23 ส.ค. 2554

จะมีประโยชน์อะไรถ้า IQ และ EQ สูง แต่ HQ ต่ำ


เรารู้จัก IQ (Intelligence Quotient) หรือความฉลาดทางสติปัญญาแล้ว ซึ่งการวัด IQ เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในหลายๆคณะ รวมถึงคัดเลือกพนักงานในหลายๆบริษัท และเราเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า EQ (Emotional Quotient) คือความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวัดความสามารถในการดำรงชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น ทั้งIQ และ EQ สองสิ่งมีความสำคัญในฐานะเครื่องชี้วัดความสามารถในเรื่องศักยภาพการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่น แต่คงเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยหากเรารู้จักใครสักคนหนึ่งที่ฉลาดล้ำเป็นที่พึ่งได้ในยามมีปัญหา รับผิดชอบ ทำงานหนัก และมีมนุษย์สัมพันธ์สูงแต่..เขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจตั้งแต่อายุสามสิบต้นๆ หากเราจะตัดสินว่านั่นเป็นชะตากรรมที่ถูกกำหนดมาแล้ว ก็ดูเหมือนว่าเราจะไม่กระตือรือร้นที่จะรั้งให้ผู้คนอันเป็นที่รักเหล่านี้มีชีวิตอยู่ต่อไปให้ยาวนาน เพื่อสร้างสิ่งที่ดีแก่สังคมจาก IQ และ EQ ที่เขามีอยู่สิ่งที่เข้ามาเติมเต็มในเรื่องนี้คือ HQ (Health Quotient)

HQ (Health Quotient) คือเชาว์สุขภาพ หรือ ความฉลาดทางสุขภาพ หมายถึงความรู้ ความสามารถ และความตระหนัก ในการเลือกสิ่งที่ดีให้กับสุขภาพ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องของวิถีชีวิต รูปแบบในการใช้ชีวิต(life style) เช่น การเลือกอาหาร การเลือกกิจกรรม ความพอดีระหว่างการทำงานและการใช้เวลาว่างการเลือกสถานที่ท่องเที่ยว งานอดิเรก เป็นต้น

องค์ประกอบของเชาว์สุขภาพ มี 9 ประการ คือ

1.การสร้างความสมบูรณ์พร้อมทางร่างกาย (Health related fitness) ก็คือการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายกล้ามเนื้อ และหัวใจ ซึ่งแสดงออกในเรื่องความสามารถในการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆ ความยืดหยุ่นและความทนทานของกล้ามเนื้อ ซึ่งกิจกรรมที่เสริมสร้างร่างกายก็คือการออกกำลังกาย

2. โภชนาการ (Nutrition) ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้และความสามารถในการเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสุขภาพของตน รวมถึงการลดและเลิกพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ

3. การหลีกเลี่ยงสารเคมีและสารเสพติด (Avoiding chemical dependency) ซึ่งก็คือการตัดสินใจและการแสดงออกที่เป็นการปฏิเสธสารเสพติด รวมทั้งการหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะไปเสพสารเสพติด หรือสารเคมีต่างๆ ซึ่งในผู้ที่มีความสามารถในระดับสูงในด้านนี้ ยังสามารถเป็นผู้ที่สามารถชักนำเพื่อนฝูงให้ห่างไกลจากสารเสพติด

4. สุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal hygiene) คือการดูแลสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน เช่น การแปรงฟันอย่างถูกวิธีการล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การล้างมือก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ การทำความสะอาดร่างกาย การดูแลเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนอน เป็นต้น

5. การป้องกันโรค (Disease prevention) เช่นความตระหนักและการปฏิบัติ ในเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีตามอายุและความเสี่ยงตามวัย หรือความเสี่ยงตามอาชีพ การฉีดวัคซีน การใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากโรคต่างๆเป็นต้น

6. ความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal safety) เช่น ความตระหนักในเรื่องการใช้หมวกกันน็อคหรือหมวกนิรภัย การใช้เข็มขัดนิรภัย การปฏิบัติการกฎความปลอดภัยในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ไม่ก้าวล้ำเส้นขณะยืนรอรถไฟฟ้า การไม่ลงจากเครื่องเล่นในสวนสนุกหากยังไม่หยุดสนิท ฯลฯ

7. อนามัยสิ่งแวดล้อม (Environmental health and protection) ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพดีประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมทางด้านวัตถุ และทางด้านสังคม ด้านวัตถุ เช่น การอยู่ในชุมชน แหล่งที่อยู่อาศัยที่ดี การรักษาความสะอาดของครัวเรือน การทำกิจกรรม 5ส ในสถานประกอบการ ส่วนสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น การเลือกคบเพื่อน การเลือกทำกิจกรรม การเลือกรับสื่อและข้อมูลข่าวสาร

8. การจัดการความเครียด (Stress Management) คือความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่คับขันต่างๆ ซึ่งหากตอบสนองได้ดี สิ่งเร้าเหล่านั้นจะเป็นสิ่งผลักดันให้เราสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากการตัดสินใจและการตอบสนองไม่ดีอาจกลายเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต คนที่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆได้ดี ควรจะต้องมีบุคลิกที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ การมองโลกในแง่ดี

9. ความสุขทางอารมณ์ (Emotional well being) แม้ว่าความสุขทางอารมณ์จะมีการตรวจวัดได้ยาก แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามวัดออกมาในรูปของดัชนีความสุข ซึ่งความสุขทางอารมณ์อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในตนเอง และระดับทางศีลธรรม ดังนั้นการมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทั้งในรูป ศาสนาหรือปรัชญา หรือแม้กระทั่งกลุ่มกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ

การมีความรู้ การตระหนักรู้ และความสามารถในการปฏิบัติทั้ง 9 องค์ประกอบ มีผลต่อภาวะของสุขภาพของคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าขอบเขตและความหมายของสุขภาพ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องจิตใจ(mind) สังคม(social) และจิตวิญญาณ(Spiritual)หรือที่เรียกกันว่าระดับพุทธิปัญญา แม้ว่าในประเทศไทยการวัด HQ ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่เชื่อว่าในอนาคตเมื่อเราตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี การตรวจวัด HQ จะมีประโยชน์ไม่น้อยในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์และสังคม

คงจะดีไม่น้อย ถ้าในสังคมของเรา มีคนที่ IQ EQ และ HQ สูงอย่างสมดุล เพื่อที่คนเก่งและคนดี จะมีชีวิตยืนยาว สร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างเต็มที่ มาร่วมกันสร้างสังคมที่ดี ส่งเสริมจิตใจที่ดี เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนในสังคมร่วมกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น