชั้นอีกครั้งเป็นพระครูวิสารสรกิจ พระครูคู่สวด ในสมเด็จพระมหาธีราจารย์
จากนั้นจึงเป็นพระครูสัญญาบัตร

ถึงชื่อชั้นจะลด แต่หากพิจารณาฐานะของผู้ให้มีแต่สูงขึ้น

ที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือเป็นพระรูปแรกของเมืองไทยที่ได้รับการถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ
ทั้งนี้ จะเห็นว่าพระส่วนมากได้รับดุษฎีบัณฑิตด้านปรัชญา ศาสนา และภาษาศาสตร์เป็นส่วนมาก

ในการปฏิบัติศาสนกิจท่านก็ไม่บกพร่อง นำพระในวัดสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นมิได้ขาด ทำวัตรเสร็จก็อบรมพระในวัดว่าอะไรควรทำควรปฏิบัติและอะไรควรเว้น
พร้อมกับให้คติเตือนใจพระบวชใหม่ว่า บวชแล้วให้เอาบุญไปฝากพ่อแม่ นั่นคือทำดีประพฤติในธรรมวินัย ไม่นอกรีต นอกรอย
เมื่อญาติโยมได้ฟังว่าพระประพฤติดีอยู่ในศีลในวินัยก็มีปีติ ได้รับบุญกุศลมีบุญที่ได้ยินได้ฟังเรื่องดีๆ ของพระลูกชาย
แต่ถ้าพระลูกชายประพฤติชั่วนอกศีลนอกธรรม โยมพ่อ โยมแม่ทราบก็เป็นทุกข์ พระลูกชายแทนที่จะเป็นผู้นำบุญกลายเป็นผู้นำบาปไปให้พ่อแม่ เป็นบาปหนักเข้าไปอีก

นอกจากอบรมพระหลังทำวัตร ท่านจะเผยแผ่ธรรมะหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง กทม. ในเวลา 05.00-05.30 น. ทุกวัน
นอกจากพูดและอธิบายธรรมะในประเด็นต่างๆ แล้ว ท่านจะเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ของชาติ เหตุการณ์สำคัญๆ ในอดีต รวมทั้งประวัติบุคคลที่เป็นคนสำคัญของชาติไทยเพิ่มเติม
ทั้งนี้เพราะท่านชอบประวัติศาสตร์ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่กล่าวเพิ่มเติมมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจการคลินิกล้างไต ที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มที่วัดสุทธาราม ในนามมูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์

ส่วนเรื่องบริการล้างไตที่ถือว่าเป็นบริการของวัดแห่งเดียวของไทย ให้บริการฟอกไตประชาชนวันละ 100 ราย เป็นที่พึ่งของคนไข้ที่มีรายได้น้อย
จนเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป แม้กระทั่งกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อเห็นรายงานของวัดสุทธารามยังกล่าวชื่นชมว่าทำดีมาก

สมเด็จพระพุฒาจารย์ เคยมาเยี่ยมที่วัดครั้งหนึ่งก่อนจะอาพาธ ได้ให้กำลังใจว่าอย่าทิ้งงานนี้ เพราะเป็นงานที่ทำเพื่อส่งเสริมกิจการพระศาสนา
พร้อมกับบริจาคทรัพย์ซื้อเครื่องฟอกไต 1 เครื่อง ราคา 5 แสนบาท

มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ เริ่มให้บริการฟอกไตแก่ประชาชนในระยะเริ่มต้นด้วยเครื่องฟอกไต 2 เครื่อง บริการคนไข้ได้วันละ 6 คน
ปัจจุบันมีเครื่องฟอกไต 40 เครื่อง ฟอกไตให้คนไข้ได้วันละ 100 คน โดยแบ่งเป็น 3 กะ กะละ 4 ชั่วโมงต่อคน เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. ทุกวัน เว้นวันอาทิตย์

ค่าบริการสำหรับการฟอกไตแต่ละคนนั้น ทางมูลนิธิเก็บค่ารักษาพยาบาลตามอัตภาพของคนไข้ เข้ามาครั้งแรกสุดจะเก็บ 1,170 บาท เป็นการคิดจากต้นทุนแต่เป็นอัตราสูงสุด และอาจลดให้เรื่อยๆ ถ้าหากคนไข้มีปัจจัยน้อย จนกระทั่งเหลือ 100 บาท

หากไม่เก็บสตางค์เลยจะไปไม่รอด ที่เก็บอัตรานี้ยังขาดทุนเดือนละ 2.3 แสนบาท เคยขาดทุนน้อยสุดก็ 1.7 แสนบาท ตั้งแต่เปิดบริการไม่มีเดือนไหนเสมอตัว หรือมีกำไร แต่ก็พอใจที่ช่วยเหลือประชาชนได้ระดับหนึ่ง

ท่านพูดด้วยความภูมิใจว่า งานนี้อาตมามิได้ถือว่าเป็นงานของอาตมา มิได้เป็นงานของวัด และมิได้เป็นงานของมูลนิธิ แต่ถือว่าเป็นงานของคณะสงฆ์ เป็นงานที่คณะสงฆ์หยิบยื่นให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับทุกข์ทรมานน้อยที่สุด เท่าที่จะน้อยได้

ส่วนมูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ ก่อตั้ง พ.ศ. 2521 มิได้มีห้องล้างไตเพียงอย่างเดียว ได้ทำงานด้านบริการหลายอย่าง เช่น ตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มเพื่อสาธารณกุศล เช่น งานประชุมสงฆ์ที่วัดสามพระยา หรือกรณีเกิดอุบัติภัยต่างๆ

ในส่วนการศึกษา มูลนิธิมีทุนให้เด็กที่ด้อยโอกาส ขาดทุนทรัพย์ได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันผู้ได้รับทุนจบปริญญาตรี และจบปริญญาโทก็มี ที่เด่นที่สุดคือมีนายแพทย์ที่มูลนิธิส่งให้เรียนจนจบมี 2 ท่าน เป็นผู้พิพากษาก็มี นอกจากนั้นก็เป็นครูเป็นอาจารย์ กระจายไปเกือบทุกสาขาอาชีพ ถือว่ามูลนิธิช่วยสนับสนุนให้คนเหล่านี้ไปสร้างสรรค์ให้แก่ส่วนรวม

นอกจากมูลนิธิที่ช่วยเหลือประชาชนแล้ว ท่านยังเป็นห่วงการศึกษาของเยาวชนย่านคลองสาน ที่ไม่มีโรงเรียนสอนถึงระดับชั้นมัธยม 4-5-6 ท่านพยายามให้เกิดโรงเรียนมา 20 ปี จนกระทั่ง กทม. เห็นด้วย โรงเรียนจึงเกิด โดยใช้เวลาก่อสร้างเพียง 1 ปี 6 เดือน เพิ่งเปิดเรียนมาไม่นาน จึงพูดได้ว่า ทั่ว กทม.มีวัดสุทธารามเท่านั้นที่มีโรงเรียนอนุบาลถึงมัธยมปลาย หลังจากที่ทั้งเขตไม่มีโรงเรียนสอบมัธยมปลาย

ท่านพระครูกล่าวตอนท้ายเป็นคติว่า เราได้ตั้งปณิธานในการทำงานนี้ว่า ไม่ได้ทำเพื่อลาภสักการะ จึงไม่กลัวยากจน ไม่ได้ทำเพื่อความเป็นใหญ่ จึงไม่กลัวตกต่ำ ไม่ได้ทำเพื่อการยกย่องสรรเสริญ จึงไม่กลัวครหานินทา ไม่ทำเพื่อโลกียสุข สุขส่วนตัว จึงไม่กลัวทุกข์ยาก แต่เราทำเพื่ออนาคตสดใสของลูกหลาน



การบริจาคโดยตรงกับทางวัด

ส่งธนาณัติหรือตั๋วแลกเงิน ส่งที่ มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ วัดสุทธาราม สำเหร่ กรุงเทพฯ 10600 สั่งจ่าย ป.ณ.สำเหร่ ในนามของมูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์
โอนเงินเข้าบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสำเหร่ ชื่อบัญชี “มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์” เลขที่ 113-1-16081-3 เมื่อโอนเงินแล้วกรุณาเขียนชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของท่านพร้อมทั้งแนบใบฝากเงิน ส่งมายังโทรสารเลขที่ 02-437 9678 เพื่อออกใบอนุโมทนาบัตร
หรือ บริจาคที่วัดด้วยตัวเอง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-438 4575


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก ...
โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : คลินิกวัดสุทธาราม แห่งเดียวในประเทศไทยล้างไตประชาชนวันละ 100 ราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น