15 ธ.ค. 2554

พิชิตสารพัดเชื้อโรคหลังน้ำลด

น้ำท่วม พัดพาเชื้อโรคหลากหลายชนิดที่ปกติไม่ได้อยู่ในบ้าน หรือทำให้เชื้อโรคบางชนิดที่มีอยู่แล้วเจริญเติบโตมากขึ้น

สารเคมีที่เคยนอนนิ่งอยู่ในซอกตู้ ใต้พื้นก็ลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ และเป็นคราบติดกระจายเป็นบริเวณกว้างหลังน้ำลด สัตว์มีพิษชนิดต่าง ๆ ก็ย้ายที่อาศัยจากนอกบ้านมาอยู่ตามซอกตู้ ใต้พื้น ใต้บันได้ของบ้านของเราแทน เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่มาจากเชื้อโรค, สารเคมี และสัตว์มีพิษ เมื่อน้ำลด เราคงต้องยอมเสียเวลาทำความสะอาด สำรวจตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนในบ้านกลับมามีบ้านที่อบอุ่น, ปลอดภัยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีคุณตา คุณยาย และเด็กเล็กอยู่ในบ้านควรยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ บ้านสะอาดและแห้ง ยังไม่พอ นพ.อิทธิชัย วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป รพ.กล้วยน้ำไท (แผนกผู้สูงอายุ) กล่าวว่า œผู้สูงอายุและเด็กเล็กต้องเผชิญความเครียดจากสภาพน้ำท่วมขังหรือย้ายบ้านอยู่แล้ว เมื่อต้องกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค สารพิษ และสัตว์มีพิษจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และพร้อมจะเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย ความเครียด ทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล และ DHEA ที่หลั่งจากต่อมอาดรีนัลเสียสมดุลและมีส่วนทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันลดต่ำลง เสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าปกติ คุณณัฐนันท์ ปัญญาโกศา นักสุขศึกษา กล่าวว่า สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้อย่างง่ายๆ คือ ก่อนย้ายกลับเข้าไปในบ้าน เราควรสำรวจสิ่งต่างๆ ให้ทั่ว ก่อนจะเดินเข้าไปในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรสับคัตเอาท์ในบ้านลงก่อนที่จะเดินเข้าไปในบริเวณบ้านที่มีน้ำท่วมขังเพื่อป้องกันไฟดูด ควรเปิดประตู หน้าต่างให้รับแสงแดดจัดๆ หลายๆ วันเพื่อฆ่าเชื้อ และให้ลมโกรก เพื่อระบายอากาศและความอับชื้น รวมทั้งเก็บกวาดกิ่งไม้ ทำความสะอาดตะกอน และคราบต่างๆ ที่มากับน้ำ โดยไล่ทำความสะอาดส่วนอื่นๆ อย่างละเอียด และควรนำผ้าที่อยู่ในที่อับมาซัก, ตากแดดจัดเพื่อฆ่าเชื้อ รวมทั้งต้องดูแลร่างกายทุกคนในบ้านให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่สุก และน้ำดื่มที่สะอาด หลังน้ำลดอาจเสี่ยงต่อการมีเชื้อโรค, สารพิษ และสัตว์มีพิษ เชื้อโรค หลังน้ำลด ปัญหาของเชื้อรามักมาเป็นอันดับแรก โดยเราสามารถได้รับเชื้อจากการสัมผัส เชื้อราที่อยู่บนผนังที่อาจมีคราบเปียกชื้น, ใต้ตู้ที่อับชื้น, ผ้าม่าน, ในท่อแอร์, ด้านหลังวอลล์เปเปอร์, ในฉนวนกันความร้อนชนิดเส้นใย ใต้พื้นพรมที่ด้านบนอาจจะดูแห้ง, เสื้อผ้า และชุดชั้นในที่อยู่ในตู้เสื้อผ้าที่อับ เชื้อรามีหลายชนิด แต่ละชนิดทำให้เกิดโรคต่างกันไป ตัวที่ควรต้องระวังคือเชื้อราเดอร์มาโตไฟต์ซึ่งทำให้เกิดกลาก, เชื้อ Pityrosporum Ocbiculare และเชื้อMalassezia Furfur ก่อให้เกิดโรคเกลื้อน, เชื้อ Tinea Nigra ทำให้เกิดโรคด่างดำ และเชื้อCandida ที่เป็นสาเหตุของโรคเชื้อราในช่องคลอด วิธีกำจัดเชื้อรา 1. ทิ้ง ถ้าเป็นของไม่มีค่าควรนำไปทิ้ง 2. ทำให้แห้งก่อนฆ่าเชื้อพรม ผนัง วอลล์เปเปอร์ เสื่อน้ำมัน พื้นไม้ กระเบื้องยาง สำรวจดูข้างใต้ว่าเปียกหรือไม่ ถ้าเปียกให้ทำให้แห้ง อาจใช้พัดลมเป่า หรือใช้เครื่องดูดน้ำออก เปิดห้องให้อากาศถ่ายเท และเพื่อลดความชื้นของห้อง 3. เปลี่ยนใหม่ เช่น ฝ้า, ฉนวนหุ้มท่อแอร์ 4. ถอดซัก และตากแดดจัดๆ จนกว่าจะแห้งสนิท เช่น ผ้าม่าน, ผ้าปูที่นอน, ผ้าห่ม ฯลฯ ถอดออกไปซักและตากแดดจัดๆ ให้แห้งสนิท 5. เปิดขึ้นไปดูและทำให้แห้งก่อนฆ่าเชื้อ เช่น เส้นใยลดความร้อนที่อยู่ในฝ้าควรเจาะขึ้นไปดู ถ้าพบเชื้อราให้กำจัดส่วนที่มีเชื้อราทิ้ง ส่วนที่ไม่พบเชื้อราให้ทำให้แห้งแล้วใส่น้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณใกล้เคียง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อเลปโตสไปร่าที่ก่อให้เกิดโรคฉี่หนู โรคนี้มาได้จากทั้งหนูและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มักจะพบในบริเวณที่น้ำท่วมขัง หรือบริเวณที่ชื้นแฉะ เกิดจากการที่สัตว์ เช่น หนู, สุนัข, แมว, วัว ฯลฯ ปัสสาวะลงในน้ำหรือดิน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีบาดแผลเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และยังเข้าสู่ร่างกายได้ทาง หู จมูก และปาก เชื้อจะสามารถอยู่ในธรรมชาติได้นานถึง30-45 วัน วิธีทำความสะอาด กำจัดบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือชื้นแฉะโดยการทำให้แห้ง แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร เช่น อหิวาตกโรค, โรคบิด, โรคไทฟอยด์ สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการกำจัดบริเวณขยะสด และบริเวณที่แมลงวันชอบ ทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณที่คาดว่า อาจจะมีอุจจาระปนเปื้อน เชื้อปรสิต เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน ยุง ฯลฯ วิธีทำความสะอาด ทำความสะอาดคราบดิน ทรายต่างๆ ที่อาจมีไข่พยาธิติดมา และถ้ามีเด็กเล็กควรให้ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และระวังไม่ให้เด็กเอามือเข้าปากหลังจากคลานบนพื้น รวมทั้งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สารพิษ สำหรับสารพิษในบ้านที่อาจยังหลงเหลืออยู่บนพื้นบ้านหลังน้ำท่วม สามารถทำความสะอาดได้โดย 1. ยาฆ่าหนูชนิดก้อน ถ้าซึมเข้าผิวหนังอาจส่งผลต่อระบบประสาททำให้เกิดอาการงุนงง อาเจียน ควรรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ 2. ยาฆ่าปลวก ถ้าซึมเข้าผิวหนังอาจทำให้เป็นผื่นแดง ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการ วิธีทำความสะอาด ควรใช้น้ำเปล่าล้างให้สะอาด ถ้าใช้น้ำยาสารเคมีในน้ำยาอาจทำปฏิกิริยากับสารที่ตกค้างได้ สัตว์มีพิษ 1. งู มีงูหลายชนิดที่อาจเข้ามาอาศัยในบ้านเราได้เนื่องจากงูชอบที่แห้ง เช่น งูเหลือม งูเห่า งูจงอาง งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ ฯลฯ โดยปกติแล้วเมื่อเราย้ายเข้ากลับเข้ามาในบ้าน ถ้าไม่มีอาหาร และมีคนอยู่ในบ้านเกิดเสียง งูมักจะย้ายออกไปเองเพราะงูชอบอยู่ในที่เงียบ วิธีกำจัดคือ หลีกเลี่ยงการมีพื้นที่รกไม่ได้ใช้งานในบ้าน และไม่ให้มีหนูในบ้าน เพราะหนูเป็นอาหารของงู 2. ตะขาบ มีวิธีกำจัดโดยกำจัดบริเวณที่รกและแดดส่องไม่ถึง 3. ยุงมีวิธีกำจัดได้โดย กำจัดแหล่งน้ำที่นิ่งขังอยู่ในบ้าน 4. แมงป่อง สามารถกำจัดได้ด้วยวิธี กำจัดเศษใบไม้ใบหญ้าที่กองสุมอยู่รอบบ้านออก เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของแมงป่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าน้ำท่วมจะทิ้งความเสียหายไว้มากมาย แต่ทุกคนทุกครอบครัวก็ไม่ควรท้อแท้หรือสิ้นหวังไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควรคิดในแง่บวกและให้กำลังใจกันโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ท่านอาจยังรู้สึกสูญเสียที่เห็นบ้านที่อยู่มานานต้องเสียหาย ลูกหลานและคนใกล้ชิดควรช่วยกันดูแลและวางแผนช่วยกันทำความสะอาด กำจัดสัตว์พิษและสิ่งสกปรกอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเหมือนเดิม ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น