รีดเดอร์ส ไดเจสท์ติดต่อสอบถามไปยังแพทย์และนักวิจัยชั้นนำทั่วโลกเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข่าวใหม่ด้านการแพทย์ที่น่าสนใจตลอดรอบปีที่ผ่านมา มีการค้นพบอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดไหม มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆอะไรที่มีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาหรือไม่ คำตอบที่เราได้รับก็คือความตื่นเต้นและแรงบันดาลใจใหม่ เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาโรคและอาจช่วยชีวิตคุณไว้ได้
หัวใจที่เติมพลังได้ใหม่
แอลเจโล ทิกาโน วัย 50 ปี เป็นชาวออสเตรเลียรายแรกที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเทียมชนิดเต็มรูปแบบ (Total Artificial Heart implant) เขากลายเป็นความหวังใหม่ให้กับผู้ป่วยอีก 86 รายที่กำลังรอคอยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอยู่ในขณะนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ทิกาโนจากเขตแฟร์ฟิลด์ในซิดนีย์ได้รับการผ่าตัดหัวใจเก่าออกและใส่หัวใจเทียมเพื่อให้สูบฉีดเลือดแทนหัวใจห้องขวาล่างและซ้ายล่าง หัวใจเทียมรุ่นนี้สามารถสูบฉีดเลือดได้มากถึง 9.5 ลิตรต่อนาที ก่อนผ่าตัด ทิกาโนเดินได้เพียงไม่กี่ก้าวก็ต้องหยุดพักหายใจหอบ และท้ายที่สุดเขาเหนื่อยมากกระทั่งกินและนอนไม่ได้ นายแพทย์พอล แจนซ์ ศัลยแพทย์หัวใจจากโรงพยาบาลเซนต์ท์วินเซนต์ในซิดนีย์ กล่าวว่า “เขาจำเป็นต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทันที ไม่อย่างนั้นอาจอยู่รอดอีกไม่ถึงสองสัปดาห์”
“หัวใจเทียมรุ่นนี้ใช้ได้ผลดีมากและช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยหลายคนที่อยู่ระหว่างพิจารณาการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ” หมอแจนซ์กล่าว เขาวางแผนจะผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเทียมให้กับผู้ป่วยปีละห้าราย “หัวใจเทียมรุ่นนี้มีขนาดเล็กลงจึงสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยรูปร่างเล็ก และยังใช้ลิ้นหัวใจรุ่นใหม่ซึ่งไม่มีปัญหาลิ่มเลือดเกาะผิว ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องกินยาละลายลิ่มเลือดหลังผ่าตัด”
หัวใจเทียมชนิดเต็มรูปแบบไม่ใช่อุปกรณ์ใหม่แต่อย่างใด ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป มีผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเทียมไปแล้วกว่า 900 ราย ที่บังคาลอร์ ผู้ป่วยชาวอินเดียวัย 54 ปีซึ่งมีโรคเบาหวานร่วมด้วย เป็นผู้ป่วยชาวเอเชียรายแรกที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเทียม แพทย์ผ่าตัดใส่อุปกรณ์สูบฉีดเลือดทดแทนหัวใจห้องล่างซ้ายให้กับเขาเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ที่สิงคโปร์ แพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเทียมลักษณะคล้ายคลึงกันชื่อฮาร์ตเมตทูให้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว การผ่าตัดวิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นระหว่างรอเปลี่ยนหัวใจ
แต่ก่อนเครื่องหัวใจเทียมรุ่นเดิมเป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่อยู่ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงต้องนอนโรงพยาบาลและไม่สามารถอยู่ห่างจากเครื่องมือได้เลย หัวใจเทียมรุ่นใหม่มีขนาดเล็กมาก น้ำหนักเพียงหกกิโลกรัม ทำงานด้วยไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ผู้ป่วยจึงสามารถเดินไปมาได้ หัวใจใหม่พร้อมแบตเตอรี่สำรองพลังงานมอบชีวิตใหม่ให้แก่ทิกาโนและผู้ป่วยอีกสองรายที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด “ผมรู้สึกสบายดีและยังกลับไปทำกิจกรรมโปรดสองอย่างได้อีก นั่นคือทำสวนและทำอาหารให้ครอบครัว” ทิกาโนกล่าว ตอนนี้เขาอยู่ระหว่างรอรับบริจาคหัวใจใหม่
สถานะ: หัวใจเทียมชนิดเต็มรูปแบบมีใช้แล้วในขณะนี้
แมลงสาบช่วยชีวิตเราได้หรือ
ได้สิ คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมในอังกฤษยืนยันว่า สมองของแมลงสาบและตั๊กแตนมีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะประสิทธิภาพสูง สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในมนุษย์ได้มากกว่าร้อยละ 90 รวมถึงเชื้อสแตฟโลค็อกคัส ออเรียส สายพันธุ์ดื้อยาเมทิซิลลิน และเชื้ออี โคไลชนิดก่อโรค โดยไม่ทำอันตรายเซลล์ปกติของมนุษย์
การค้นพบครั้งนี้นำเสนอในที่ประชุมของสมาคมจุลชีววิทยาในเมืองนอตทิงแฮมเมื่อปี 2553 ในอนาคตอาจพัฒนาไปสู่แนวทางใหม่สำหรับรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียประเภทดื้อยาหลายชนิด
สถานะ: ออกสู่ตลาดได้ภายใน 5-10 ปี
ยาป้องกันเลือดแข็งตัวชนิดใหม่
ปัจจุบันมีผู้คนในแถบเอเชียแปซิฟิกป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นรัวเพิ่มมากขึ้น เฉพาะจีนประเทศเดียวมีผู้ป่วยโรคนี้ถึงแปดล้านคน สำหรับชาวออสเตรเลียพบโรคนี้ประมาณร้อยละหนึ่ง ยาป้องกันเลือดแข็งตัววาร์ฟารินมีทั้งประโยชน์ในการช่วยชีวิตและมีข้อเสียด้วย ประโยชน์คือช่วยป้องกันลิ่มเลือดอุดตันเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่น่ากลัวที่สุดของโรคหัวใจเต้นรัวคือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันและอาจมีอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องกินยาป้องกันเลือดแข็งตัววาร์ฟาริน ซึ่งมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าว แต่ยามีข้อเสียตรงที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจเลือดเป็นประจำเพื่อประกอบการปรับขนาดยาให้เหมาะสม บางรายจำเป็นต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไปจนกว่าระดับในเลือดจะลดต่ำลง ยาดาบิกาแทรนเป็นยาชนิดใหม่ เมื่อใช้ขนาดสูงจะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเหนือกว่าวาร์ฟาริน หากใช้ขนาดต่ำจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า
สถานะ: อาจมีใช้ในออสเตรเลียอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น